นายกฯติดตามความก้าวหน้าการดำเนินงานศูนย์การเรียนรู้ป่าวังจันทร์ ปตท.และร่วมพิธีเปิดหน้าดินก่อสร้าง “EECi เมืองนวัตกรรมใหม่”

27 Feb 2019
พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พร้อมคณะ ประกอบด้วย พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน นายพิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัล เพื่อเศรษฐกิจและสังคม รักษาการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี นายธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม และ นายสมชาย หาญหิรัญ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมพื้นที่วังจันทร์วัลเลย์ ตำบลป่ายุบใน อำเภอวังจันทร์ จังหวัดระยอง ซึ่งเป็นเขตพัฒนาด้านการศึกษา นวัตกรรม และเทคโนโลยีของกลุ่ม ปตท.. พร้อมทั้งติดตามความก้าวหน้าการดำเนินโครงการพัฒนาพื้นที่วังจันทร์วัลเลย์เพื่อเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EECi) โครงการภายใต้เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ซึ่งขณะนี้มีความคืบหน้าไปมาก โดย ปตท. จะเริ่มงานก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานและระบบสาธารณูปโภค และ สวทช.จะเริ่มก่อสร้างอาคารวิจัยและนวัตกรรม ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปี 2563 ในโอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีให้เกียรติทำพิธีเปิดหน้าดิน (Groundbreaking Ceremony) เพื่อเริ่มงานก่อสร้าง และได้ชมทัศนียภาพพื้นที่ EECi ในระยะไกลจากที่สูง ณ หอชมวิว รวมถึงเยี่ยมชมโรงเรียนกำเนิดวิทย์ (KVIS) สถาบันวิทยสิริเมธี (VISTEC) และศูนย์เรียนรู้ป่าวังจันทร์ ปตท. โดยมี นายสุรศักดิ์ เจริญศิริโชติ ผู้ว่าราชการจังหวัดระยอง นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และคณะผู้บริหาร ปตท. ให้การต้อนรับ
นายกฯติดตามความก้าวหน้าการดำเนินงานศูนย์การเรียนรู้ป่าวังจันทร์ ปตท.และร่วมพิธีเปิดหน้าดินก่อสร้าง “EECi เมืองนวัตกรรมใหม่”

นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ ปตท.. กล่าวว่า ปตท. และสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ได้ประสานความร่วมมือเพื่อพัฒนา EECi ให้เป็นเมืองนวัตกรรมใหม่ที่ใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ในการขับเคลื่อนประเทศไทยสู่ไทยแลนด์ 4.0 โดย ปตท.มีแผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบสาธารณูปโภคบนพื้นที่ 3,455 ไร่ ของ EECi ให้มีความทันสมัย ในรูปแบบ Smart Natural Innovation Platform เอื้อต่อการสร้างระบบนิเวศนวัตกรรม มุ่งเน้นการสร้างเครือข่ายงานวิจัยและพัฒนานวัตกรรมครบวงจร พร้อมถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่ระดับภูมิภาคและระดับประเทศ รองรับการขยายผลงานวิจัยสู่เชิงพาณิชย์ ตลอดจนพัฒนาบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม เพื่อดึงดูดการลงทุนจากบริษัทชั้นนำระดับโลก

"ตลอดระยะเวลากว่า 40 ปี กลุ่ม ปตท. ให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการความยั่งยืน 3 ด้านอย่างสมดุล (หลัก 3P) ได้แก่ การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ชุมชน และสังคม (People) การอนุรักษ์ทรัพยากร ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (Planet) และการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน (Prosperity) สำหรับโครงการพัฒนาพื้นที่ EECi นี้ ปตท. ได้เล็งเห็นถึงศักยภาพและความเชี่ยวชาญทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของ กลุ่ม ปตท. จึงพร้อมให้การสนับสนุนนโยบายการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของรัฐบาลเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน โดย ปตท. มุ่งหวังให้โรงเรียนกำเนิดวิทย์ และสถาบันวิทยสิริเมธี ซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่ EECi เป็นแหล่งกำเนิดบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ซึ่งจะเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนางานวิจัยนวัตกรรมชั้นสูง เอื้อต่อการสร้างระบบนิเวศนวัตกรรม (Innovation Ecosystem) ตลอดจนมีบทบาทสำคัญในการสร้าง Innovation Platform และ Smart Community เพื่อให้เกิดการพัฒนาพื้นที่ EECi อย่างยั่งยืน อันจะช่วยยกระดับขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศไทย และพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนอย่างยั่งยืนตามนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ของรัฐบาล อันเป็นเป้าหมายสำคัญของการพัฒนาเศรษฐกิจของชาติให้มั่นคงอีกด้วย" นายชาญศิลป์ กล่าวเสริมในตอนท้าย

นายกฯติดตามความก้าวหน้าการดำเนินงานศูนย์การเรียนรู้ป่าวังจันทร์ ปตท.และร่วมพิธีเปิดหน้าดินก่อสร้าง “EECi เมืองนวัตกรรมใหม่” นายกฯติดตามความก้าวหน้าการดำเนินงานศูนย์การเรียนรู้ป่าวังจันทร์ ปตท.และร่วมพิธีเปิดหน้าดินก่อสร้าง “EECi เมืองนวัตกรรมใหม่”