กระทรวงแรงงานฯ ย้ำเตือนผู้ประกอบการ/นายจ้าง นำแรงงานต่างด้าวหลบหนีเข้าเมือง

20 Sep 2002

กรุงเทพฯ--20 ก.ย.--กระทรวงแรงงานฯ

ก.แรงงานฯ ย้ำเตือนผู้ประกอบการ / นายจ้าง นำแรงงานต่างด้าวหลบหนีเข้าเมือง กระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม แจ้งเตือนให้ผู้ประกอบการและนายจ้าง ที่มีแรงงานต่างด้าวหลบหนีเข้าเมือง 3 สัญชาติ : พม่า ลาว และกัมพูชา ที่จดทะเบียนแล้วเมื่อปี 2544 มารายงานตัวเพื่อยื่นขอจดทะเบียนใบอนุญาตผ่อนผันให้ทำงานและอยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวอีก 1 ปี ภายในวันที่ 15 ตุลาคม 2545

ศ.เดช บุญ-หลง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม ในฐานะประธานคณะกรรมการบริหารแรงงานต่างด้าว ( กบร. ) เปิดเผยว่า กรณีการผ่อนผันการอนุญาตทำงานแรงงาน ต่างด้าวหลบหนีเข้าเมืองฯ 3 สัญชาติ ( พม่า ลาว กัมพูชา ) ปี 2545 - 2546 โดยผ่อนผันให้ผู้หลบหนี เข้าเมืองอยู่ในราชอาณาจักรได้เป็นการชั่วคราว เพื่อรอการส่งกลับต่อไปได้อีก 1 ปี เฉพาะผู้ที่มารายงานตัวขึ้นทะเบียนไว้แล้วตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2544 ระหว่างเดือนกันยายนตุลาคม 2544 จำนวน 568,249 คน โดยกำหนดการต่ออายุใบอนุญาตแก่แรงงานต่างด้าวที่ขึ้นทะเบียนแล้วเว้นแต่งานประเภท 10 พ.2 (ไม่มีนายจ้าง) โดยพื้นที่และประเภทงานให้เป็นไปตามที่อนุญาตไว้ และจำแนกสาขาอาชีพที่อนุญาตให้ทำงานในตำแหน่งกรรมกรหรือผู้ใช้แรงงานใน 6 อาชีพคือ

(1) กรรมกรทั่วไป

(2) กรรมกรในกิจการประมง

(3) รับจ้างที่ใช้ แรงงานเป็นหลักในโรงงานหรือสถานประกอบการฯ

(4) ผู้รับใช้ในบ้าน

(5) คนงานในฟาร์มเพาะหรือเลี้ยงสัตว์ และ

(6) คนงานในแปลงเพาะหรือปลูกพืช ส่วนผู้ที่มิได้มาขอต่ออายุใบอนุญาตทำงานเมื่อเดือนมีนาคม 2545 ให้สามารถต่ออายุใบอนุญาตได้ตามเหตุอันควรโดยต้องเสียค่าชดเชยเนื่องจากการละเว้นไม่ต่ออายุในครั้งที่ผ่านมา สำหรับการเปลี่ยนแปลงนายจ้างอนุญาตให้ทำงานได้เฉพาะในพื้นที่ที่จดทะเบียนไว้ในครั้งแรกเท่านั้น การดำเนินงาน กระทรวงแรงงานฯ ได้จัดตั้งศูนย์อำนวยการขึ้นทะเบียนออกใบอนุญาตทำงานของ แรงงานต่างด้าวหลบหนีเข้าเมืองสัญชาติพม่า ลาว และกัมพูชา พ.ศ.2545 ณ ห้อง Conference อาคาร อิมแพค อารีน่า เมืองทองธานี หมายเลขโทรศัพท์ 0 2504 4972 - 78 และได้รับรายงานว่า มีแรงงานต่างด้าวฯ ยื่นรายงานตัวทั่วประเทศ ณ วันที่ 18 กันยายน 2545 จำนวนทั้งสิ้น 7,610 คน เป็นสัญชาติพม่า 5,850 คน ลาว 1,302 คน และกัมพูชา 458 คน และมีนายจ้างยื่นแบบคำขอรับใบอนุญาตทำงานตาม ม.12 (2) หรือ ตท.13 จำนวน 2,597 ราย จำแนกตามประเภทกิจการได้ดังนี้

(1) นายจ้างในกิจการกรรมกรทั่วไป 287 ราย

(2) นายจ้างในกิจการประมง 65 ราย

(3) นายจ้างในกิจการโรงงานหรือสถานประกอบการฯ 269 ราย

(4) นายจ้างในกิจการ ผู้รับใช้ในบ้าน 1,508 ราย

(5) นายจ้างในกิจการฟาร์มเพาะหรือเลี้ยงสัตว์ 182 ราย และ

(6) นายจ้างในกิจการ แปลงเพาะหรือปลูกพืช 286 ราย ขั้นตอนการปฏิบัติ ให้นายจ้าง / ผู้ประกอบการนำแรงงานต่างด้าวฯ ไปรับการตรวจสุขภาพและ เสียค่าธรรมเนียมประกันสุขภาพ ( ค่าใช้จ่าย 1,500 บาทต่อราย ) ตามสถานพยาบาลที่ระบุไว้ในบัตรประจำตัวของแรงงานต่างด้าวฯ เดิม แล้วจึงนำใบเสร็จรับเงินจากสถานพยาบาล แนบแบบคำขอรับใบอนุญาตทำงานตาม ม.12 (2) หรือ ตท.13 พร้อมนำแรงงานต่างด้าวมาบันทึกประวัติข้อมูลบุคคล ( พิมพ์ลายนิ้วมือ ) ตามระบบฐานข้อมูลของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ซึ่งตั้งโต๊ะอำนวยการในบริเวณเดียวกับสถานที่รายงานตัว จากนั้นเจ้าหน้าที่จะดำเนินการตรวจเอกสารและหลักฐาน แล้วจะแจ้งกำหนดนัดจดทะเบียนให้ทราบต่อไป สำหรับค่าใช้จ่ายขั้นตอนการ จดทะเบียนต่อรายคือ ค่าทะเบียนและผลิตใบอนุญาตทำงาน จำนวน 150 บาท ค่าใบอนุญาตทำงานซึ่งกำหนดไว้ 3 ระดับคือ

(1) ใบอนุญาตฯ อายุไม่เกิน 3 เดือน จำนวน 450 บาท ,

(2) ใบอนุญาตฯ อายุไม่เกิน 6 เดือน จำนวน 900 บาท และ

(3) ใบอนุญาตฯ อายุไม่เกิน 1 ปี จำนวน 1,800 บาท กรณีผู้ที่มิได้มาต่ออายุใบอนุญาตทำงานครั้งที่ 2 เมื่อปี 2544 ต้องชำระค่าชดเชยทดแทนรายละ 1,000 บาท ทั้งนี้ระหว่างรอการจดทะเบียนให้ถือว่า บัตรเดิมพร้อมใบเสร็จรับเงินค่าตรวจสุขภาพและเสียค่าธรรมเนียมประกันสุขภาพเป็นบัตรแทนชั่วคราวและมีกำหนดใช้ในระยะเวลา 50 วัน นับตั้งแต่สิ้นสุดอายุของบัตรประจำตัวแรงงานต่างด้าวหลบหนีเข้าเมืองฯ เดิม ซึ่งจะสิ้นสุดในวันที่ 24 กันยายน 2545 หลักฐานที่ต้องนำมาแสดงในการรายงานตัวขึ้นทะเบียน คือบัตรใบอนุญาตทำงานฉบับเดิม (ตท.14) และแบบคำขอรับใบอนุญาตทำงาน (ตท.13) ซึ่งกรอกข้อความครบถ้วนและมีการรับรองการตรวจสุขภาพจาก โรงพยาบาล สำหรับหลักฐานของนายจ้าง ได้แก่ สำเนาบัตรประชาชน สำเนาทะเบียนบ้าน สำเนาทะเบียนพาณิชย์ กรณีมอบอำนาจต้องมีหนังสือมอบอำนาจ (ติดอากรแสตมป์ 10 บาท ) พร้อมสำเนาบัตรประชาชนผู้รับมอบอำนาจ--จบ-- -สส-