แนะปลูกรางจืดไว้ในบ้านใบมีประโยชน์นำมาต้มดื่มกำจัดพิษได้

27 Aug 2002

กรุงเทพฯ--27 ส.ค.--ม.มหิดล

รองคณบดีคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล แนะปลูกต้นรางจืดไว้ในบ้าน สามารถนำใบสดมาต้มน้ำดื่มกำจัดสารพิษ และถอนพิษไข้ได้ หรือนำใบรางจืดมาตำพอกรักษาแผลอักเสบจากเริม งูสวัด หรือแผลอักเสบจากมดแมลงกัดต่อยได้

รศ.พร้อมจิตต์ ศรลัมภ์ รองคณบดีคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า พืชสมุนไพรรางจืด จะมีหลายชนิด อาทิ ว่านรางจืดที่เป็นไม้หัว จะอยู่ในสกุลเดียวกับขิง รูปร่างจะคล้ายขมิ้น แต่จะมีสีเหลืองอ่อนกว่าและกลิ่นฉุน จะเป็นพืชในกลุ่มเดียวกับขมิ้นชัน ว่านรางจืดมีคนสนใจใช้กันมาก มีการใช้พื้นบ้านโดยคนที่จะดื่มสุราจะนำหัวว่านรางจืดมารับประทาน เพื่อไม่ให้เมาสุรา นอกจากนี้ ยังมีรางจืดต้นที่เป็นไม้พุ่ม บางจังหวัดเรียกโผงเผง มีดอกสีเหลือง คล้ายกับขี้เหล็ก แต่ต้นจะเล็กกว่า จะใช้ใบบดให้ละเอียดทำเป็นยาลูกกลอนแก้ไข้ ใช้รากฝนน้ำกินแก้เบื่อเมา คือเป็นยาช่วยแก้สารพิษที่เข้าไปในร่างกาย ซึ่งทั้ง ๒ ชนิด ยังไม่มีการวิจัยในรายละเอียด

นอกจากนี้ ยังมีรางจืดที่เป็นไม้เลื้อย เนื้อแข็ง ใบเป็นรูปไข่ ขนาดของใบใหญ่สุดยาวได้ถึง ๑๔ เซนติเมตร กว้าง ๗ เซนติเมตร ดอกมีสีม่วงสวยเป็นช่อยาว มีการนำทำเป็นชา มีหลายชื่อตามท้องถิ่นบางแห่งเรียกเครือเขาเขียวหรือต้นยาเขียว ตามตำราไทยจะใช้น้ำคั่นใบสดถอนพิษไข้และถอนพิษต่างๆ สมัยก่อนเวลาเป็นโรคหัดหรืออีสุกอีใส จะต้องรับประทานยาเขียว เพื่อกระทุ้งพิษไข้ออกมาจึงจะหาย

รศ.พร้อมจิตต์ กล่าวต่อว่า จากการค้นคว้าข้อมูลพบว่า มีงานวิจัยของอาจารย์พาณี เตชะเสน จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ตั้งแต่ปี ๒๕๒๓ ได้นำใบรางจืดสดมาทดลองกับหนู ๒ กลุ่ม โดยฉีดยาฆ่าแมลงที่ชาวบ้านใช้ปลูกพืชผักให้กับหนูทั้ง ๒ กลุ่ม หลังจากนั้น ๕ นาที นำใบรางจืดสด ๑ ขีด ต้มน้ำ ๑๐๐ ซีซี. แล้วกรอกเข้าไปทางปาก ให้หนู ๑ กลุ่ม พบว่า หนูกลุ่มที่ไม่ได้กินน้ำใบรางจืดจะตายไปร้อยละ ๖๐ และหนูกลุ่มที่กินใบรางจืดตายเพียงร้อยละ ๒๕ และการวิจัยยังระบุว่า การกินน้ำต้มใบรางจืดด้วยน้ำร้อนจะได้ผลดีกว่าที่จะนำใบมาคั้นน้ำเฉยๆ และหากใช้น้ำต้มรางจืดรักษาผู้ที่ได้รับพิษมาควบคู่กับยาแผนปัจจุบัน จะได้ผลดีมากขึ้น จึงทำให้ผู้ที่พบงานวิจัยนี้นำใบรางจืดมาใช้กัน โดยนำใบรางจืดมาตากแห้งทำเป็นชาใบรางจืด เพื่อใช้ดื่ม โดยมุ่งล้างสารพิษในร่างกาย นอกจากนี้ ยังมีงานวิจัยว่า รางจืดสามารถรักษาแผลอักเสบจากเริม งูสวัด หรือแผลอักเสบจากมดแมลงกัดต่อยได้ อาจจะนำมาตำพอก เวลาที่มีแผลอักเสบ แต่ต้องระมัดระวังเรื่องความสะอาด

อย่างไรก็ตาม มีการนำใบรางจืดมาทำเป็นชาแล้วชงค่อนข้างมาก บางแห่งนำมาบดเป็นผงแล้วใส่แคปซูล ซึ่งไม่แน่ใจว่ามีการขึ้นทะเบียนหรือไม่ แต่ขอให้ใช้ด้วยความระมัดระวัง เนื่องจากการทดลองในคนยังทำไม่มากนัก ซึ่งเป็นที่น่าเสียดายที่มีคนนำมาใช้ แต่การทดลองเพื่อนำมาใช้ประโยชน์อย่างจริงจัง หรือคุ้มครองผู้บริโภคยังไม่มี โดยมีงานวิจัยเกี่ยวกับรางจืดมาตั้งแต่ปี ๒๕๒๓ ปัจจุบันก็ยังไม่มีการวิจัยต่อเนื่อง

รองคณบดีคณะเภสัชศาสตร์ กล่าวต่อว่า การดื่มชาใบรางจืดจะได้ผลดีหรือไม่ ขึ้นอยู่กับวัตถุดิบที่นำมาใช้ อย่างไรก็ดี เป็นสิ่งที่น่าสนใจ หากมีพื้นที่ควรปลูกต้นรางจืดไว้ในบ้าน เพื่อนำใบมาใช้ต้มน้ำดื่มเพื่อแก้พิษ โดยสามารถขอพันธุ์ต้นรางจืดได้ที่สวนสมุนไพรสิรีรุกขชาติ ของมหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตศาลายา ซึ่งสามารถที่จะตัดไปปักชำได้ ในดินร่วนปนทราย เลี้ยงไว้ในที่ร่ม ใบจะดกและมีดอกสวยตลอดทั้งปี เวลาที่ไม่สบาย เช่น อาหารเป็นพิษ สามารถจะเด็ดใบมาต้ม เพื่อบรรเทาอาการได้ หรืออาจจะเด็ดใบมาต้มน้ำดื่ม ๒ - ๓ วัน ๑ แก้ว แต่ไม่ใช่ดื่มทุกวัน ก็จะช่วยเสริมในการกำจัดสารพิษออกจากร่างกายได้ โดยสารในใบรางจืดจะไปทำปฏิกริยากับสารพิษ

“หรือถ้าจะดื่มเป็นชา วันละ ๑ แก้ว คิดว่าไม่น่าจะมีปัญหา โดยควรดื่มในช่วงเช้าประมาณ ๑๐.๐๐ - ๑๒.๐๐ น. เพราะช่วงนั้นธาตุไฟในร่างกายยังมีปัญหาอยู่ ถ้าดื่มน้ำผักจะช่วยให้สมดุลของร่างกายดีขึ้น แม้ว่าจะไม่มีการทดลองวิจัยอย่างชัดเจน แต่ถ้าใช้ในปริมาณไม่สูงมาก ก็ไม่น่าจะเกิดอันตรายอะไร และประโยชน์ที่จะได้นั้น ก็ยังตอบได้ไม่ชัดเจน จึงอย่าหวังผลมาก” รศ.พร้อมจิตต์ กล่าว--จบ--

-ตม-