กระทรวงแรงงานฯ เตรียมออก พ.ร.บ.ส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน

20 Sep 2002

กรุงเทพฯ--20 ก.ย.--กระทรวงแรงงานฯ

กระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบ พ.ร.บ.ส่งเสริมการพัฒนา ฝีมือแรงงาน พ.ศ. โดย พ.ร.บ.ดังกล่าวมีสาระสำคัญในการสนับสนุนให้ภาคเอกชนมีส่วนร่วมในการพัฒนา ฝีมือแรงงานมากยิ่งขึ้น เพื่อให้เข้านโยบายและทิศทางการพัฒนาฝีมือแรงงานของรัฐที่เปลี่ยนแปลงไปตามข้อจำกัดในเรื่องของงบประมาณและกำลังคนในภาวะวิกฤติ ศ.เดช บุญ-หลง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม เปิดเผยถึงความคืบหน้าของร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน พ.ศ. ซึ่งได้นำเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2542 ขณะนี้ได้ผ่านการพิจารณาให้ความเห็นชอบของรัฐสภาเรียบร้อยแล้วเมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2545 และนายกรัฐมเนตรีได้ลงนามในหนังสือทูลเกล้าฯถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเพื่อทรงลงพระปรมาภิไธยแล้ว ซึ่งหลังจากนี้จะได้นำลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา บังคับใช้เป็นกฎหมายต่อไป โดยร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวมีสาระสำคัญ 3 ประการ ดังนี้

1.ส่งเสริมสนับสนุนให้ภาคเอกชนมีส่วนร่วมในการพัฒนาฝีมือ แรงงาน โดยมีแนวทางให้สถานประกอบการที่ดำเนินการฝึกอบรมฝีมือแรงงานให้แก่บุคคลที่จะเข้าทำงาน จะได้รับสิทธิประโยชน์เป็นสิ่งจูงใจ อาทิเช่น ได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้เป็นกรณีพิเศษสำหรับค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรม มีสิทธินำคนต่างด้าวที่เป็นช่างฝีมือที่ชำนาญการมาเป็นผู้ฝึกได้ นอกจากนั้นหากจัดตั้งเป็นศูนย์ฝึกอบรมฝีมือ แรงงานก็จะได้รับการยกเว้นภาษีอากรขาเข้าและภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับเครื่องมือ เครื่องจักรและอุปกรณ์ที่นำเข้ามาเพื่อใช้ในการฝึกอบรม ได้ลดหย่อนค่าไฟฟ้าและค่าประปา เป็นต้น ทั้งนี้กรมพัฒนาฝีมือแรงงานจะได้ให้คำปรึกษาแนะนำและช่วยเหลืออยู่ตลอดเวลา

2.ให้มีการกำหนดมาตรฐานฝีมือแรงงานและการทดสอบมาตรฐานฝีมือ แรงงานแห่งชาติในสาขาอาชีพต่าง โดยส่งเสริมให้ภาคเอกชนสามารถเป็นผู้การดำเนินการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานได้โดยต้องได้รับอนุญาตจากนายทะเบียน นอกจากนี้ยังเปิดโอกาสให้เอกชนสามารถนำมาตรฐานฝีมือ แรงงานของตนมาให้คณะกรรมการส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงานรับรองได้อีกทางหนึ่งด้วย

3.กำหนดหลักการเรื่อง กองทุนพัฒนาฝีมือแรงงานซึ่งกำหนดให้ผู้ประกอบการในประเภท ชนิด ขนาด และมีจำนวนลูกจ้างตามที่กำหนดไว้ต้องดำเนินการฝึกอบรมฝีมือแรงงานให้ได้ตามจำนวนที่วางไว้ ถ้าไม่สามารถทำได้ต้องจ่ายเงินเข้าสมทบกองทุนฯในอัตราไม่เกินร้อยละหนึ่งของค่าจ้างที่จ่ายในปีสุดท้ายก่อนมีการส่งเงินสมทบ นอกจากนี้ยังเปิดโอกาสให้ผู้รับการฝึก ผู้ดำเนินการฝึก ผู้ดำเนินการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานและผู้ประกอบการมีสิทธิกู้ยืมเงิน กองทุนเพื่อใช้จ่ายเกี่ยวกับการดำเนินการฝึกอบรมฝีมือแรงงานหรือการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานตามระเบียบที่คณะกรรมการกำหนดโดยผ่านความเห็นชอบจากกระทรวงการคลังอีกด้วย--จบ-- -สส-