ปภ.ประสาน 15 จังหวัด ภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคใต้ เฝ้าระวังและเตรียมพร้อมรับมืออุทกภัย น้ำป่าไหลหลาก และดินถล่มอย่างใกล้ชิดในระยะนี้

31 Jul 2018
กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ประสาน 15 จังหวัด ภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคใต้ เฝ้าระวังและเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์อุทกภัย น้ำป่าไหลหลาก และดินถล่มอย่างใกล้ชิดในระยะนี้ โดยจัดเจ้าหน้าที่เฝ้าระวัง พื้นที่ที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดดินถล่ม โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขา พื้นที่ที่มีภูเขาสูงชัน และพื้นที่ที่เคยเกิดดินโคลนถล่มมาก่อนแล้ว พร้อมติดตามสถานการณ์ปริมาณน้ำฝนสะสมในพื้นที่ รวมถึงจัดชุดเคลื่อนที่เร็วและเครื่องจักรกลด้านสาธารณภัยให้พร้อมปฏิบัติการเผชิญเหตุและช่วยเหลือผู้ประสบภัย ตลอด 24 ชั่วโมง

นายชยพล ธิติศักดิ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า จากการติดตามสภาวะอากาศ ปริมาณฝนสะสม สถานการณ์น้ำท่า และปัจจัยเสี่ยงเชิงพื้นที่ พบว่า ในช่วง 2 - 3 วันที่ผ่านมา ภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคใต้ในหลายพื้นที่มีฝนตกหนักถึงหนักมาก ทำให้มีภาวะเสี่ยงที่จะก่อให้เกิดน้ำป่าไหลหลาก เนื่องจากดินในหลายพื้นที่ เริ่มชุ่มน้ำ ทำให้ดินมีความอ่อนไหวที่อาจก่อให้เกิดดินถล่มในพื้นที่ได้โดยง่าย ปภ. จึงได้ประสาน 15 จังหวัด ภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคใต้ เฝ้าระวังอุทกภัย น้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะดินถล่มอย่างใกล้ชิด แยกเป็น ภาคเหนือ 5 จังหวัด ได้แก่ แม่ฮ่องสอน เชียงราย น่าน ตาก และเพชรบูรณ์ ภาคกลาง 5 จังหวัด ได้แก่ กาญจนบุรี สระแก้ว ระยอง จันทบุรี และตราด ภาคใต้ 5 จังหวัด ได้แก่ ระนอง พังงา กระบี่ ตรัง และสตูล รวมถึงศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขตในพื้นที่เสี่ยงภัย ให้เตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์อุทกภัย น้ำป่าไหลหลาก และดินถล่มอย่างใกล้ชิดในระยะนี้ โดยเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์ในพื้นที่ที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดดินถล่มของกรมทรัพยากรธรณี โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขา พื้นที่ที่มีภูเขาสูงชัน และพื้นที่ที่เคยเกิดดินโคลนถล่มมาก่อนแล้ว พร้อมติดตามสถานการณ์ปริมาณน้ำฝนสะสม 24 ชั่วโมงในพื้นที่ที่เกินกว่า 80 มิลลิเมตรอย่างใกล้ชิด รวมถึงจัดเตรียมชุดเคลื่อนที่เร็วและเครื่องมืออุปกรณ์ให้พร้อมปฏิบัติการเผชิญเหตุและช่วยเหลือผู้ประสบภัยทันที พร้อมทั้งแจ้งเตือนประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัยระมัดระวังอันตรายจากสถานการณ์ภัยในระยะนี้ สำหรับประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัย ขอให้ติดตามพยากรณ์อากาศและประกาศเตือนภัยอย่างใกล้ชิด พร้อมปฏิบัติตามคำเตือนอย่างเคร่งครัด ทั้งนี้ สามารถติดต่อแจ้งเหตุและติดต่อขอความช่วยเหลือได้ที่ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดสาขาในพื้นที่ หรือสายด่วนนิรภัย 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อประสานให้การช่วยเหลือโดยด่วนต่อไป