ปูทางไปสู่การพัฒนาประมวลหลักปฏิบัติที่ดี
- ดูภาพได้ที่เว็บไซต์ AP Images (http://www.apimages.com) -
สมาพันธ์ทันตแพทย์โลก (FDI World Dental Federation) ประกาศแถลงการณ์ฉันทามติว่าด้วยการดูแลสุขภาพช่องปากอย่างยั่งยืนต่อสิ่งแวดล้อม (Consensus Statement on Environmentally Sustainable Oral Healthcare) เป็นครั้งแรก โดยมีเป้าหมายเพื่อผลักดันให้วงการทันตกรรมใช้แนวปฏิบัติที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น และท้ายที่สุดนำไปสู่การลดคาร์บอนฟุตพริ้นท์ในภาคส่วนนี้
แถลงการณ์ฉันทามติดังกล่าวได้รับการเผยแพร่ในวันนี้ ณ การประชุมสุดยอดสมัยพิเศษที่จัดขึ้นโดยสมาพันธ์ทันตแพทย์โลก ซึ่งรวบรวมผู้ที่มีบทบาทสำคัญจากหลากหลายภาคส่วน ทั้งผู้นำในอุตสาหกรรม ผู้ประกอบวิชาชีพทันตกรรม ผู้เชี่ยวชาญด้านวิชาการ ผู้มีอำนาจในการออกกฎหมาย และสมาคมทันตกรรม
ศาสตราจารย์ อิห์ซาน เบน ยาห์ยา (Ihsane Ben Yahya) ประธานสมาพันธ์ทันตแพทย์โลก และคณบดีคณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์สุขภาพโมฮัมเหม็ด เดอะ ซิกซ์ (Mohammed VI University of Health Sciences) ในเมืองคาซาบลังกา ประเทศโมร็อกโก กล่าวว่า "หลายคนคงรู้สึกแปลกใจเมื่อได้รู้ว่าแวดวงสุขภาพปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากถึง 5% ของทั้งหมดทั่วโลก และภาคทันตกรรมก็มีส่วนสำคัญ"
"ภาคทันตกรรมต้องมีส่วนรับผิดชอบในการลดผลกระทบที่มีต่อสิ่งแวดล้อม และแถลงการณ์ฉันทามติในวันนี้ก็ถือเป็นก้าวแรกที่ยิ่งใหญ่ในการบรรลุเป้าหมายดังกล่าว โดยแถลงการณ์ฉันทามติสะท้อนให้เห็นว่า ชุมชนทันตกรรมมีความตระหนักมากขึ้นว่าเราต้องยกระดับสุขภาพช่องปากด้วยวิธีการที่ยั่งยืนและสอดคล้องกับเป้าหมายขององค์การสหประชาชาติ สุขภาพช่องปากที่ดีขึ้นหมายถึงโลกที่ดีขึ้น"
การดูแลสุขภาพช่องปากมีส่วนในการสร้างภาระต่อสิ่งแวดล้อมด้วยการเพิ่มมลพิษทางอากาศ อันเป็นผลมาจากการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากการเดินทางและการขนส่ง, การเผาขยะ, การขาดบรรจุภัณฑ์ที่สามารถรีไซเคิลได้, การใช้ก๊าซเพื่อให้เกิดอาการชา เช่น ไนตรัสออกไซด์ และการใช้น้ำในปริมาณมาก
แถลงการณ์ฉันทามติได้ระบุถึงปัจจัยอันซับซ้อนที่ขับเคลื่อนพฤติกรรมและแนวปฏิบัติในปัจจุบัน พร้อมกับแนะนำกลยุทธ์ในการแก้ไขโดยอ้างอิงแนวคิด 4 R ได้แก่ Reduce (ลดการใช้), Recycle (นำกลับมาใช้ใหม่), Reuse (ใช้ซ้ำ) และ Rethink (คิดใหม่)
แม้ว่าผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมบางอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ เพราะมีส่วนเกี่ยวข้องกับการเข้าถึงการตรวจรักษาทางทันตกรรมเพื่อส่งเสริมสุขภาพช่องปากที่ดีและลดความเหลื่อมล้ำในการดูแลสุขภาพช่องปาก แต่ก็สามารถพยายามหลีกเลี่ยงให้ได้มากที่สุด ด้วยการดูแลรักษาสุขภาพช่องปากให้ดีอยู่เสมอ โดยเน้นไปที่การป้องกันพร้อมกับส่งเสริมสุขอนามัยในช่องปากที่ดี การรับประทานอาหารที่มีน้ำตาลน้อย และการงดสูบบุหรี่
ศาสตราจารย์ นิโคลัส มาร์ติน ประธานคณะทำงานโครงการความยั่งยืนในวงการทันตกรรมของสมาพันธ์ทันตแพทย์โลก (FDI Sustainability in Dentistry Task Team) และศาสตราจารย์คลินิกสาขาทันตกรรมบูรณะ วิทยาลัยทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชฟฟิลด์ สหราชอาณาจักร กล่าวว่า "การป้องกันย่อมดีกว่าการรักษา โดยถือเป็นวิธีที่ได้ผลดีที่สุดในการลดการแทรกแซงทางการแพทย์และลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม"
"เมื่อจำเป็นต้องทำการรักษา การรักษาสุขภาพช่องปากควรให้ความสำคัญกับการอุดฟันที่มีความคงทน โดยใช้ผลิตภัณฑ์และวัสดุคุณภาพสูงซึ่งอยู่ได้นานกว่า และ/หรือ ต้องทำใหม่น้อยกว่า"
ทั้งนี้ แถลงการณ์ฉันทามติได้รับการสนับสนุนจากบทวิจารณ์ขนาดสั้นในหัวข้อ "การดูแลสุขภาพช่องปากอย่างยั่งยืน แนวปฏิบัติร่วมกันของทุกฝ่าย" (Sustainable Oral Healthcare - A Joint Stakeholder Approach) ซึ่งได้รับการเผยแพร่ในวันนี้ทางวารสารอินเตอร์เนชันแนล เดนทัล เจอร์นัล (International Dental Journal)
สำหรับข้อมูลเพิ่มเติมกรุณาติดต่อ
ไมเคิล เคสส์เลอร์ (Michael Kessler)
ฝ่ายสื่อมวลชนสัมพันธ์ของสมาพันธ์ทันตแพทย์โลก
มือถือ: + 34 655 792 699
อีเมล: [email protected]
เกี่ยวกับสมาพันธ์ทันตแพทย์โลก
สมาพันธ์ทันตแพทย์โลก เป็นตัวแทนของทันตแพทย์กว่า 1 ล้านคนทั่วโลก สมาชิกขององค์กรประกอบด้วยกลุ่มผู้เชี่ยวชาญและสมาคมทันตกรรมระดับชาติกว่า 200 แห่ง ในกว่า 130 ประเทศ พันธกิจขององค์กรคือการเป็นผู้นำในการทำให้ประชากรโลกมีสุขภาพช่องปากที่ดี สามารถดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.fdiworlddental.org/
เกี่ยวกับโครงการความยั่งยืนในวงการทันตกรรม
โครงการความยั่งยืนในวงการทันตกรรม (Sustainability in Dentistry) ของสมาพันธ์ทันตแพทย์โลก ริเริ่มขึ้นเพื่อส่งเสริมและสร้างแรงบันดาลใจให้ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในวงการทันตกรรม โดยมุ่งเป้าไปที่ผู้ปฏิบัติงานด้านทันตกรรม ผู้ป่วย และห่วงโซ่อุปทาน โครงการนี้จะสร้างชุดเครื่องมือและทรัพยากรสำหรับผู้ปฏิบัติงานและผู้ป่วยเพื่อให้เกิดความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมมากขึ้น โดยมีการจัดทำแถลงการณ์ฉันทามติ (Consensus Statement) ภายใต้ความร่วมมือของหลายฝ่าย ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาประมวลหลักปฏิบัติที่ดี (Code of Good Practice) เพื่อให้แนวทางและเป้าหมายในการจัดซื้อจัดจ้างอย่างยั่งยืน และจะมีการลงนามโดยพันธมิตรทั่วทั้งห่วงโซ่อุปทาน
โครงการนี้ได้รับการสนับสนุนโดยพันธมิตรผู้ร่วมก่อตั้งของเรา ได้แก่ คอลเกต (Colgate), จีเอสเค คอนซูมเมอร์ เฮลธ์แคร์ (GSK Consumer Healthcare), เดนท์สพลาย ซิโรน่า (Dentsply Sirona), พรอคเตอร์ แอนด์ แกมเบิล (Procter & Gamble) และทีพี (TePe) สามารถดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.fdiworlddental.org/sustainability-dentistry
ทันตแพทยสมาคมแห่งประเทศไทยฯ ร่วมกับภาคีเครือข่ายสุขภาพและทันตสาธารณสุข เชิญชวนคนไทยทุกวัยดูแลสุขภาพช่องปาก เนื่องในวันสุขภาพช่องปากโลก (World Oral Health Day) วันที่ 20 มีนาคม 2568 พร้อมเผยข้อมูลจากสมาพันธ์ทันตแพทย์โลกว่า สุขภาพช่องปากที่ดีมีส่วนช่วยส่งเสริมสุขภาพจิต ลดความเครียด และลดความเสี่ยงต่อภาวะซึมเศร้า ตามที่สมาพันธ์ทันตแพทย์โลก (FDI World Dental Federation) ได้กำหนดให้วันที่ 20 มีนาคม ของทุกปี เป็นวันสุขภาพช่องปากโลก (World Oral Health Day) ทันตแพทยสมาคมแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์
กรมอนามัย รณรงค์วันสุขภาพช่องปากโลก ชวนคนไทยตรวจสุขภาพช่องปากทุก 6 เดือน
—
กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ชวนคนไทยใส่ใจดูแลสุขภาพช่องปาก ด้วยการแปรงฟันสูตร 2 ...