กรุงเทพ--24 มี.ค.--ไมโครซอฟท์ คอร์ปอเรชั่น
ไมโครซอฟท์ คอร์ปอเรชั่น กำชับเตือนเจ้าของและผู้จัดการร้านคอมพิวเตอร์มิให้แนะนำให้พนักงานขายเครื่องคอมพิวเตอร์ โดยใช้วิธีการจูงใจลูกค้าให้ซื้อเครื่องคอมพิวเตอร์ที่ติดตั้งซอฟต์แวร์อย่างผิดกฎหมายด้วยวิธีการที่รู้จักกันโดยทั่วไปว่าการโหลดฮาร์ดดิสก์
ไมโครซอฟท์ได้รับแจ้งเกี่ยวกับพฤติกรรมดังกล่าว ภายหลังจากที่ไมโครซอฟท์ คอร์ปอเรชั่น ได้เจรจาตกลงกับบริษัท ยูนิตี้ โพรเกรส จำกัด ไปแล้วก่อนหน้านี้ และเริ่มจัดการตามกระบวนการทางกฎหมายกับผู้จำหน่ายเครื่องคอมพิวเตอร์รายใหญ่อีกสามราย ในข้อหาติดตั้งซอฟต์แวร์ของไมโครซอฟท์ลงบนเครื่องคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลด้วยวิธีการโหลดฮาร์ดดิสก์ อย่างผิดกฎหมาย
จากการเจรจาตกลงกันในครั้งนั้น บริษัท ยูนิตี้ โพรเกรส ซึ่งตั้งอยู่ที่ ถนนพระราม 6 รับสารภาพว่าได้ทำการดาว์นโหลดโปรแกรมไมโครซอฟท์ วินโดวส์ 95 รุ่นภาษาไทย และโปรแกรมไมโครซอฟท์ ออฟฟิศ 95 รุ่นภาษาไทย ลงในฮาร์ดดิสก์ของเครื่องคอมพิวเตอร์โดยมิได้รับอนุญาตจากไมโครซอฟท์เพื่อจำหน่ายให้แก่ลูกค้าของตน ทั้งนี้ บริษัท ยูนิตี้ โพรเกรสตกลงที่จะจ่ายชดเชยค่าเสียหายให้แก่ไมโครซอฟท์เป็นจำนวนเงินที่เหมาะสมตามเงื่อนไขที่ระบุไว้ในข้อตกลง และได้ลงนามในสัญญาเป็นลายลักษณ์อักษรว่าจะไม่ละเมิดลิขสิทธิ์ของไมโครซอฟท์อีก โดยจะพิมพ์ประกาศคำขอขมาให้สาธารณชนทราบต่อไป
บริษัท กู๊ดลักค์ อิมพอร์ต เอ็กซพอร์ต จำกัด บริษัท เอสเอส ดิจิตอล บริษัท อินฟินิตี้ คอมพิวเตอร์ส เพอริเฟอรัล แอนด์ คอมมิวนิเคชั่น บริษัท คอมพิวเตอร์ ไกด์ จำกัด บริษัท ซิสเต็ม เพอร์เฟ็ค เทคโนโลยี จำกัด และบริษัท วีพรอมท์ เทคโนโลยี จำกัด ถูกดำเนินคดีตามกระบวนการทางกฎหมายในข้อหาละเมิดลิขสิทธิ์โดยการติดตั้งซอฟต์แวร์ของไมโครซอฟท์ ซึ่งรวมถึงโปรแกรมไมโครซอฟท์ วินโดวส์ 95 ภาษาไทย และไมโครซอฟท์ ออฟฟิศ 97 ลงในฮาร์ดดิสก์ของเครื่องคอมพิวเตอร์อย่างผิดกฎหมาย โดยไม่มีแผ่นดิสก์หรือแผ่นซีดี-รอมต้นฉบับ สัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิ คู่มือการใช้ และเอกสารอื่น ๆ เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ซอฟต์แวร์ที่ติดตั้งให้แก่ลูกค้า ซึ่งตามปกติแล้วจะต้องมีติดมากับผลิตภัณฑ์ของไมโครซอฟท์ที่มีลิขสิทธิ์ถูกต้องตามกฎหมายทุกครั้ง
มร. คริสโตเฟอร์ ออสติน ที่ปรึกษาทางด้านกฎหมายของไมโครซอฟท์ในประเทศไทย อธิบายว่า "ไมโครซอฟท์เริ่มดำเนินการตามโครงการสุ่มซื้อเครื่องคอมพิวเตอร์เพื่อตรวจสอบผู้จำหน่าย (The Dealer Test Purchase Program) มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2538 และในแต่ละครั้งที่ทำการทดสอบ พบว่ามีผู้จำหน่ายจำนวนมากขึ้นที่ฝ่าฝืนกฎหมายและติดตั้งซอฟต์แวร์ผิดกฎหมายของไมโครซอฟท์ให้แก่ลูกค้า
มร. ออสติน กล่าวต่อไปว่า "การละเมิดลิขสิทธิ์โปรแกรมคอมพิวเตอร์ด้วยวิธีนี้ตรวจสอบได้ง่ายมากจนยากที่จะเข้าใจว่าทำไมผู้จำหน่ายเหล่านี้จึงยอมเอากิจการและชื่อเสียงของตนมาเสี่ยงโดยการโหลดซอฟต์แวร์ไมโครซอฟท์ผิดกฎหมายลงในเครื่องคอมพิวเตอร์เพื่อนำไปจำหน่าย ผู้ขายฮาร์ดแวร์ควรทำความเข้าใจให้ชัดเจนว่าไมโครซอฟท์จะยังคงดำเนินการตามโครงการตรวจสอบผู้ขายฯ ต่อไปอย่างต่อเนื่องจนกว่าพฤติกรรมการละเมิดกฎหมายในลักษณะเช่นนี้จะหมดสิ้นไป"
โครงการตรวจสอบผู้ขายฯ คือมาตรการรณรงค์ต่อต้านการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ที่ไมโครซอฟท์ ริเริ่มและนำออกใช้ทั่วโลก เพื่อสนับสนุนร้านค้าคอมพิวเตอร์ที่สุจริตและจำหน่ายเฉพาะซอฟต์แวร์ที่มีลิขสิทธิ์เท่านั้น โดยเล็งเป้าหมายเฉพาะเจาะจงที่ไปพฤติกรรมของผู้ขายหรือรีเซลเลอร์เกี่ยวข้องพัวพันกับการลักลอบทำสำเนาโปรแกรมประยุกต์สำเร็จรูปและระบบปฏิบัติการของไมโครซอฟท์ลงในฮาร์ดดิสก์ของเครื่องคอมพิวเตอร์ด้วยวิธีการโหลดเพื่อเป็นแรงจูงใจให้ผู้บริโภคซื้อเครื่องพีซีเครื่องใหม่จากร้านค้าของตน
"ผู้ขายที่ยังฝืนเก็บซอฟต์แวร์ผิดกฎหมายไว้ในครอบครอง ทำความเสียหายอย่างมากมายมหาศาลแก่ อุตสาหกรรมคอมพิวเตอร์ และนอกจากจะเป็นการขัดขวางความพยายามของผู้จำหน่ายซอฟต์แวร์ถูกกฎหมายแล้ว ยังเป็นการปิดกั้นมิให้ผู้ให้บริการสนับสนุนทางเทคนิคได้มีโอกาสให้บริการแก่ผู้ใช้ปลายทางอีกด้วย สำหรับผู้จำหน่ายรายใดก็ตามที่ต้องการคำปรึกษาในการจัดการกับปัญหาการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ให้ได้ผล สามารถติดต่อสอบถามไปได้ที่สายด่วนไมโครซอฟท์ หมายเลขโทรศัพท์ 632-0456
โครงการสุ่มซื้อเครื่องคอมพิวเตอร์เพื่อตรวจสอบผู้จำหน่ายเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามในจัดการกับพฤติกรรมการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ในตลาดการค้าคอมพิวเตอร์ และเป็นหนึ่งในอีกหลาย ๆ โครงการที่ไมโครซอฟท์จัดทำขึ้นเพื่อรณรงต่อต้านผู้จำหน่ายซอฟต์แวร์ผิดกฎหมาย ทั้งนี้ เครื่องคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลทุกเครื่องที่ยึดไว้เป็นของกลางจากการรณรงค์ตามโครงการนี้จะถูกนำไปบริจาคเพื่อการกุศลเมื่อเสร็จสิ้นขั้นตอนตามกระบวนการทางกฎหมายเป็นที่เรียบร้อย --จบ--