สมาพันธ์ทันตแพทย์โลก (FDI World Dental Federation: FDI) เผยแพร่รายงานสมุดปกขาวว่าด้วยการดื้อยาปฏิชีวนะ เนื่องในสัปดาห์รณรงค์สร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับการใช้ยาปฏิชีวนะ (World Antimicrobial Awareness Week)
ผลการศึกษาล่าสุดที่เผยแพร่ทางวารสาร British Dental Journal (BDJ) ในวันนี้ ระบุว่า การล็อกดาวน์ทั่วประเทศอังกฤษรอบแรกเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ได้ก่อให้เกิดผลพวงที่ไม่ได้ตั้งใจ นั่นคือ ทันตแพทย์จ่ายยาปฏิชีวนะให้คนไข้เพิ่มขึ้นถึง 25%
การดื้อยาปฏิชีวนะเป็นปัญหาระดับโลกที่คุกคามสุขภาพและการเงิน เนื่องจากทำให้หายป่วยช้า ต้องอยู่โรงพยาบาลนานขึ้น และมีอัตราการเสียชีวิตสูงขึ้น องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ตอกย้ำความเร่งด่วนในการจัดการกับปัญหาการดื้อยาปฏิชีวนะ ด้วยการผนวกประเด็นนี้ไว้ใน 5 แนวทางที่จะนำไปสู่สุขภาพและสุขภาวะที่ดีทั่วโลก การดื้อยาปฏิชีวนะเป็นปัญหาที่ส่งผลต่อทุกคนและต้องจัดการอย่างเร่งด่วน หากการดื้อยาปฏิชีวนะยังคงเพิ่มขึ้น คาดว่าเชื้อดื้อยาปฏิชีวนะจะเป็นสาเหตุอันดับหนึ่งของการเสียชีวิตทั่วโลกภายใน 30 ปีข้างหน้า
ทั้งนี้ WHO เตรียมจัดงานสัปดาห์รณรงค์สร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับการใช้ยาปฏิชีวนะ ระหว่างวันที่ 18-24 พฤศจิกายนนี้
ยาปฏิชีวนะไม่สามารถรักษาอาการปวดฟัน โรคติดเชื้อของฟันส่วนใหญ่ตอบสนองต่อการรักษาทางทันตกรรมด้วยการกำจัดต้นตอที่ทำให้เกิดการติดเชื้อโดยไม่ต้องใช้ยาปฏิชีวนะ ในกรณีปกติทั่วไป การใช้ยาปฏิชีวนะเพียงอย่างเดียวในการรักษาไม่ใช่วิธีที่เหมาะสม และการใช้ยาปฏิชีวนะโดยไม่จำเป็นจะทำให้เชื้อดื้อยามากขึ้น
"ยาปฏิชีวนะเป็นยาช่วยชีวิต ดังนั้น ยาปฏิชีวนะต้องได้ผลเมื่อคนไข้จำเป็นต้องใช้จริง ๆ" Dr. Wendy Thompson นักวิชาการด้านทันตกรรมขั้นพื้นฐานจากมหาวิทยาลัยแมนเชสเตอร์ ซึ่งเป็นสมาชิกของ FDI ABR Working Group และผู้เขียนรายงานผลการศึกษานี้ กล่าว
"เชื้อที่ดื้อยาปฏิชีวนะก่อให้เกิดความเสี่ยงอันใหญ่หลวงต่อความปลอดภัยของคนไข้ ด้วยเหตุนี้ การที่ทันตแพทย์จ่ายยาปฏิชีวนะให้คนไข้เพิ่มขึ้นอย่างมาก (เพิ่มขึ้นกว่า 25% ในช่วงเดือนเมษายน-มิถุนายน) จึงเป็นสิ่งที่น่าวิตกกังวลอย่างยิ่ง อันที่จริงการจ่ายยาปฏิชีวนะลดลงอย่างต่อเนื่องมานานหลายปีแล้ว แต่การจำกัดการรักษาทางทันตกรรมช่วงโควิด-19 ส่งผลให้การจ่ายยาปฏิชีวนะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และเราต้องป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นอีกหลังจากที่อังกฤษประกาศล็อกดาวน์ทั่วประเทศรอบสอง"
"เราอยู่ในช่วงเวลาที่ท้าทายอย่างยิ่ง คนไข้ที่รอรับการรักษามักได้รับยาปฏิชีวนะมากกว่าคนไข้ที่ได้รับการรักษาอย่างเหมาะสมทันที เมื่อการรักษาทางทันตกรรมเข้าสู่ "วิถีใหม่" ในยุคโควิด-19 เราจำเป็นต้องสร้างความเชื่อมั่นว่าผู้ป่วยจะเข้าถึงการรักษาทางทันตกรรมที่มีคุณภาพสูงอย่างรวดเร็ว และใช้ยาปฏิชีวนะอย่างเหมาะสม"
โรคระบาดที่ค่อย ๆ คืบคลาน
ด้วยเล็งเห็นถึงความเร่งด่วนของสถานการณ์ที่เกิดขึ้น สมาพันธ์ทันตแพทย์โลกจึงเผยแพร่รายงานสมุดปกขาวในหัวข้อ "บทบาทสำคัญของทันตแพทย์ในการลดการดื้อยาปฏิชีวนะ" ซึ่งได้รับการสนับสนุนโดยข้อมูลมากมายจากห้องสมุดออนไลน์ และมาพร้อมหลักสูตรการเรียนการสอนออนไลน์ที่รองรับผู้เรียนจำนวนมาก (MOOC) โดยรายงานสมุดปกขาวนี้เป็นก้าวสำคัญที่ตอกย้ำว่าทันตแพทย์ทั่วโลกต้องตระหนักถึงบทบาทของตนเองในการป้องกันและรักษาโรคติดเชื้อของฟัน และจ่ายยาปฏิชีวนะอย่างเหมาะสม
"เรากำลังมองดูโรคระบาดที่ค่อย ๆ คืบคลาน และเราจำเป็นต้องช่วยกันอย่างเร่งด่วนเพื่อชะลอความเคลื่อนไหวนี้" Dr. Gerhard K. Seeberger ประธานของ FDI กล่าว
"ในอนาคต บรรดาทันตแพทย์มีความรับผิดชอบอย่างชัดเจนในการมีส่วนร่วม ตั้งปณิธาน และลงมือสนับสนุนความพยายามทั้งในระดับท้องถิ่น ระดับชาติ และระดับโลก เพื่อจัดการกับปัญหาการดื้อยาปฏิชีวนะ"
- สามารถดูรูปภาพได้ที่ AP Images (http://www.apimages.com) -
ติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่
Michael Kessler
ฝ่ายประชาสัมพันธ์ของ FDI
มือถือ: + 34 655 792 699
อีเมล: [email protected]
เกี่ยวกับสมาพันธ์ทันตแพทย์โลก
สมาพันธ์ทันตแพทย์โลก เป็นตัวแทนของทันตแพทย์กว่า 1 ล้านคนทั่วโลก พันธกิจขององค์กรคือการเป็นผู้นำในการทำให้ประชากรโลกมีสุขภาพช่องปากที่ดี สมาชิกขององค์กรประกอบด้วยกลุ่มผู้เชี่ยวชาญและสมาคมทันตกรรมระดับชาติกว่า 200 แห่ง ในกว่า 130 ประเทศ สามารถดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.fdiworlddental.org
เกี่ยวกับ GSK
GSK คือบริษัทด้านการดูแลสุขภาพระดับโลกที่ขับเคลื่อนด้วยวิทยาศาสตร์ จุดมุ่งหมายหลักของบริษัทคือการช่วยให้ผู้คนทำสิ่งต่าง ๆ ได้มากขึ้น รู้สึกดีขึ้น และมีชีวิตยืนยาวขึ้น ทั้งนี้ GSK ให้การสนับสนุนทางการเงินในการพัฒนาห้องสมุดออนไลน์เพื่อสนับสนุน MOOC และรายงานสมุดปกขาวของ FDI
ทันตแพทยสมาคมแห่งประเทศไทยฯ ร่วมกับภาคีเครือข่ายสุขภาพและทันตสาธารณสุข เชิญชวนคนไทยทุกวัยดูแลสุขภาพช่องปาก เนื่องในวันสุขภาพช่องปากโลก (World Oral Health Day) วันที่ 20 มีนาคม 2568 พร้อมเผยข้อมูลจากสมาพันธ์ทันตแพทย์โลกว่า สุขภาพช่องปากที่ดีมีส่วนช่วยส่งเสริมสุขภาพจิต ลดความเครียด และลดความเสี่ยงต่อภาวะซึมเศร้า ตามที่สมาพันธ์ทันตแพทย์โลก (FDI World Dental Federation) ได้กำหนดให้วันที่ 20 มีนาคม ของทุกปี เป็นวันสุขภาพช่องปากโลก (World Oral Health Day) ทันตแพทยสมาคมแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์
กรมอนามัย รณรงค์วันสุขภาพช่องปากโลก ชวนคนไทยตรวจสุขภาพช่องปากทุก 6 เดือน
—
กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ชวนคนไทยใส่ใจดูแลสุขภาพช่องปาก ด้วยการแปรงฟันสูตร 2 ...