ยุค AI มาถึงแล้ว ประเทศไทยพร้อมรับมือ? จุฬาฯ เตรียมรับการเปลี่ยนแปลง รุดหน้านำ Generative AI ในการเรียนการสอน

16 Aug 2023

จุฬาฯ นำร่อง Generative AI ในการเรียนการสอน แนะยุทธศาสตร์ชาติ ส่งเสริม AI Literacyให้คนเข้าใจและใช้ AI เพิ่มประสิทธิภาพงาน ย้ำมนุษย์ต้องเพิ่มศักยภาพและสมรรถนะตัวเอง ก่อนถูก AI ทดแทนและทิ้งไว้ข้างหลัง

ยุค AI มาถึงแล้ว ประเทศไทยพร้อมรับมือ? จุฬาฯ เตรียมรับการเปลี่ยนแปลง รุดหน้านำ Generative AI ในการเรียนการสอน

เทคโนโลยี AI หรือ ปัญญาประดิษฐ์ ไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีการเปิดตัว Open AI อย่าง ChatGPT หุ่นยนต์แช็ตบ็อต (Al Chatbot) ที่สามารถพูดคุยโต้ตอบกับมนุษย์ได้อย่างเป็นธรรมชาติ -- เรื่องนี้สร้างความตื่นเต้นให้กับหลายคน ที่เห็นโอกาสในการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี แต่ก็อาจสร้างความตื่นตระหนกให้กับหลายคนด้วยเช่นกันว่าความสามารถของ AI ในระดับนี้จะเป็นการคุกคามหรือริดรอนมนุษย์ในด้านใดบ้าง อย่างที่มักได้ยินคำถามว่า "AI จะแย่งงานมนุษย์?" "AI เก่งกว่าคน?" "AI ดูดข้อมูล?"

ไม่ว่าจะรู้สึกอย่างไร ความจริงที่ปฏิเสธไม่ได้คือโลกเข้าสู่ยุค AI แล้ว! ประเทศไทยพร้อมรับมือไหม? เป็นคำถามและชื่อของหนึ่งในสองงานเสวนาวิชาการที่จุฬาฯ จัดขึ้นเมื่อไม่นานนี้ ส่วนอีกงานหนึ่งชื่อ "จุดยืนจุฬาฯ นำการศึกษารุดหน้าด้วย Generative AI" การเสวนาวิชาการทั้งสองงานมีเป้าหมายเพื่อชี้ชวนให้คนในสังคมเห็นโอกาสในการใช้ประโยชน์จาก AI รวมถึงนำเสนอข้อคิดและแนวทางในการเตรียมความพร้อมในการอยู่ในยุค AI

AI Literacy หนึ่งใน 3 สมรรถนะสำคัญของมนุษย์ในอนาคต

ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.วรศักดิ์ กนกนุกุลชัย รักษาการผู้อำนวยการสถาบันนวัตกรรมบูรณาการ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ราชบัณฑิต แสดงทัศนะในงานเสวนาวิชาการ "ยุคเอไอได้มาถึงแล้ว ประเทศไทยพร้อมรับมือไหม?" ว่า "AI จะอยู่กับเราตลอดไป หากเราไม่พัฒนาคนให้มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับ AI เราจะก้าวไม่ทันโลก โดยเฉพาะอย่างยื่ง ในอนาคตหาก AI เข้ามามีบทบาทในอุตสาหกรรมและการพัฒนาอุปกรณ์ต่าง ๆ มากขึ้น AI จะสามารถสร้างงานได้อย่างมหาศาล โดยไม่ต้องใช้แรงงานคน ซึ่งถ้าเราไม่มีการเตรียมคนให้มีความรู้เรื่อง AI ในอนาคตอาจทำให้คนตกงานได้"

หลายประเทศในเอเชีย เช่น จีน เกาหลีใต้ สิงคโปร์ และญี่ปุ่น ได้มีการเตรียมความพร้อมในเรื่องนี้แล้ว ส่วนประเทศไทย ศ.กิตติคุณ ดร.วรศักดิ์ กล่าว่า "ถึงเวลาแล้วที่ทุกภาคส่วนของสังคมไทยต้องหันมาให้ความสนใจกับการกำหนดหา "ที่ยืนของประเทศไทยในโลกแห่งอนาคต" เพื่อเผชิญกับพายุแห่งการเปลี่ยนแปลงของโลกยุค AI"

"AI Literacy จะเป็นหนึ่งในสามสมรรถนะพื้นฐาน ที่เยาวชนต้องเรียนรู้ นอกจากสมรรถนะทางด้านภาษาและการคำนวณ"

ศ.กิตติคุณ ดร.วรศักดิ์ ยังกล่าวอีกว่าจากวันนี้ไปนับเป็นช่วงรอยต่อที่สำคัญและเป็นโจทย์อันท้าทายสำหรับจุฬาฯ ที่จะปูพรมพัฒนาหลักสูตรการเรียนรู้ เพื่อให้ประชากรไทยมี Al Literacy อีกทั้งต้องปลูกฝังระบบนิเวศการศึกษาและการวิจัยด้านเทคโนโลยี AI

AI แทนที่ หรือ เสริม ศักยภาพมนุษย์

ในปัจจุบัน เราได้เห็นแล้วว่า AI มีความสามารถหลากหลาย ที่เสมอเหมือนหรืออาจจะล้ำกว่ามนุษย์ในหลายเรื่อง โดยเฉพาะเรื่องที่ต้องการความแม่นยำสูง นอกจากนี้ AI ยังมีสมรรถนะในการพัฒนาความฉลาดและความสามารถตัวเองตลอดเวลา - ทำให้เกิดคำถามถึงความมั่นคงด้านอาชีพและการดำรงอยู่ของมนุษย์

คำถามที่มักพบบ่อยในการเสวนาและการอบรมในประเด็นที่เกี่ยวกับ AI ก็อย่างเช่น "AI จะแย่งงานเรากันหมดไหม?" หรือ "คนจะยังมีประโยชน์อยู่ไหม หากเทคโนโลยีอย่าง AI สามารถเข้ามาทำหน้าที่แทนในหลาย ๆ ตำแหน่ง" หรือ"แล้วคนจะทำอะไร"

รองศาสตราจารย์ ดร.วิโรจน์ อรุณมานะกุล ผู้อำนวยการสถานบันภาษาไทยสิรินธร จุฬาฯ ชวนให้เรามอง AI ในมุมบวกที่จะเข้ามาเสริมศักยภาพมนุษย์

"การเข้ามาของ Generative AI และตัวอย่างการใช้ ChatGPT ทำให้การทำงานของเราหลายอย่างสะดวกและรวดเร็วขึ้น เหมือนมีคนคอยช่วยงาน ให้งานที่เคยต้องทำเองแต่เดิม เสร็จได้เร็วขึ้นและดีขึ้น"

แล้วมนุษย์จะทำอะไร ?

"เราอาจจะต้องขยายขอบเขตความรับผิดชอบของตัวเองให้ขยับไปสู่งานอื่นหรืองานใหม่ ๆ ที่ยากขึ้น เราคงไม่อาจทำงานแบบที่เป็นงานประจำ หรือทำอะไรเหมือนเดิมทุกวี่วันได้ คงต้องมองงานเป็นโอกาสในการเรียนรู้ การทำเช่นนี้ทำให้ทุกคนต้องหมั่นพัฒนาตนเองให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี"

รศ.ดร.วิโรจน์ ยกตัวอย่างผู้ที่ทำงานด้านการบริหารธุรการ ที่แต่เดิมอาจเน้นไปที่งานเอกสาร จัดทำข้อมูลต่าง ๆ แต่ในเวลานี้ ควรต้องเริ่มมองงานส่วนบริหารวิเคราะห์ข้อมูลให้มากขึ้น เริ่มทำความเข้าใจข้อมูลและใช้ AI ให้วิเคราะห์ข้อมูลเบื้องต้นให้เพื่อนำเสนอผู้บริหาร จึงจะยังคงบทบาทและความสำคัญในองค์กรได้

สอดคล้องกับ รศ.ดร.วิโรจน์ ที่เห็นการมาของ AI เป็นโอกาสที่เร่งให้มนุษย์ขวนขวายพัฒนาศักยภาพตนเอง ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ศุภวัฒน์ หิรัญธนวิวัฒน์ จากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาฯ ก็เคยกล่าวในบทความ "AI วาดรูป เทรนด์การสร้างผลงานศิลปะ แทนที่ หรือ เติมเต็ม ฝีมือและจินตนาการมนุษย์?" https://www.chula.ac.th/highlight/94907/ ว่า "เทคโนโลยีเป็นเครื่องมือในการพัฒนาตัวเอง มันสร้างอาชีพของนักพัฒนา เป็นประโยชน์ต่อคนที่จะได้ริเริ่มอาชีพใหม่ ๆ และไม่ว่าเทคโนโลยีจะเข้ามาอย่างไร ชีวิตก็ยังเป็นของมนุษย์อยู่ดี ขอให้เราสนุกไปกับเทคโนโลยีที่นำความเปลี่ยนแปลงเข้ามาให้ชีวิต"

จุฬาฯ นำการศึกษารุดหน้าด้วย Generative AI

ในการเสวนาวิชาการ "Chula the Impact ครั้งที่ 19" เรื่อง "จุดยืนจุฬาฯ นำการศึกษารุดหน้าด้วย GENERATIVE AI" รองศาสตราจารย์ ดร.โปรดปราน บุณยพุกกณะ ผู้อำนวยการศูนย์นวัตกรรมการเรียนรู้ จุฬาฯ กล่าวนำเสนอความก้าวหน้าของจุฬาฯ ในการบุกเบิกการนำนวัตกรรม Generative AI เข้ามาใช้ในกระบวนการเรียนการสอน เพื่อเตรียมความพร้อมให้กับคณาจารย์และนิสิตในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงที่กำลังเกิดขึ้น

"เครื่องมือทางปัญญาประดิษฐ์แบบ Generative AI เป็นเทคโนโลยีที่ก้าวหน้ามากในยุคปัจจุบัน เพราะศักยภาพในการสร้างเนื้อหา รูปภาพ และการเขียนโค้ดต่าง ๆ ทำให้คนทำงานได้ง่ายขึ้น นับเป็นเครื่องมือที่ช่วยเพิ่มโอกาสในธุรกิจ การศึกษา และกระบวนการทำงานในหลายอาชีพด้วย เช่น ศิลปะ" รศ.ดร.โปรดปราน กล่าวและได้ยกตัวอย่างการใช้เครื่องมือ ChatGPT ในการพัฒนาแพลตฟอร์มการเรียนการสอน เช่น กิจกรรม Chula Lunch Talk ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มในการแบ่งปันความรู้จากคณาจารย์และผู้เชี่ยวชาญเพื่อเผยแพร่ความรู้และเสนอแนะเรื่องการนำเทคโนโลยี AI มาใช้ในการเรียนการสอน

ทั้งนี้ รศ.ดร.โปรดปราน ได้กล่าวถึงแนวปฏิบัติในการใช้เครื่องมือทางปัญญาประดิษฐ์ของจุฬาฯ เพื่อดูแลและกำกับการใช้เทคโนโลยีให้เหมาะสม สอดคล้องกับหลักจริยธรรม และเพื่อประโยชน์ในการเรียนการสอน โดยแบ่งเป็น 3 หมวดสำคัญ ดังนี้

  1. การเรียนการสอนและการประเมินผล
    - ผู้สอนควรเข้าใจถึงความสามารถและข้อจำกัดของเครื่องมือทางปัญญาประดิษฐ์ที่เลือกใช้ และออกแบบกระบวนการเรียนการสอนและการประเมินผลที่เหมาะสมกับเครื่องมือนั้น
    - ผู้สอนควรระบุในประมวลรายวิชาให้ชัดเจนถึงขอบเขตและแนวทางการใช้เครื่องมือทางปัญญาประดิษฐ์ เช่น ChatGPT, Google Bard ในรายวิชานั้น พร้อมทั้งอธิบายเหตุผลให้ผู้เรียนทราบ
    - หากรายวิชาใดอนุญาตให้นิสิตใช้เครื่องมือทางปัญญาประดิษฐ์ ผู้สอนควรปรับวิธีการวัดประเมินผลให้เหมาะสม ไม่ควรประเมินผลโดยตรงจากงานที่นิสิตสามารถใช้เครื่องมือทางปัญญาประดิษฐ์ตอบได้
  2. การใช้งานเครื่องมือทางปัญญาประดิษฐ์
    - ปัญญาประดิษฐ์เป็นเพียงเครื่องมือ ผู้ใช้เป็นผู้รับผิดชอบความถูกต้องของข้อมูลและผลงานที่ได้
    - หากมีการใช้เครื่องมือทางปัญญาประดิษฐ์ในงานใด ให้อ้างอิงและระบุให้ชัดเจนถึงขอบเขตการใช้ในงานนั้น การปกปิดไม่แจ้งข้อมูลการใช้เครื่องมือทางปัญญาประดิษฐ์ถือเป็นการละเมิดหลักจริยธรรมซึ่งอาจถูกลงโทษตามระเบียบหรือข้อบังคับที่เกี่ยวข้องได้
  3. การปกปิดความลับและข้อมูลส่วนบุคคล
    - ห้ามนำข้อมูลใด ๆ ที่เป็นความลับของหน่วยงานหรือเป็นข้อมูลส่วนบุคคลโหลดเข้าไปในระบบงานปัญญาประดิษฐ์โดยไม่ได้รับความยินยอมจากผู้เกี่ยวข้อง

อนาคตมาเร็วกว่าที่คิด โลกในยุค AI จะเปลี่ยนแปลงไปเช่นไรเป็นเรื่องที่ท้าทาย ยากจะคาดเดา และน่าติดตาม ทั้งนี้ รศ.ดร.วิโรจน์ กล่าวให้ข้อคิดทิ้งท้ายว่า "ในอนาคต ไม่ว่า AI จะเข้ามามีบทบาทหรือแทนที่มนุษย์จริงหรือไม่ หรือมากน้อยแค่ไหน มนุษย์ถูกสร้างให้เรียนรู้และปรับตัวอยู่เสมอ ดังนั้น ผู้ที่ไม่ยอมรับการเปลี่ยนแปลง ไม่ยอมรับรู้และไม่เข้าใจการใช้ประโยชน์จาก AI จะเป็นคนกลุ่มแรก ๆ ที่จะได้รับผลกระทบ"