รพ.นครพิงค์ศึกษาพบมารดารับการส่งเสริมเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ส่งผลทารกเกิดภาวะตัวเหลืองน้อยกว่ากลุ่มมารดา-ทารกได้รับการดูแลตามปกติ

25 Mar 2014
น.ส.ปัณฑิตา ศรีจันทร์ดร พยาบาลวิชาชีพ โรงพยาบาลนครพิงค์ จ.เชียงใหม่ นำเสนอผลการศึกษา เรื่อง “ผลของการส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ต่ออาการตัวเหลืองของทารกแรกเกิด ใน 48 ชั่วโมงแรกหลังคลอด” ในงานประชุมวิชาการ HA National Forum ครั้งที่ 15 เมื่อเร็วๆนี้ว่า ปัญหาตัวเหลืองในทารกแรกเกิดส่งผลให้มารดามีความวิตกกังวลสูงและอาจเลิกล้มความตั้งใจในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้ นอกจากนี้ พบว่าการดูแลทารกแรกเกิดในสถานพยาบาลในปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงทำให้ทารกแรกเกิดมีภาวะตัวเหลืองได้เพิ่มขึ้น เนื่องจากนโยบายในการส่งเสริมให้เลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวเพิ่มขึ้น แต่จำหน่ายทารกออกจากโรงพยาบาลเร็วขึ้น ทำให้มารดายังไม่ได้รับข้อมูลอย่างเพียงพอเกี่ยวกับการให้นมบุตร รวมถึงขาดการช่วยเหลือในการแก้ปัญหาเรื่องการให้นมบุตร ให้สมบูรณ์ก่อนออกจากโรงพยาบาล เป็นผลให้ทารกได้รับน้ำนมไม่เพียงพอและตัวเหลืองตามมา โดยโรงพยาบาลนครพิงค์พบสถิติทารกแรกเกิดมีภาวะตัวเหลือง ในปี 2555 ร้อยละ 41.52 หอผู้ป่วยพิเศษ 1/4ให้การดูแลมารดาหลังคลอดพบร้อยละ 45.34 ซึ่งจะเห็นได้ว่า ภาวะตัวเหลืองในทารกแรกเกิดในหอผู้ป่วยพิเศษมีจำนวนมาก

การศึกษาเรื่องนี้เพื่อลดภาวะตัวเหลืองของทารกแรกเกิด และให้มารดาหลังคลอดได้เห็นความสำคัญของประโยชน์การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ มีความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างถูกวิธี โดยทำการวิจัยในมารดาหลังคลอดและทารกที่เข้ารับการดูแลในหอผู้ป่วยพิเศษ ¼ ทารกมีสุขภาพแข็งแรงไม่มีความพิการหรือผิดปกติใดๆ เก็บข้อมูลจากมารดาและทารกทุกรายที่ได้รับการดูแลตามปกติ ระหว่างวันที่ 1 ตุลาคม -31 ธันวาคม 2555 และมารดาและทารกที่ได้รับการส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ระหว่างวันที่ 1 มกราคม-31 มีนาคม 2556 ดำเนินกิจกรรมการพัฒนาส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ โดยพยาบาลวิชาชีพในหอผู้ป่วย ¼ ร่วมประชุมเพื่อหาแนวทางในการให้ความรู้แก่มารดาหลังคลอดไปในแนวทางเดียวกัน ,เพิ่มพยาบาลวิชาชีพขึ้นปฏิบัติงานในเวรเช้าอีก 1 คน เพื่อให้ความรู้และดูแลมารดาหลังคลอดทุกราย ,กำหนดกระบวนการสอน ตาม วัน เวลา ที่เหมาะสม โดยให้ความรู้แก่มารดาหลังคลอด 3 ครั้ง คือ ครั้งที่ 1 พยาบาลเข้าให้ความรู้และช่วยเหลือมารดาหลังคลอดพร้อมญาติเป็นรายบุคคลในห้อง ทันทีที่เข้ารับการดูแลในหอผู้ป่วย พร้อมทั้งแจกเอกสารแนะนำการปฏิบัติตัวหลังคลอดและการดูแลบุตร ครั้งที่ 2 ให้ความรู้ในมารดาหลังคลอดรายกลุ่มเพื่อแนะนำ ซักถามและแก้ไขปัญหาที่เกิดจากการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ และการดูบุตร และครั้งที่ 3 โทรศัพท์ติดตามหลังจำหน่ายออกจากโรงพยาบาล โดยซักถามปัญหาน.ส.ปัณฑิตา กล่าวด้วยว่า ผลการศึกษา พบว่า ทารกกลุ่มที่มารดาได้รับความรู้มีระดับบิลิรูบินหรือสารที่ทำให้เกิดภาวะตัวเหลืองเฉลี่ย 10.285 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ ส่วนทารกกลุ่มที่ได้รับการดูแลตามปกติมีระดับบิลิรูบินเฉลี่ย 11.392 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ เมื่อนำกลุ่มตัวอย่างทั้งสองกลุ่มมาเปรียบเทียบการเกิดภาวะตัวเหลือง โดยใช้สถิติทดสอบ Independent t-test พบว่า ทารกกลุ่มที่มารดาได้รับการส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เกิดภาวะตัวเหลืองน้อยกว่ากลุ่มที่ได้รับการดูแลตามปกติ และผลของการส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ต่ออัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียว พบว่า อัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียว ในมารดาที่ได้รับการส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่มากกว่ากลุ่มที่ได้รับการดูแลตามปกติ

“ข้อเสนอแนะในการศึกษาครั้งต่อไป ควรมีการเตรียมความพร้อมของมารดาเกี่ยวกับการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ตั้งแต่ในระยะก่อนคลอด ภายหลังการศึกษาควรมีการติดตาม กำกับ ดูแล ปรับปรุงและประเมินผลอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้แผนการสอนมีความเหมาะสมกับหน่วยงานและเกิดผลลัพธ์ที่ดีต่อผู้ใช้บริการ”น.ส.ปัณฑิตากล่าว