กระทรวงสาธารณสุขเตือนอันตรายจากการรับประทานอาหารไหว้เจ้าตามประเพณีจีน

15 Aug 2000

กรุงเทพฯ--15 ส.ค.--กระทรวงสาธารณสุข

กระทรวงสาธารณสุขเตือนนำอาหารไหว้เจ้าวันสารทจีน มารับประทานต้องทำให้สุกอีกครั้ง อาหารเนื้อสัตว์ต้มให้เดือดอย่างน้อย 10 นาที ส่วนขนมหวาน ทั้งขนมเข่ง ขนมเทียน ต้องทำให้สุกอีกครั้ง โดยเฉพาะขนมเข่งถ้ามีจุด เป็นเชื้อราต้องทิ้งทันที เพราะเสี่ยงต่อการป่วย ด้วยโรคทางเดินอาหาร ทั้งนี้ ปีที่แล้วมีผู้ป่วยโรคทางเดินอาหาร 1.3 ล้านคน สูญเสียเงินรักษา 2,000 ล้านบาท

น.พ.ลือชา วนรัตน์ โฆษกกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า ช่วงวันสารทจีน พี่น้อง ชาวไทยเชื้อสายจีน นำอาหารคาว หวานมาไหว้เจ้าตามประเพณีจีน ส่วนใหญ่เป็นเนื้อสัตว์ที่ต้มแล้ว ขนมหวานผลไม้สด หลังจากประกอบพิธีแล้วมักนำอาหารเหล่านั้นมาบริโภค สำหรับอาหารประเภทเนื้อสัตว์ควรนำมาต้มหรืออุ่นให้สุกอีกครั้ง เพราะสภาพอากาศของประเทศไทยเหมาะกับการเจริญเติบโตของเชื้อโรค หากเนื้อสัตว์ ที่ไหว้เจ้าแล้วมีกลิ่นเหม็นเปรี้ยว เหม็นอับลม ต้องทำให้สุกโดยต้มในน้ำเดือดจัดประมาณ 10 นาที จึงนำมา รับประทานหรืออาจนำมาถนอมอาหารด้วยวิธีอื่น เช่น รวนเป็นไก่เค็ม เป็ดเค็ม ให้มีรสเค็มมากขึ้น เก็บไว้ ในตู้เย็นจะรับประทานได้นานขึ้น เมื่อจะรับประทานก็ทำให้ร้อนอีกครั้ง หรือนำมาปรุงเป็นพะโล้ก็ได้

ส่วนขนมหวาน เช่น ขนมเข่ง สาลี่ ขนมเทียน ต้องเก็บในตู้เย็น เมื่อจะรับประทานจึงนำมาอุ่น ส่วนขนมเข่ง ระวังเชื้อรา หากเป็นจุดต้องทิ้ง อย่าเสียดาย เพราะสารท๊อกซินจากเชื้อราทำให้เกิดการเจ็บป่วยได้

น.พ.ลือชา กล่าวว่า “รับประทานอาหารไม่สะอาดจะท้องเสียหรืออาหารเป็นพิษได้ คือ ถ้าอาหารเป็นพิษจะเป็น อย่างรวดเร็ว เกิดภายใน 2-3 ชั่วโมงหลังกินอาหารหรือไม่เกิน 6 ชั่วโมง บางครั้งเกิดกับคนหมู่มาก เช่น กลุ่มนักเรียน คนงานที่มีคนมาก ๆ ถ้าท้องเสียธรรมดาจะเกิดส่วนบุคคล แล้วแต่จะได้รับเชื้อชนิดใดมาบางชนิดเชื้อฟักตัว 48 ชั่วโมง หรือ 24 ชั่วโมง จึงแสดงอาการ” ก่อนรับประทานอาหาร ทุกชนิดต้องคำนึงถึงความสด สะอาด อาหารที่ต้องรับประทานสด พวกผักสด ผลไม้ต้องล้าง เนื้อสัตว์ ต้องทำให้สุกจริง ๆ ไม่ใช่บีบมะนาวแล้วสีเนื้อเปลี่ยนไปก็นึกว่าสุกแล้ว ควรชงผงน้ำตาลเกลือแร่ดื่ม ป้องกัน การขาดน้ำ หากอาการไม่ทุเลาต้องพบแพทย์ เพราะการขาดน้ำและเกลือแร่จากการท้องร่วม ท้องเสีย ก่อให้เกิดภาวะช็อกได้ ในปีที่ผ่านมา กระทรวงสาธารณสุขมีรายงานผู้ป่วยจากโรคทางเดินอาหาร ประมาณ 1.3 ล้านคน หรือประมาณร้อยละ 2 ของประชากร ต้องสูญเสียค่ารักษาพยาบาลมูลค่าประมาณ 2,000 ล้านบาท--จบ--

-นศ-