กระทรวงวิทย์ฯ เปิดเทศกาลชมดาวรับลมหนาว 2553 : Stellar Winter Fest 2010 และประสบการณ์คนดูดาว

16 Nov 2010

กรุงเทพฯ--16 พ.ย.--กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดย สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ ร่วมกับ สำนักงานปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (องค์การมหาชน) สดร. จัดแถลงข่าว “เปิดเทศกาลชมดาวรับลมหนาว 2553 : Stellar Winter Fest 2010” โดยมี นายสันติ สาทิพย์พงษ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และโฆษกกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นประธานแถลงข่าว ร่วมด้วย รศ.ดร.บุญรักษา สุนทรธรรม ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ และ ดร.ศรัญย์ โปษยะจินดา รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ พร้อมทั้งจัดการเสวนา คุยกัน..ฉันท์วิทย์ ในหัวข้อ “เปิดประสบการณ์คนดูดาว” โดยได้รับเกียรติจากวิทยากรผู้เชี่ยวชาญ ดร.ศิรามาศ โกมลจินดา ผู้เชี่ยวชาญด้านการวิจัย สาขาดาราศาสตร์ออพติค สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน)นายนัคเรศ อินทนะ ยุวทูตดาราศาสตร์ ประจำปี 2553 นายดรัณภพ พวงสมบัติ รองยุวทูตดาราศาสตร์ ประจำปี 2553 และศิลปินจากอคาเดมี่แฟนตาเซีย (AF6) มาให้ความรู้และความบันเทิง ณ จัตุรัสวิทยาศาสตร์ อพวช. ชั้น 4 อาคารจัตุรัสจามจุรี (จามจุรีสแควร์) สามย่าน กรุงเทพมหานคร

นายสันติ สาทิพย์พงษ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และโฆษกกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า กระทรวงวิทยาศาตร์และเทคโนโลยีมีภารกิจในการนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีลงไปสู่เด็ก เยาวชน นักเรียน นักศึกษา ในโรงเรียนและสถาบันการศึกษาทั่วประเทศ เพื่อเป็นพลังในการขับเคลื่อนและพัฒนาสังคมและประเทศชาติในภาพรวม โดยเน้นวิธีการเรียนการสอนและรูปแบบของกิจกรรมที่สนุก สามารถกระตุ้นความสนใจและเข้าใจง่าย เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้เยาวชนไทยหันมาให้ความสำคัญกับวิทยาศาสตร์มากขึ้น ซึ่งในส่วนของปรากฏการณ์ทางด้านดาราศาสตร์ถือเป็นศาสตร์อีกแขนงหนึ่งของวิทยาศาสตร์ที่มีความสำคัญ และที่สำคัญ ซึ่งคนส่วนใหญ่ยังไม่ทราบและไม่เข้าใจก็คือ ปรากฏการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับดวงดาว รวมถึงปรากฏการณ์ต่างๆ ในเรื่องของดาราศาสตร์ที่ส่งผลกับโลกและชีวิตของผู้คนมากมายอีกด้วย

อย่างไรก็ดี เพื่อเป็นการส่งเสริมให้เด็ก เยาวชน และประชาชนทั่วไป หันมาสนใจในเรื่องของดาราศาสตร์ รวมถึงเพื่อสนับสนุนกิจกรรมทางด้านดาราศาสตร์ ดังนั้น กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ขอเชิญชวนให้เด็ก เยาวชน รวมถึงประชาชนทั่วไป ร่วมสังเกตุการณ์ปรากฏการณ์ฝนดาวตกในครั้งนี้ร่วมกัน ในวันที่ 13-14 ธันวาคม 2553 ณ ดอยอินทนนท์ จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งไม่ว่าจะอยู่ที่ใดก็สามารถรับชมปรากฏการณ์ในครั้งนี้ได้ หากท้องฟ้าปลอดโปร่ง ฝนไม่ตก และสภาพภูมิอากาศเป็นใจ เพียงแค่เงยหน้าขึ้นมองท้องฟ้าก็จะทำให้เราได้รับชมทั้งความสวยงามของปรากฏการณ์ฝนดาวตก และยังได้รับความรู้ในเรื่องของดาราศาสตร์ไปพร้อมกันด้วย

รศ.ดร.บุญรักษา สุนทรธรรม ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์ กล่าวว่า สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติมีภารกิจหลักหลาย ด้าน อาทิ การส่งเสริมความรู้ทางด้านดาราศาสตร์ให้กับเยาวชนไทยและประชาชนทั่วไป รวมถึงผลักดันและสนับสนุนวงการดาราศาสตร์ไทยให้ก้าวไปข้างหน้า ขณะเดียวกัน ยังมีภารกิจด้านการวิจัย พัฒนา สร้างเครือข่ายความร่วมมือ ส่งเสริมบรรยากาศและความตื่นตัวทางด้านดาราศาสตร์ของประเทศ และการบริการวิชาการให้ความรู้แก่ชุมชน เพื่อสนองนโยบายของรัฐบาลในการสร้างสังคมการเรียนรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยเฉพาะทางด้านดาราศาสตร์แก่สังคมไทย

ด้าน ดร. ศรัณย์ โปษยะจินดา รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ กล่าวว่า ปรากฎการณ์ทางดาราศาสตร์ช่วงฤดูหนาว ปี 2553 ที่จะเกิดขึ้น ได้แก่ ฝนดาวตกลีโอนิดส์ (Leonid meteor shower) หรือฝนตกกลุ่มดาวสิงโต ซึ่งจะเกิดขึ้น ในวันที่ 17-18 พฤศจิกายน 2553 โดยในปีนี้จะเริ่มเห็นฝนดาวตกลีโอนิดส์ ตั้งแต่เวลา 3.00-6.00 น. ตามเวลาประเทศไทย และจะเกิดขึ้นกลางเดือนพฤศจิกายนของทุกปี สามารถสังเกตเห็นได้ด้วยตาเปล่า มีลักษณะเป็นริ้วสีขาวพาดผ่านท้องฟ้า และเกิดลูกไฟควบคู่กันไป ฝนดาวตกลีโอนิดส์เกิดจากเศษซากของดาวหาง 55พี เทมเพล-ทัตเทิล (55P Tempel-Tuttle) ซึ่งมีวงโคจรรอบดวงอาทิตย์เป็นวงรี ทั้งนี้ ยังมีกิจกรรมอีกมากมายที่ สดร. กำหนดจัดขึ้นในช่วงเดือน พฤศจิกายน 2553 – กุมภาพันธ์ 2 ฝนดาวตกเจมินิดส์ จะเกิดขึ้นในวันที่ 13-14 ธันวาคม 2553 ซึ่งเกิดจากเศษซากของดาวเคราะห์น้อย 3200 เฟธอน (3200 Phaethon) ที่โคจรรอบดวงอาทิตย์เข้าใกล้โลกและเวลาที่โคจรเข้ามาใกล้โลกจะทิ้งเศษที่เป็นฝุ่นของแข็ง น้ำแข็ง จำนวนมากมายไว้ เศษฝุ่นที่เป็นเศษหลงเหลือจากดาวเคราะห์น้อยเหล่านั้น จะตกเข้ามาในบรรยากาศของโลกซึ่งเมื่อเข้ามาเสียดสีกับบรรยากาศของโลกก็จะทำให้เกิดแสงสว่างขึ้น โดยจะเริ่มเห็นฝนดาวตกตั้งแต่เวลาหลัง 24.00 น. ของวันที่ 13 ธันวาคม 2553 จนถึงเช้ามืดของวันที่ 14 ธันวาคม 2553ตามเวลาประเทศไทย

ส่วนกิจกรรมของ สดร. ที่กำหนดจัดขึ้น ในโครงการ “เปิดฟ้า..ตามหาดาว” ตั้งแต่เดือน ตุลาคม 2553 – มีนาคม 2554 จำนวน 8 ครั้ง ร่วมกับ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนสัมผัสปรากฏการณ์ท้องฟ้าในช่วงฤดูหนาวผ่านอุปกรณ์ต่างๆ ด้วยตนเอง โดยจะบรรยายให้ความรู้เกี่ยวกับดาราศาสตร์ แนะนำการดูดาวเบื้องต้น การใช้แผนที่ดาว รวมทั้งสัมผัสความมหัศจรรย์ของวัตถุท้องฟ้าผ่านกล้องโทรทรรศน์ชนิดต่างๆ เช่น เนบิวลา กาแลกซีแอนโดรเมดา กลุ่มดาวค้างคาว กระจุกดาวลูกไก่ กระจุกดาววัว สามเหลี่ยมฤดูร้อนและกลุ่มดาวอื่นๆ นอกจากนี้ ยังจัดค่ายเยาวชนคนดูดาวและแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมปีที่ 4 เพื่อให้เยาวชนได้รับความรู้พื้นฐานและข้อมูลดาราศาสตร์จากประสบการณ์ตรง ซึ่งสามารถนำองค์ความรู้ที่ได้ไปใช้ประกอบการเรียนทางด้านดาราศาสตร์ เป็นเวทีแลกเปลี่ยนความรู้ทางด้านดาราศาสตร์ ซึ่งจะนำไปสู่การสร้างเครือข่ายทางด้านดาราศาสตร์ในระดับเยาวชนต่อไป

ดร.ศิรามาศ โกมลจินดา ผู้เชี่ยวชาญด้านการวิจัย สาขาดาราศาสตร์ออพติค สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ กล่าวว่า ความรู้ที่ได้จากดาราศาสตร์ไม่ใช่แค่การเงยหน้าขึ้นมองท้องฟ้าดูดาวแบบที่คนส่วนใหญ่เข้าใจ แต่มีหลายแขนง เช่น ความรู้เกี่ยวกับโลก ระบบสุริยะ ดาวฤกษ์ ดาวเคราะห์ ซึ่งโลกก็เป็นดาวเคราะห์ดวงหนึ่ง ขณะที่ดวงอาทิตย์ก็เป็นดาวฤกษ์ดวงหนึ่ง และหากเราได้ศึกษาการเกิดขึ้นและการแตกดับของดวงดาว แล้วนำหลักการที่ได้มาเปรียบเทียบกับอายุของโลกรวมถึงการถือกำเนิดของโลก ก็จะทำให้เราทราบถึงปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน และสามารถคาดเดาเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้ นอกจากนี้ ยังมีอีกหลายสาขาย่อยที่สามารถเลือกได้ตามความถนัดและความสนใจ เช่น การสังเกตุดวงดาว การสังเกตุปรากฏการณ์ในช่วงกลางวัน การวิเคราะห์กลุ่มแก๊ส อนุภาคที่ออกมาจากดวงอาทิตย์ การรับสัญญาณวิทยุ การศึกษาวัตถุเปล่งแสง เคหวัตถุหรือวัตถุท้องฟ้า การศึกษาเนบิวลา (NEBULA) ซึ่งก็คือ กลุ่มก๊าซและฝุ่นที่ไม่มีแสงสว่างในตัวเองรวมกันอยู่หนาแน่นมากเป็นปริมาณมหาศาล อยู่ระหว่างดาวฤกษ์ในระบบกาแล็กซี่ เป็นต้น

อย่างไรก็ดี การศึกษาดาราศาสตร์ไม่ได้จำกัดอยู่แค่เด็ก หรือเยาวชน ผู้สนใจสามารถเริ่มต้นได้แม้จะผ่านช่วงวัยเรียนไปแล้วก็ตาม แต่หากเริ่มต้นศึกษาตั้งแต่ยังเด็กก็จะช่วยเสริมสร้างจินตนาการให้เด็กๆ ได้เป็นอย่างดี เนื่องจากดาราศาสตร์เป็นสิ่งที่เราศึกษาปรากฏการณ์บนท้องฟ้าซึ่งไม่สามารถจับต้องได้และต้องใช้จินตนาการ อาทิ ดวงอาทิตย์เปล่งแสงได้อย่างไร นอกจากนี้ ยังช่วยสร้างเสริมกระบวนการคิดแบบวิทยาศาสตร์ การใช้เหตุใช้ผล ฝึกให้เด็กรู้จักเรื่องของหลักการและความถูกต้อง

ดร.ศิรามาศ กล่าวเพิ่มเติมว่า “วิชาดาราศาสตร์มีเรื่องที่น่าสนใจมากมายไม่ใช่แค่ดวงดาวหรือโลกเท่านั้น แต่แท้จริงแล้วโลกก็เป็นเพียงส่วนหนึ่งของเอกภพเท่านั้น ขณะที่เอกภพและจักรวาลอันกว้างใหญ่ไพศาลยังมีเรื่องราวอีกมากมายที่เรายังไม่รู้ ซึ่งนักดาราศาสตร์ทั่วโลกก็ยังคงมุ่งหาคำตอบอย่างไม่หยุดยั้ง และมีคำถามอีกหลายคำถามที่ยังต้องการคำตอบ เช่น นอกจากโลก ยังมีสิ่งมีชีวิตอาศัยอยู่ ณ ที่แห่งใดในจักรวาลอีกหรือไม่ เหตุการณ์โลกแตกที่ปรากฏอยู่ในภาพยนตร์เรื่อง 2012 จะมีโอกาสเกิดขึ้นจริงหรือไม่ และหากเกิดขึ้นจริงมนุษยชาติยังมีเวลาที่จะอาศัยอยู่บนโลกได้อีกนานแค่ไหน รวมถึงการศึกษาวงแหวนของดาวเสาร์ และ ศึกษาลักษณะการโคจรของดวงจันทร์รอบดาวพฤหัสบดี เป็นต้น”

ด้านยุวทูตดาราศาสตร์ ประจำปี 2553 นายนัคเรศ อินทนะ กล่าวแนะนำว่า การศึกษาวิชาดาราศาสตร์ของตนเองเริ่มจากการใช้กล้องสองตาในการดูดวงดาว เพราะชอบศึกษาวัตถุบนท้องฟ้าที่มีความน่าสนใจ จนถึงปัจจุบันที่ภาพรวมของแวดวงดาราศาสตร์โลกมีความเจริญก้าวหน้าอย่างมาก มีการพัฒนาเพื่อศึกษาถึงทฤษฎีพลังงานมืด ซึ่งก็คือทุกวันนี้เราสามารถพิสูจน์ได้ว่าเอกภพมีการขยายตัวเพิ่มขึ้น แต่ปัจจุบันไม่มีแสงที่จะมาทำให้เอกภพขยายตัว นักดาราศาสตร์จึงคิดเสาะหาสสารมืดหรือพลังงานมืดที่จะมาช่วยให้เอกภพมีการขยายตัวเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ ความน่าสนใจในการศึกษาวิชาดาราศาสตร์ยังมีอีกมาก อาทิ การศึกษาฟิสิกส์อนุภาคยังทำให้เกิดการพัฒนาสารใหม่ๆ การพิสูจน์ทฤษฎีว่าด้วยการกำเนิดของเอกภพโดยการระเบิดออก การศึกษาดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะ การศึกษาการถือกำเนิดและความเป็นไปของโลก ทำให้เรารู้ว่าโลกที่เราอาศัยอยู่นั้นถือกำเนิดขึ้นมาได้อย่างไร ซึ่งเป็นความน่าหลงใหลและเป็นเสน่ห์ของวิชาดาราศาสตร์

ส่วนรองยุวทูตดาราศาสตร์ นายดรัณภพ พวงสมบัติ กล่าวเสริมว่า ดาราศาสตร์ เป็นวิชาที่ว่าด้วยเรื่องราวของท้องฟ้า ดวงดาว และจักรวาล ซึ่งได้สนใจศึกษาดาราศาสตร์มาตั้งแต่ 7 ขวบ หลังจากได้เห็นดาวเสาร์ผ่านกล้องดูดาวแล้วเกิดความสนใจในความแปลกประหลาดของดาวเสาร์ ซึ่งดาราศาสตร์มีอะไรหลายอย่างที่น่าสนใจ เป็นโลกขององค์ความรู้ที่ไม่มีขอบเขต ไม่มีขีดจำกัด ยิ่งค้นหาก็ยิ่งค้นพบ ยิ่งได้คำตอบมากเท่าไหร่ คำถามใหม่ๆ ก็ตามมามากเท่านั้น ซึ่งเป็นเสน่ห์ของวิชาดาราศาสตร์ ส่วนปรากฏการณ์ล่าสุดที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 17 พฤศจิกายน นี้ คือฝนดาวตกลีโอนิดส์ ถือเป็นหนึ่งในฝนดาวตกที่มีปริมาณค่อนข้างมาก เฉลี่ยชั่วโมงละ 30 - 40 ดวง และหลังจากนี้จะมีฝนดาวตกเปอร์เซอิดในเดือน ธันวาคม ซึ่งมีปริมาณเฉลี่ยเกือบร้อยดวงต่อชั่วโมง

สำหรับในกรุงเทพฯ แสงไฟที่สว่างอาจทำให้ความสวยงามของท้องฟ้าถูกบดบังไปบ้าง ซึ่งเวลานักดาราศาสตร์จะดูดาวจะมีหลักเกณฑ์ในการกำหนดทิศและตำแหน่งต่างๆ ของดาวและวัตถุท้องฟ้าอื่นๆไว้ ซึ่งบนท้องฟ้าไม่ได้มีแต่ดวงดาวเท่านั้นแต่มีทั้งดาราจักรหรือกาแล็กซี่ ดาวหาง เนบิวล่าหรือซากดาวฤกษ์ที่ระเบิดไปแล้ว ส่วนดาวที่เราเห็นอยู่บนฟ้าส่วนใหญ่จะเป็นดาวฤกษ์ ซึ่งถ้าท้องฟ้าปลอดโปร่งจริงๆ จะนับได้ประมาณ 6,000 ดวง โดยคนสมัยบาบิโลเนียนโบราณนิยมใช้ดาวเพื่อบอกทิศและเป็นเครื่องนำทาง จึงมีการคิดวิธีการจดจำดาวต่างๆ ให้ง่ายขึ้น จึงเกิดจินตนาการดาวให้เรียงเป็นรูปร่างที่เรียกว่ากลุ่มดาวขึ้น ปัจจุบันจัดแบ่งไว้ 88 กลุ่ม ซึ่งสามารถหาตำแหน่งได้จากแผนที่ดาว

ทั้งนี้ แผนที่ดาวเป็นอีกหนึ่งอุปกรณ์ดาราศาสตร์พื้นฐาน ระบุตำแหน่งกลุ่มดาว ดาวฤกษ์ เนบิวล่า และดาราจักร ใช้ในการค้นหาตำแหน่งของดาวบนฟ้าในแต่ละคืน โดยหมุนแผ่นแผนที่ดาวในส่วนที่ระบุเวลาให้ตรงกับวันและเดือนที่ต้องการจะดูภาพบนแผนที่ดาวก็จะปรากฏตรงกับตำแหน่งดาวจริงๆ บนท้องฟ้าในเวลานั้นๆ ส่วนกล้องดูดาว หรือที่เรียกกันว่ากล้องโทรทรรศน์เป็นอุปกรณ์ดูดาวที่นักดาราศาสตร์ใช้เพื่อเปิดมุมมองที่กว้างไกลยิ่งกว่า สำหรับการศึกษากายภาพของวัตถุท้องฟ้าใดๆ

“หลายคนอาจบอกว่าดาราศาสตร์เป็นเรื่องไกลตัว แต่จริง ๆ แล้วชีวิตของเราล้วนเกี่ยวพันกับจักรวาลในทุกๆ แง่มุม เราอาศัยพลังงานและแสงสว่างจากดวงอาทิตย์ เราเคยใช้ดาวนำทางและเป็นปฏิทิน เรามีชีวิตอยู่ได้ด้วยแรงทางฟิสิกส์และความสมดุลระหว่างดาวแต่ละดวงในระบบสุริยะ และเราหลายๆ คนก็มีสุนทรียภาพกับการนั่งมองความสวยงามและค้นหาความลึกลับบนท้องฟ้าในตอนกลางคืน เพราะฉะนั้น สำหรับผมแล้วนี่เป็นมุมมองที่ผมมีต่อดาราศาสตร์โลกแห่งการศึกษาที่ไร้ขอบเขต” นายดรัณภพ กล่าวทิ้งท้าย

ท่านสามารถติดตามข่าวสาร การจัดเสวนา คุยกัน..ฉันท์วิทย์ ของกลุ่มงานประชาสัมพันธ์

สำนักงานปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้ที่ http://www.most.go.th/scitalk สนับสนุนข้อมูลโดย : สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) ผู้เผยแพร่ข่าว : กมลวรรณ เอมสมบูรณ์ กลุ่มงานประชาสัมพันธ์ สำนักงานปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ โทร. 0 2333 3700 ต่อ 3732 ,3730

สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net