เด็กไทยไม่แพ้ใครในโลก คว้าสุดยอดรางวัลใหญ่จากเวทีการแข่งขันโครงงานทางวิทยาศาสตร์ระดับโลก

18 May 2011

กรุงเทพฯ--18 พ.ค.--เนคเทค

นักเรียนไทยจาก จ.สุราษฎร์ธานี คว้าสุดยอดรางวัลใหญ่จาก 2 เวทีมหกรรมโครงงานวิทยาศาสตร์โลก ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา

กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดย ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กและคอมพิวเตอร์แห่งชาติ หรือเนคเทค สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ หรือ สวทช. ร่วมกับ สมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ และ บริษัท อินเทล ไมโครอิเล็กทรอนิกส์ (ประเทศไทย) จำกัด จัดส่งคณะนักเรียนไทย ไปแข่งขันในมหกรรมการประกวดโครงงานวิทยาศาสตร์โลกที่ประเทศสหรัฐอเมริกา 2 เวทีการแข่งขัน ประกอบด้วย

1.เวทีการประกวดโครงงานวิทยา ศาสตร์ระดับนานาชาติ The 4th InternationalSustainable World (Energy, Engineering, and Environment) Project Olympiad (I-SWEEEP) 2011 ซึ่งจัดขึ้น ณ เมืองฮูสตัน มลรัฐเท็กซัส ประเทศสหรัฐอเมริกา ระหว่างวันที่ 4-8 พฤษภาคม 2554

2. มหกรรมการประกวดโครงงานวิทยาศาสตร์ระดับโลก Intel ISEF 2011 : Intel International Science and Engineering Fair 2011 จัดขึ้นในระหว่างวันที่ 8-13 พฤษภาคม 2554 ณ Los Angeles Convention Center, Los Angeles, California, USA ซึ่งในปีนี้ถือได้ว่าเป็นการจัดงานอย่างยิ่งใหญ่ที่ได้รวบรวมนักวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์จำนวนกว่า 1,545 คน จาก 65 ประเทศทั่วโลก โดยมีเงินรางวัลมูลค่าสูงถึง 4 ล้านเหรียญสหรัฐ

ผลงานของเด็กไทยในปีนี้ ได้แสดงศักยภาพในระดับโลก โดยคว้ารางวัลใหญ่มาทั้ง 2 เวทีการแข่ง ประกอบด้วย

1. รางวัล 1 เหรียญทอง 1 เหรียญเงินและรางวัลพิเศษด้านเทคโนโลยีที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมจากเวทีการ ประกวดโครงงานวิทยาศาสตร์ระดับนานาชาติ The 4th International Sustainable World (Energy, Engineering, and Environment) Project Olympiad (I-SWEEEP) 2011

  • ผลงานที่ได้รับรางวัล 1 เหรียญทอง และรางวัลพิเศษ NAC Environmental-Friendly Technology Award เป็นโครงงานวิทยาศาสตร์ ประเภททีม สาขาสิ่งแวดล้อม เรื่อง พลาสติกจากเกล็ดปลา (Bio-based Packaging Plastics from Fish Scale) พัฒนาโดย นายพรวสุ พงศ์ธีระวรรณ นางสาวธัญพิชชา พงศ์ชัยไพบูลย์ และนางสาวอารดา สังขนิตย์ จากโรงเรียนสุราษฎร์พิทยา จ.สุราษฎร์ธานี โดยมีนายเฉลิมพร พงศ์ธีรวรรณ และนางสุวารี พงศ์ธีระวรรณ เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา ( โครงงานดังกล่าว ได้รับรางวัลชนะเลิศอันดับที่ 2 จากการประกวดโครงงานของนักวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์ Young Scientist Competition: YSC 2011ของเนคเทคและได้รับการคัดเลือกเป็นตัวแทน ประเทศไทยเข้าร่วมงาน I-SWEEEP 2011 และ Intel ISEF 2011 )
  • รางวัล 1 เหรียญเงิน จากโครงงานวิทยาศาสตร์ เรื่อง การออกแบบระบบควบคุมการปลูกพืชในโรงเรือนด้วย Arduino พัฒนาโดย นายกิตติ์ ธเนศธนะรุ่งโรจน์ทวี นายฉัตรชัย จันทะศิลา และนายอภิสิทธิ์ รังสิมาวงศ์ จากโรงเรียนกันทรารมณ์ จ.ศรีสะเกษ โดยมีนางจตุพร พรเกียรติคุณ เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา

2. รางวัล Intel Foundation Young Scientist Award และ รางวัลที่ 4 ประเภท Grand Award จากเวทีมหกรรมการประกวดโครงงานวิทยาศาสตร์ระดับโลก Intel International Science and Engineering Fair 2011 (Intel ISEF 2011) ในปีนี้ตัวแทนเยาวชนจากประเทศไทยก็ไม่ทำให้คนไทยทั้งประเทศผิดหวัง เพราะสามารถคว้ารางวัลสูงสุดในการประกาศผลรางวัล Grand Award ในเวที Intel ISEF 2011 ในวันนี้ นั่นคือ รางวัล Intel Foundation Young Scientist Awards ซึ่งมีมูลค่าเงินรางวัลสูงถึง 50,000 เหรียญสหรัฐ โดยเป็นรางวัลที่ บริษัท Intel และสมาคม Society for Science and the Public ประเทศสหรัฐอเมริกาคัดเลือกสุดยอดโครงงานที่ดีที่สุดในการแข่งขันครั้งนี้เพียง 2 โครงงาน

  • รางวัล Intel Foundation Young Scientist Award ได้แก่ ทีมโครงงานวิทยาศาสตร์ เรื่อง พลาสติกจากเกล็ดปลา (Bio-Based Packaging Plastics from Fish Scale) ซึ่งได้ Best of Category winners ในสาขา Environmental Management จากทั้งหมด 17 สาขาที่มีการแข่งขัน และเป็นสุดยอด 2 รางวัลที่ได้ Intel Foundation Young Scientist Award ผู้ได้รับรางวัลจะได้รับทุนการศึกษา US$50,000 พัฒนาโดย นายพรวสุ พงศ์ธีระวรรณ นางสาวธัญพิชชา พงศ์ชัยไพบูลย์ และนางสาวอารดา สังขนิตย์ จากโรงเรียนสุราษฎร์พิทยา จ.สุราษฎร์ธานี โดยมีนายเฉลิมพร พงศ์ธีระวรรณ และนางสุวารี พงศ์ธีระวรรณ เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา ( โครงงานดังกล่าว ได้รับรางวัลชนะเลิศอันดับที่ 2 จากการประกวดโครงงานของนักวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์ Young Scientist Competition: YSC 2011ของเนคเทค ซึ่งโครงงานนี้เป็นโครงงานที่สมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ คัดเลือกเข้าร่วมประกวดในเวที Intel ISEF2011) นอกจากนี้โครงงานดังกล่าวยังได้รับรางวัล Intel Best of Catagory Awards ในสาขา Environmental Management ซึ่งมีมูลค่าเงินรางวัล 5,000 เหรียญสหรัฐ และได้รับรางวัล Grand Awards อันดับที่ 1 ในสาขาเดียวกัน มูลค่าเงินรางวัล 3,000 เหรียญสหรัฐ ซึ่งชื่อของเยาวชนไทยทั้ง 3 คนนี้จะได้รับเกียรติให้นำไปตั้งเป็นชื่อดาวเคราะห์น้อย (Minor Planet) โดย Massachusetts Institute of Technology - Lincoln Laboratory, Ceres Connection รวมเงินรางวัลที่ได้รับถึง US$ 58,000
  • รางวัลที่ 4 Grand Award สาขาวัสดุศาสตร์ Engineering: Materials and Bioengineering ประเภททีม มูลค่าเงินรางวัล 500 เหรียญสหรัฐ ได้แก่ โครงงานวิทยาศาสตร์ เรื่อง ผลของฟิล์มมิวซิเลจจากเมล็ดแมงลักต่ออการยืดอายุการเก็บรักษาชมพู่หลังการ เก็บเกี่ยว ผู้พัฒนาคือ นายธนทรัพย์ ก้อนมณี นางสาววรดา จันทร์มุข นายศาสตรา พรหมอารักษ์ จากโรงเรียนจุฬาภรณราชวิทยาลัย จ.เพชรบุรี โดยมีนายนรินธเดช เจริญสมบัติ เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา ซึ่งโครงงานนี้เป็นโครงงานที่ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) คัดเลือกเข้าร่วมประกวดในเวที Intel ISEF2011

การแข่งขันประกวดโครงงานทางวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมระดับโลก Intel International Science and Engineering Fair หรือ Intel ISEF จัดขึ้นเป็นประจำทุกปีในช่วงเดือนพฤษภาคม โดยเยาวชนที่ชนะเลิศจากการประกวดโครงงานวิทยาศาสตร์ของสมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ และการประกวดโครงงานของนักวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์ (Young Scientist Competiton: YSC) ของศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งจะมีการประกวดในช่วงเดือนสิงหาคม และกุมภาพันธ์ของทุกปี ผลการแข่งขันในครั้งนี้เป็นที่น่ายินดีเป็นอย่างยิ่งที่นักเรียนไทยได้สร้างผลงานจนชนะใจกรรมการในระดับโลก คว้ารางวัล Intel Foundation Young Scientist Award จากเวที Intel ISEF 2011 ซึ่งปีนี้จัดเป็นครั้งที่ 62 และนักเรียนไทยได้รับรางวัลสูงอันดับที่ 2 รองจากรางวัล The Gordon E.Moore Award ผู้ได้รับรางวัลนี้จะได้รับทุนการศึกษา US$50,000 เป็นชาติที่ 2 ในเอเชียและเป็น "ประเทศแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้" ที่ได้รับรางวัลยิ่งใหญ่ของงาน ISEF นี้

คณะนักเรียนไทยทั้งหมด จะเดินทางกลับมาถึงท่าอากาศยานสุวรรณภูมิในวันอาทิตย์ที่ 15 พฤษภาคม 2554 เวลา 11.30 น. สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ โทร. 02-2185245 http://www.scisoc.or.th , คุณกุลประภา นาวานุเคราะห์ ผู้อำนวยการฝ่ายอาวุโสฯ ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กและคอมพิวเตอร์แห่งชาติ หรือเนคเทค 086-3090994 หรือ นายอรรถกร ศิริสุวรรณ หัวหน้างานประชาสัมพันธ์เนคเทค 081-5711535

หมายเหตุ : ข้อมูลเพิ่มเติม

1.โครงงานวิทยาศาสตร์ของ นายพรวสุ พงศ์ธีระวรรณ นางสาวธัญพิชชา พงศ์ชัยไพบูลย์ และนางสาวอารดา สังขนิตย์ จากโรงเรียนสุราษฎร์พิทยา จ.สุราษฎร์ธานี เคยไปคว้ารางวัล Awards อันดับที่ 4 ประเภททีม ในงานประกวดโครงงานวิทยาศาสตร์ระดับโลก Intel International Science and Engineering Fair 2009 ประเทศสหรัฐอเมริกา จากโครงงานการพัฒนาโครงงานหนังเทียมจากการพัฒนาเซลลูโลสเจล

2.ทีมโครงงานวิทยาศาสตร์ เรื่อง พลาสติกจากเกล็ดปลา (Bio-Based Packaging Plastics from Fish Scale) ได้รับรางวัลรวม US$58,000 หรือประมาณ 1,740,000 บาท Intel ISEF Best of Category Award, Environmental Management--$5,000.00; First Place Grand Award, Environmental Management--$3,000.00; First Place-Intel Foundation Young Scientist Award --$50,000.00

3. งาน Intel ISEF 2011 รวบรวมนักวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์จำนวนกว่า 1,545 คน จาก 65 ประเทศทั่วโลก หรือถ้าเฉพาะในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก มีนักเรียน 95 คน จาก 14 ประเทศ ส่ง 66 โครงงาน

  • ประเทศไทยได้รับรางวัลสูงสุดคือ 1st place Intel Foundation Young Scientist Award
  • มี 3 ชาติที่ได้รับรางวัล Best of Category คือ ไทย เกาหลี อินเดีย
  • มี 4 ชาติ ที่ได้รับรางวัล Grand Award อันดับที่ 1 คือ ไทย เกาหลี อินเดีย สิงคโปร์
  • มี 31 โครงงาน ได้รับรางวัล โดย 29 โครงงาน ได้รับรางวัล Grand Award และ 17 โครงงาน ได้รับรางวัล Special Award
  • นักเรียน 42 คน ได้รับรางวัล Grand Award และ นักเรียน 20 คน ได้รับรางวัล Special Award

สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net