สบพ. มั่นใจ พันธบัตรสถาบันบริหารกองทุนพลังงาน เนื้อหอม ระบุนักลงทุนประเภทสถาบัน และประชาชนทั่วไป ให้ความสนใจ

20 Sep 2005

กรุงเทพฯ--20 ก.ย.--สบพ.

สบพ. มั่นใจ พันธบัตรสถาบันบริหารกองทุนพลังงาน เนื้อหอม ระบุนักลงทุนประเภทสถาบัน และประชาชนทั่วไป ให้ความสนใจ เตรียมขออนุมัติครม. วันนี้ (20 กย.) พร้อมเปิดขายพันธบัตรฯ ล็อตแรก 22,000 ล้านบาท 13 ต.ค.นี้

นายศิวะนันท์ ณ นคร ผู้อำนวยการสถาบันบริหารกองทุนพลังงาน (องค์การมหาชน) (สบพ. ) เปิดเผยว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ สบพ. ได้ร่วมกับ สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) และบริษัทที่ปรึกษาทางด้านการเงิน คือ บริษัทหลักทรัพย์ นครหลวงไทย จำกัด บริษัทหลักทรัพย์ฟินันซ่า จำกัด และ บริษัทหลักทรัพย์ บาร์เคลย์ แคปปิตอล (ประเทศไทย) จำกัด จัดบรรยายสรุปข้อมูลต่างๆที่เกี่ยวข้องกับพันธบัตรฯ ให้แก่นักลงทุนประเภทสถาบัน โดยนักลงทุนได้ให้ความสนใจอย่างมาก เนื่องจากมองว่าเป็นพันธบัตรที่มีระยะสั้น – ปานกลาง โดยมีอายุเพียง 1 ปี 2 ปี และ 3 ปี ตามลำดับ รวมทั้งมีโครงสร้างและแหล่งรายได้การชำระหนี้อย่างชัดเจน และที่สำคัญคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) จะประสานงานกับรัฐบาลเพื่อให้มีมาตรการในการให้ความคุ้มครองนักลงทุนให้ได้รับชำระหนี้อย่างครบถ้วนตามกำหนดเวลา สบพ. จึงมั่นใจว่าพันธบัตรชุดนี้จะได้รับความสนใจ ในวงกว้าง

ทั้งนี้ รายละเอียดในการดำเนินการต่อไป สบพ.จะได้รายงานให้คณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณา ในวันนี้ 20 กย. 48 ในการเตรียมเสนอขายพันธบัตรฯ ประมาณวันที่ 13 ต.ค.48 จำนวน 22,000 ล้านบาท กำหนดอายุไถ่ถอน 1-3 ปี อย่างไรก็ตาม สบพ. จะจัดบรรยายสรุปข้อมูลพันธบัตร ของสบพ.ให้แก่นักลงทุนรายย่อย หรือประชาชนทั่วไปในช่วงปลายเดือนกันยายนนี้ ซึ่งคาดว่าจะได้รับความสนใจ เป็นอย่างมากเช่นเดียวกับนักลงทุนประเภทสถาบัน

นายศิวะนันท์ กล่าวเพิ่มเติมว่า แม้ว่ากระทรวงการคลังจะไม่ค้ำประกันพันธบัตรของสบพ. เนื่องจากข้อห้ามตาม พ.ร.บ.บริหารหนี้สาธารณะ พ.ศ.2548 แต่พันธบัตรของ สบพ. ก็ยังคงมีสถานะที่มั่นคง เนื่องจาก สบพ. เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งตามอำนาจแห่งพระราชบัญญัติองค์การมหาชน พ.ศ. 2542 โดยอยู่ในการกำกับดูแลของกระทรวงพลังงาน ตลอดจนการได้รับเงินสนับสนุนในรูปเงินยืมไม่มีดอกเบี้ยจำนวน 12,000 ล้านบาท จากรัฐบาล หากเกิดปัญหาสภาพคล่อง โดยให้ สบพ. ทยอยเบิกตามความจำเป็น และให้ชำระคืนภายหลังจากการชำระหนี้พันธบัตรและเงินกู้ทั้งหมดเสร็จสิ้นแล้ว นอกจากนี้ยังมีแหล่งรายได้ที่นำมาชำระหนี้ที่ชัดเจน คือรายรับจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ประกอบกับคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) จะประสานงานกับรัฐบาลเพื่อให้มีมาตรการคุ้มครองเพื่อให้ผู้ถือพันธบัตรได้รับชำระหนี้อย่างครบถ้วนตามกำหนดเวลา--จบ--