กรุงเทพฯ--28 ส.ค.--กระทรวงแรงงานฯ
กระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม จัดสัมมนาการเสนอร่างรายงานการศึกษากฎหมายด้านประกันการว่างงาน เพื่อศึกษาความเกี่ยวพันของการจ่ายค่าชดเชย กับการจ่ายประโยชน์ ทดแทนกรณีว่างงาน และเพื่อเสนอแนวทางปฏิบัติที่เหมาะสมสำหรับเมืองไทยในการดำเนินงานด้านการจ่ายค่าชดเชย และการประกันการว่างงาน
กระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม จัดสัมมนาการเสนอร่างรายงานการศึกษากฎหมายด้านประกันการว่างงาน เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2545 เพื่อศึกษาความเกี่ยวพันของการจ่ายค่าชดเชย กับการจ่ายประโยชน์ ทดแทนกรณีว่างงาน และเพื่อเสนอแนวทางปฏิบัติที่เหมาะสมสำหรับเมืองไทยในการดำเนินงานด้านการจ่ายค่าชดเชย และการประกันการว่างงาน รวมทั้งเพื่อเปรียบเทียบ จุดอ่อน จุดแข็ง ของกฎหมายทั้งสอง นายกิรศักดิ์ จันทรจรัสวัฒน์ รองปลัดกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2545 กระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคมได้จัดสัมมนาการเสนอร่างรายงานการศึกษากฎหมายด้านประกันการว่างงาน เพื่อเสนอแนวทางปฏิบัติที่เหมาะสมสำหรับเมืองไทยในการดำเนินงานด้านการจ่ายค่าชดเชย และการประกันการว่างงาน ในอนาคต เนื่องจากกฎหมายดังกล่าวมีความเกี่ยวเนื่องกัน และมีจุดอ่อน จุดแข็ง ที่ต่างกัน จึงต้องทำการศึกษาเพื่อหาข้อสรุปในการดำเนินงานในอนาคต โดยมีหน่วยงานต่างๆร่วมศึกษาและให้ข้อเสนอแนะ เช่น องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) มูลนิธิสถาบันวิจัยเพื่อพัฒนาประเทศไทย (TDRI) สภาองค์การนายจ้าง ผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย เป็นต้น ซึ่งคณะที่ปรึกษาศึกษากฎหมายด้านประกันการว่างงาน นำโดย นายรังสฤษฎ์ จันทรัตน์ ได้สรุปข้อเสนอแนะไว้ดังนี้ ประเด็นที่ 1 ควรยกเลิกกฎหมายค่าชดเชย เมื่อมีการประกาศใช้กฎหมายประกันการว่างงาน ประเด็นที่ 2 ควรปรับลดอัตราค่าชดเชยลง เมื่อมีการประกาศใช้กฎหมายประกันการว่างงาน ประเด็นที่ 3 ใช้ทั้งกฎหมายค่าชดเชยและกฎหมายประกันการว่างงานควบคู่กันไปโดยไม่มีการแก้ไข ประเด็นที่ 4 ปรับแก้สิทธิประโยชน์กรณีว่างงานเพื่อทดแทนค่าชดเชยที่ลดลง ซึ่งคณะที่ปรึกษาได้เสนอความเห็นว่า ประเด็นที่ 2 ควรปรับลดอัตราค่าชดเชยลง เมื่อมีการประกาศใช้กฎหมายประกันการว่างงาน น่าจะเป็นทางออกที่ดีที่สุดเนื่องจาก วัตถุประสงค์ของการจ่ายค่าชดเชยนั้นเพื่อให้ลูกจ้างมีรายได้เลี้ยงตนเองในระหว่างหางานใหม่ทำเช่นเดียวกับ วัตถุประสงค์ของการจ่ายประโยชน์กรณีทดแทน แต่ในภาวะเศรษฐกิจตกต่ำเช่นนี้นายจ้างอาจจำเป็นต้องเลิกจ้างลูกจ้างจำนวนมากโดยไม่มีความผิด และไม่มีความสามารถในการจ่ายค่าชดเชยทำให้การบังคับใช้กฎหมายเกี่ยวกับการจ่ายค่าชดเชยไม่ค่อยได้ผลในทางปฏิบัติ แต่เมื่อมีกฎหมายประกันการว่างงาน มีการจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนประกันการ ว่างงานเพื่อจ่ายประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานแล้วจะทำให้มีเงินทุนสำรองในการจ่ายเงินช่วยเหลือลูกจ้างที่ถูกเลิกจ้างได้ ซึ่งก็ต้องคำนึงถึงภาระในการจ่ายเงินที่เพิ่มขึ้นของนายจ้างซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการตัดสินใจในการลงทุน รวมถึงภาวะการจ้างงานในตลาดแรงงานต่อไป แต่หากยกเลิกไปเลยฝ่ายลูกจ้างจะเกิดความไม่พอใจและเกิดการต่อต้านในที่สุด จึงเห็นว่าควรให้ปรับลดอัตราค่าชดเชยลง อย่างไรก็ตาม การปรับลดอัตราค่าชดเชยจะเป็นเท่าไรนั้น จะต้องอาศัยข้อมูลและการคำนวณโดยหลักคณิตศาสตร์ เพื่อให้อัตราค่าชดเชยและประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานมีความสมดุลกัน ทั้งไม่เป็นการลดสิทธิของลูกจ้างที่มีอยู่เดิม นอกจากนี้เนื่องจากค่าชดเชยมิได้เป็นหลักประกันว่าลูกจ้างจะได้รับแน่นอนเมื่อถูกเลิกจ้าง จึงจำเป็นต้องนำระบบอื่นที่มีหลักประกันแน่นอนขึ้นมาทดแทนค่าชดเชยที่ลดลงด้วย--จบ--
-สส-