วศ. ร่วมมือ มรภ.ภูเก็ต พัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารรูปแบบใหม่ ด้วยศาสตร์ Molecular Gastronomy ยกระดับการเพิ่มมูลค่าวัตถุดิบในท้องถิ่น

10 Feb 2022

วันที่ 8 - 9 กุมภาพันธ์ 2565 กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดยกรมวิทยาศาสตร์บริการ (วศ.) กองเทคโนโลยีชุมชน โดยทีมนักวิทยาศาสตร์ของกลุ่มวิจัยและพัฒนาอาหารแปรรูป จัดฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการหลักสูตร "การพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารโดยใช้ศาสตร์การปรุงอาหารแนวใหม่ : Molecular Gastronomy" วัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถนำองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ไปประยุกต์ใช้ในการพัฒนากระบวนการผลิต ยกระดับคุณภาพผลิตภัณฑ์ ภายใต้แนวคิด Kitchen Experiments สู่การต่อยอดนวัตกรรมองค์ความรู้ ได้ผลิตภัณฑ์รูปแบบใหม่ๆ เกิดการสร้างรายได้ในชุมชนเพิ่มขึ้น มีผู้ประกอบการให้ความสนใจเข้าร่วมจำนวน 35 คน ณ มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต จังหวัดภูเก็ต การดำเนินงานที่สำคัญ วศ. บูรณาการความร่วมมือกับ มรภ.ภูเก็ต เพื่อส่งเสริมสนับสนุนการใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม (วทน.) เพิ่มมูลค่าวัตถุดิบและผลิตภัณฑ์ชุมชน ในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต พังงา และกระบี่ โดยสำรวจความต้องการของผู้ประกอบการอาหารในพื้นที่ พบว่ามีความต้องการเพิ่มมูลค่าวัตถุดิบในท้องถิ่น

วศ. ร่วมมือ มรภ.ภูเก็ต พัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารรูปแบบใหม่ ด้วยศาสตร์ Molecular Gastronomy ยกระดับการเพิ่มมูลค่าวัตถุดิบในท้องถิ่น

วศ. จึงได้พัฒนาด้าน Food Innovation ด้วยการประยุกต์ใช้ วทน. เพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพ มีเอกลักษณ์ และรูปแบบที่น่าสนใจ ดึงดูดผู้บริโภค โดยเฉพาะศาสตร์การปรุงอาหารแนวใหม่ : Molecular Gastronomy (MG) ซึ่งเป็นการประยุกต์หลักการทางวิทยาศาสตร์ เคมี ฟิสิกส์ มาใช้ในกระบวนการแปรรูปอาหาร เพื่อช่วยปรับปรุงคุณภาพ ลดระยะเวลากระบวนการผลิตผลิตภัณฑ์อาหาร สร้างอาหารรูปแบบใหม่ และคงคุณค่าทางอาหารไว้ใกล้เคียงของเดิม ได้แก่ การแปรรูปเนื้อสัตว์ด้วยวิธีซูสวีด (Sous - Vide) เพื่อปรับปรุงลักษณะเนื้อสัมผัสและลดระยะเวลาในการปรุงอาหาร วิธีการแช่แข็งแบบรวดเร็ว (Flash Frozen) ร่วมกับเทคนิคการตกผลึกน้ำตาลและขึ้นรูปเป็นโพรงคล้ายรังผึ้ง: Honey Comb การขึ้นรูปผลิตภัณฑ์โดยใช้เทคนิคเจลหุ้มเป็นทรงกลม (Spherification) และการขึ้นรูปผลิตภัณฑ์โดยใช้สตาร์ชเป็นตัวยึดเกาะเป็นภาชนะที่สามารถทานได้ (Edible cups) ที่กำลังได้รับความนิยม เพื่อออกแบบอาหารให้มีความหลากหลาย และเปิดประสบการณ์ใหม่ในการรับประทานอาหารของผู้บริโภค

ทั้งนี้ กองเทคโนโลยีชุมชน กรมวิทยาศาสตร์บริการิ ร่วมกับคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต จะร่วมผลักดันและติดตามผลลัพธ์ที่ได้จากการเข้าร่วมฝึกอบรม เพื่อส่งเสริมผู้ประกอบการให้นำองค์ความรู้ไปพัฒนาต่อยอด ตลอดจนสามารถนำวัตถุดิบท้องถิ่นมาสร้างมูลค่าเพิ่ม ทันต่อการเปลี่ยนแปลงสถานการณ์ในปัจจุบันและอนาคต ส่งผลให้สามารถพึ่งตนเอง สร้างอาชีพ และสร้างรายได้ให้กับชุมชนต่อไป

วศ. ร่วมมือ มรภ.ภูเก็ต พัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารรูปแบบใหม่ ด้วยศาสตร์ Molecular Gastronomy ยกระดับการเพิ่มมูลค่าวัตถุดิบในท้องถิ่น