ศูนย์วิทย์ฯ ขอนแก่นทำสำเร็จ..พัฒนาโปรแกรมตรวจสารระเหย

26 Jan 1998

กรุงเทพ--26 ม.ค.--กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์

ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ ขอนแก่น พัฒนาโปรแกรมตรวจวิเคราะห์สารระเหยสำเร็จ สามารถลดเวลาและลดขั้นตอนการตรวจวิเคราะห์ลงจากเดิม และอยู่ระหว่างเตรียมดำเนินการถ่ายทอดเทคโนโลยีที่เป็นประโยชน์เพื่อแก้ไขปัญหาสาธารณสุขในพื้นที่ห่างไกล เพื่อเพิ่มการบริการเชิงรุกแก่ประชาชน

ดร.เรณู โกยสุโข อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์ เปิดเผยว่าตั้งแต่ปี พ.ศ. 2535 เป็นต้นมา จังหวัดในเขตที่รับผิดชอบของศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ขอนแก่น

มีการส่งตัวอย่างสารระเหยมาตรวจวิเคราะห์เพิ่มมากขึ้นจากเดิมเฉลี่ยปีละประมาณ 235 ตัวอย่างโดยในปีงบประมาณ 2540 มีจำนวนตัวอย่างที่ส่งตรวจทั้งสิ้น 838 ตัวอย่าง ซึ่งในขบวนการตรวจพิสูจน์สารระเหยนี้จะใช้เวลาประมาณ 10 วันทำการ ประกอบด้วยการทำรายงานตรวจรับของกลาง การตรวจวิเคราะห์ รายงานการตรวจวิเคราะห์ การเก็บรักษาและการส่งทำลายของกลาง ทั้งนี้การทำรายงานการตรวจพิสูจน์จะต้องมีความสมบูรณ์ของรายละเอียดตามขั้นตอนต่างๆ เพื่อประกอบเป็นหลักฐานทางคดี โดยใช้รายงาน 1 ฉบับ ต่อ 1 ตัวอย่าง ซึ่งปกติแล้วจะใช้เวลาในการจัดทำเอกสารทั้งหมดประมาณ 120 นาที จึงทำให้เกิดความล่าช้าผู้ใช้บริการต้องใช้เวลารอคอยนานไม่ทันต่อความต้องการของผู้ใช้บริการ

จากปัญหาความล่าช้าของขั้นตอนด้านเอกสารดังกล่าว ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ขอนแก่น จึงได้พัฒนาโปรแกรมการทำงานตรวจสารระเหย ตั้งแต่เดือน พฤษภาคม 2540 จนเสร็จสมบูรณ์ในเดือนตุลาคม 2540 โปรแกรมดังกล่าวสามารถทดแทนการทำรายงานในขั้นตอนต่างๆ แบบอัตโนมัติ โดยรวบรวมข้อมูลจากการบันทึกในครั้งแรก ผลของการพัฒนาโปรแกรมการตรวจสารระเหยนี้สามารถลดเวลาลงเหลือเพียง 30 นาที หรือลดลงจากระยะเวลาเดิมถึงร้อยละ 75 นอกจากนี้ยังลดความผิดพลาดต่างๆ ในด้านเอกสารได้อย่างมากผลการพัฒนาโปรแกรมด้วยระบบพึ่งตนเองของนักวิทยาศาสตร์การแพทย์นี้ ยังส่งผลดีในด้านการพัฒนางานบริการเชิงรุกของศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ ขอนแก่น สามารถรายงานผลการตรวจวิเคราะห์ได้อย่างรวดเร็วนับตั้งแต่วันที่รับตัวอย่างจนกระทั่งส่งรายงานฉบับสมบูรณ์ได้ประมาณ 5 วันทำการ ซึ่งสามารถสร้างความพึงพอใจแก่ผู้ใช้บริการทั้งของภาครัฐและเอกชนได้ในระดับหนึ่ง

อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวในตอนท้ายว่า นอกจากโปรแกรมทำงานตรวจสารระเหยที่ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ ขอนแก่น ได้พัฒนาขึ้นมาใช้เพื่อบริการประชาชนแล้ว ขณะนี้กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ยังได้ริเริ่มพัฒนาโปรแกรมการทำงานในด้านอื่นๆ อีกเพื่อเพิ่มการบริการเชิงรุกแก่ประชาชนทั่วไป นอกจากนี้ฐานข้อมูลการตรวจวิเคราะห์ทั้งหมดยังได้จัดเก็บอย่างเป็นระบบ เพื่อนำมาประมวลผลได้ตามความต้องการได้อย่างรวดเร็ว และสามารถขยายเทคโนโลยีที่ทันสมัย ให้กับศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ต่างๆ เพื่อประโยชน์ทางด้านการบริหารจัดการ และใช้ข้อมูลแก้ไขปัญหาสาธารณสุขในพื้นที่ห่างไกลได้อย่างทั่วถึง

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมที่ ฝ่ายประชาสัมพันธ์ โทรศัพท์ 5910203-14 ต่อ 9017, 9018--จบ--