กระทรวงแรงงานฯ รับมอบ RBM พร้อมดำเนินการ 1 ต.ค.45

30 Sep 2002

กรุงเทพฯ--30 ก.ย.--กระทรวงแรงงานฯ

กระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม รับมอบระบบบริหารมุ่งผลสัมฤทธิ์ (RBM) จาก สำนักงานข้าราชการพลเรือน (กพ.) ในวันที่ 26 กันยายน 2545 ณ ห้องประชุมจอมพล ป.พิบูลย์สงคราม โดยจะเริ่มใช้ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2546 หรือตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2545 เป็นต้นไป

นายประสพชัย ยูวะเวส รักษาการปลัดกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม จะเป็นประธาน รับมอบระบบบริหารแบบมุ่งผลสัมฤทธิ์ หรือ Results based Management : RBM จากรองเลขาธิการสำนักงาน ข้าราชการพลเรือน ในวันที่ 26 กันยายน 2545 ที่ห้องประชุมจอมพล ป. พิบูลย์สงคราม ชั้น 5 ระบบบริหารแบบ มุ่งผลสัมฤทธิ์ เป็นระบบบริหารงานที่เป็นโครงการพัฒนาร่วมกันระหว่าง สำนักงานปลัดกระทรวงแรงงานและ สวัสดิการสังคม กับ สำนักงาน กพ. ซึ่งเริ่มดำเนินการมาตั้งแต่เดือนมกราคม 2545 โดยปลัดกระทรวงแรงงานฯ ได้อนุมัติงบประมาณเพื่อการพัฒนาระบบ เป็นจำนวน 160,000 บาท มีการตั้งคณะกรรมการและคณะทำงาน รวม 3 ชุด คือ คณะกรรมการอำนวยการวางระบบบริหารงานมุ่งผลสัมฤทธิ์ มีรองปลัดกระทรวงแรงงานฯที่ รับผิดชอบงานด้านแผน เป็นประธาน และคณะทำงานกำหนดปัจจัยหลักแห่งความสำเร็จและตัวชี้วัดผลการ ดำเนินงานหลัก กับ คณะทำงานพัฒนาระบบบริหารงานมุ่งผลสัมฤทธิ์ ซึ่งมีที่ปรึกษาวิชาการแรงงาน เป็นประธานคณะทำงานทั้ง 2 ชุด ผลการดำเนินงานของคณะต่างๆได้ข้อสรุปดังนี้ คือ ได้กำหนดปัจจัยหลักแห่งความสำเร็จ หรือ CSF จำนวน 20 ตัว และมีตัวชี้วัด หรือ KPI จำนวน 34 ตัว แบ่งเป็นตัวชี้วัดสำหรับมุมมองด้านผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ภายนอก จำนวน 18 ตัว มุมมองด้านองค์ประกอบภายในองค์กร จำนวน 7 ตัว มุมมองด้านนวัตกรรม จำนวน 5 ตัว และมุมมองด้านการเงิน จำนวน 4 ตัว ซึ่งครอบคลุมทุกภารกิจของทุกกองหรือทุกหน่วยงานในสังกัดสำนักงาน ปลัดกระทรวง ระบบบริหารมุ่งผลสัมฤทธิ์ เป็นระบบบริหารงานสมัยใหม่ ที่ยึดถือประชาชนผู้รับบริการเป็น เป้าหมายหลักในการทำงาน มีการวางแผนกลยุทธ์ การกำหนดตัวชี้วัดผลการดำเนินงานองค์กรอย่างเป็นระบบ ทั้งในแง่ของประสิทธิผล ประสิทธิภาพ และคุณภาพ โดยมีตัวชี้วัดผลงานอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อให้สามารถเปิดเผยผลการดำเนินการของภาครัฐให้แก่สาธารณชนเป็นการยืนยันความรับผิดชอบ และความโปร่งใสในกิจกรรมต่างๆของภาครัฐ นอกจากนี้ยังเป็นการช่วยให้มีการบริหารผลการปฏิบัติงานอย่างเหมาะสม เพราะเป็นความรับผิดชอบร่วมกันของทั้งผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ ผู้บริหารสามารถใช้ตัวชี้วัดเป็นเครื่องมือในการเปรียบเทียบเป้าหมาย หาก ผลงานไม่น่าพอใจ ตัวชี้วัดจะช่วยให้ผู้บริหารมีโอกาสปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ได้ทันเวลา ทั้งนี้เพื่อให้เกิดประโยชน์กับประชาชนอย่างสูงสุด--จบ-- -สส-