การปรับบทบาท ภารกิจ และโครงสร้างของกระทรวงมหาดไทย

10 Apr 2002

กรุงเทพฯ--10 เม.ย.--สำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย

หลักการและเหตุผลกระทรวงมหาดไทยเป็นส่วนราชการที่ได้รับผลกระทบสูงจากรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2540 คือ การที่รัฐจะต้องดำเนินการให้มีการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยให้ความเป็นอิสระ แก่ท้องถิ่น ในการปกครองตนเอง ซึ่งส่งผลให้กระทรวงมหาดไทยต้องถ่ายโอนภารกิจบางส่วนไปให้องค์กรปกครอง ส่วนท้องถิ่น ถ่ายโอนบุคลากรลงสู่ท้องถิ่น นอกจากนี้ตามแผนปฏิรูประบบบริหารภาครัฐ ที่มุ่งเน้นให้รัฐปรับปรุงบทบาทจากผู้ปฏิบัติ ควบคุม มาเป็นผู้ส่งเสริมสนับสนุนและกำกับดูแล จึงต้องมีการกำหนดขอบเขตของภารกิจโดยมีเป้าหมาย ชัดเจน การปรับบทบาทภารกิจและโครงสร้างกระทรวงมหาดไทย มีวัตถุประสงค์ ดังนี้

  • ทบทวนบทบาทภารกิจของกระทรวงมหาดไทยตามแนวทางการกำหนดภารกิจของรัฐ
  • ปรับบทบาทภารกิจเพื่อสนองตอบการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
  • ปรับบทบาทภารกิจให้สามารถนำยุทธศาสตร์ชาติลงสู่ท้องถิ่น เชื่อมโยงความต้องการของท้องถิ่นกับ ยุทธศาสตร์ชาติ
  • กำหนดความสัมพันธ์ของงานที่ชัดเจนระหว่างหน่วยงานส่วนกลางกับส่วนท้องถิ่น สำหรับแนวคิดในการปฏิบัติงานนั้น กระทรวงมหาดไทยจะต้องมีแนวคิดในการเป็นส่วนหนึ่งของการ สร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน สร้างความมั่นคงความสงบสุขให้กับสังคม รวมทั้งเสริมสร้างวงจรเศรษฐกิจที่ยั่งยืน โดยยกระดับความสามารถของท้องถิ่น มีการนำเทคโนโลยีไปใช้อย่างเหมาะสม พัฒนาภูมิปัญญาชาวบ้าน และพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ให้เกิดทักษะความรู้ ให้สามารถเพิ่มคุณค่าในเชิงเศรษฐกิจ และเป็นผู้ทำหน้าที่เชื่อมโยงเศรษฐกิจท้องถิ่นและเศรษฐกิจโลก ภารกิจหลักสำคัญของภาครัฐซึ่งมุ่งพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม รักษาความมั่นคง ประสิทธิภาพ และประสิทธิผลของการบริหารจัดการประเทศ ซึ่งมีระบบบริหารกิจการบ้านเมืองและสังคมที่ดีเป็นแกนกลางแบ่งออกได้เป็น 11 กลุ่ม

กลุ่มที่ 1 กำหนดยุทธศาสตร์และนโยบายพัฒนาประเทศ การบริหารราชการมีประสิทธิภาพ โปร่งใส และเป็นธรรม มีการกำกับ ติดตาม ตรวจสอบ และประเมินผลสัมฤทธิ์ ประชาชนได้รับข้อมูลข่าวสาร และทราบความคืบหน้า การบริหารงานภาครัฐ

กลุ่มที่ 2 จัดให้มีมาตรการสนับสนุน และพัฒนาการเมืองในระบอบประชาธิปไตย

กลุ่มที่ 3 จัดให้มีการสนับสนุนกิจการส่วนพระองค์ และโครงการตามพระราชดำริ

กลุ่มที่ 4 ส่งเสริมการผลิตเพื่อสร้างรายได้ และสร้างเสริมศักยภาพการแข่งขัน และปกป้องผลประโยชน์ของชาติในสังคมโลก

กลุ่มที่ 5 ดูแล พัฒนา การใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างมีประสิทธิภาพและรักษาดุลยภาพของสิ่งแวดล้อมเพื่อให้เอื้อต่อการดำรงชีวิตเกิดความสมดุลในการพัฒนาและเป็นรากฐานในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมในประเทศอย่างยั่งยืน

กลุ่มที่ 6 พัฒนาองค์ความรู้ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อเสริมสร้างศักยภาพในการพัฒนาเศรษฐกิจและการแข่งขัน

กลุ่มที่ 7 พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางด้านการคมนาคม และขนส่งให้เอื้อต่อการดำรงชีวิต ความได้เปรียบในการแข่งขันและเพิ่มประสิทธิภาพการทำธุรกิจ และนำไปสู่การเป็นศูนย์กลางเครือข่ายการคมนาคมขนส่งของภูมิภาค

กลุ่มที่ 8 บริหารรายได้รายจ่ายของรัฐ จัดสรรทรัพยากรและบริหารทรัพย์สินให้มีประสิทธิภาพเพื่อความมีเสถียรภาพทางการเงิน การคลัง และความมั่งคั่งอันยั่งยืนของประเทศ

กลุ่มที่ 9 พัฒนาประชากรให้มีสุขภาพ มีความรู้ ความคิดกว้าง ไกล มีพลานามัยและศักยภาพด้านกีฬา มีวัฒนธรรมที่ดีงามเพื่อ ให้สังคมไทยเป็นสังคมที่มีคุณภาพ เป็นสังคมแห่งความรู้คู่คุณธรรม พร้อมนำประเทศชาติไปสู่ความมั่งคั่ง มีชื่อเสียง มีเกียรติ และมี ศักดิ์ศรี สามารถดำรงตนร่วมกับสังคมโลกได้อย่างมีความสุข

กลุ่มที่ 10 จัดระเบียบสังคม สร้างความเป็นธรรมในการดำรง ชีวิต พัฒนาบรรทัดฐานทางสังคม คุ้มครองและพิทักษ์สิทธิ พัฒนาศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ ให้มีงานทำและรายได้เป็นที่พึ่ง ของตนเอง และผู้อื่น ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาสังคม เพื่อให้คนไทยมีคุณภาพชีวิต มีสวัสดิการที่เหมาะสม มีเกียรติภูมิ รู้เท่าทันโลกมุ่ง ประโยชน์ส่วนรวม เป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศ เพื่อให้ สังคมมีความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน

กลุ่มที่ 11 กำหนดยุทธศาสตร์ความมั่นคงชาติ การรักษาอธิปไตย การจัดระเบียบสังคม และอำนวยความยุติธรรม การเสริมสร้างความสงบสุขของสังคม ตลอดจนการส่งสริมความเข้มแข็งของสังคม เพื่อให้ประชาชนมีความมั่งคั่งและประเทศชาติมีความมั่นคง

ดูรายละเอียดเพิ่มเติมที่ http://www.moi.go.th/newmahadthai.htm

กองสารนิเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย โทร. (02) 222-4131 ถึง 2, 222-1141-55 ต่อ 50533--จบ--

-อน-