ชี้ ตกแต่งอาคาร ต้นเหตุเพลิงไหม้ รร.ราชินี ปากคลองตลาด

26 Aug 2005

กรุงเทพฯ--26 ส.ค.--ปภ.

นายสุนทร ริ้วเหลือง อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เปิดเผยถึงเหตุการณ์เพลิงไหม้โรงเรียนราชินี ปากคลองตลาด ว่าเมื่อเวลา 11.13 น.ของวันที่ 25 สิงหาคม 2548 ได้เกิดเหตุเพลิงไหม้อาคารไม้ 2 ชั้น “สุนันธาลัย” ของโรงเรียนราชินี ซึ่งอยู่ในระหว่างการปรับปรุงเป็นอาคารพิพิธภัณฑ์ เขตพระนคร กรุงเทพฯ เบื้องต้นสันนิษฐานว่าเกิดจากการเชื่อมเหล็กแล้วประกายไฟกระเด็นไปถูกแผ่นฉนวนกันความร้อน จึงเกิดเพลิงลุกลามอย่างรวดเร็ว เนื่องจากเป็นอาคารไม้ ที่มีอายุเก่าแก่มากกว่า 100 ปี หลังได้รับแจ้งเหตุ สำนักงานเขตพระนคร หน่วยงานในพื้นที่ และบริเวณใกล้เคียง พร้อมทั้งอาสาสมัคร อปพร. เจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหาร กว่า 100 คน ได้เข้าระงับดับเพลิงจนสงบ เบื้องต้นไม่มีผู้เสียชีวิตหรือได้รับบาดเจ็บแต่อย่างใด สำหรับมูลค่าความเสียหายอยู่ระหว่างการสอบสวนของเจ้าหน้าที่ตำรวจ โดยในระหว่างเกิดเหตุได้จัดการอพยพนักเรียนไปอยู่ในที่ปลอดภัย 3 แห่ง ได้แก่ แห่งที่ 1 นักเรียนชั้น ม.1 – ม.6 ไปอยู่ในโรงเรียนตั้งตรงจิตพาณิชยการณ์ แห่งที่ 2 นักเรียนชั้นอนุบาล – ป.6 ให้ไปอยู่ในโรงเรียนวัดราชบพิตร และแห่งที่ 3 นักเรียนที่เหลือบางส่วน ให้ไปอยู่ในสถานีตำรวจนครบาลพระราชวัง

ทั้งนี้ กรมป้องกันฯ ได้ส่งเจ้าหน้าที่เข้าร่วมปฏิบัติการ จัดเก็บข้อมูลความเสียหายทั้งด้านชีวิตและทรัพย์สิน ตลอดจนให้การช่วยเหลือตามระเบียบปฏิบัติของทางราชการโดยด่วนแล้ว

ในการนี้ นายสุนทร จึงได้กล่าวเตือนไปยังผู้รับเหมาก่อสร้างให้ระวังการเกิดเพลิงไหม้ในอาคารที่อยู่ ระหว่างการตกแต่งภายใน การทาสี โดยเฉพาะอาคารที่กำลังสร้างใกล้เสร็จ อาคารที่อยู่ระหว่างการซ่อมแซม ต่อเติมเนื่องจากวัสดุส่วนใหญ่เช่น พรม ผ้าม่าน เฟอร์นิเจอร์ ฝ้าเพดาน แผ่นยิบซั่ม เป็นเชื้อเพลิงอย่างดี ยิ่งถ้าเป็นอาคารที่กำลังทาสี มีการใช้แอลกอฮอล์ ทินเนอร์ กาว หรือการเชื่อมเหล็กที่ต้องมีถังแก๊ส และเมื่อคนงานทิ้งก้นบุหรี่ใกล้กับวัสดุดังกล่าว จะเป็นตัวกระตุ้นให้เพลิงไหม้ลุกลามได้อย่างรวดเร็วขึ้น รวมถึงการเกิดไฟฟ้าลัดวงจร ก็เป็นสาเหตุหนึ่งของเพลิงไหม้ เนื่องจากการเดินสายไฟฟ้าแบบชั่วคราว ดังนั้น เพื่อเป็นการป้องกันเพลิงไหม้ในอาคารที่กำลังอยู่ระหว่างการก่อสร้างหรือตกแต่งผู้รับเหมาก่อสร้าง และเจ้าของโครงการก่อสร้าง ต้องกำหนดแนวทางในการป้องกันการเกิดเพลิงไหม้ โดยแยกคนงานให้พักอาศัยอยู่ภายนอกอาคาร กำหนดมาตรการควบคุมคนงานอย่างเข้มงวด ด้วยการห้ามมิให้มีการประกอบอาหาร สูบบุหรี่ หรือจุดเทียนในบริเวณที่มีการก่อสร้าง ตลอดจนแยกการจัดเก็บอุปกรณ์ก่อสร้าง โดยจัดเก็บสิ่งที่เป็นเชื้อเพลิงไว้ในที่ปลอดภัย และติดตั้งอุปกรณ์ดับเพลิงไว้ภายในตัวอาคารเป็นระยะ รวมทั้งหมั่นตรวจสอบสายไฟฟ้าและอุปกรณ์ไฟฟ้าให้อยู่ในสภาพที่ใช้การได้ดีเสมอ อย่าปล่อยให้มีการใช้อุปกรณ์ไฟฟ้าโดยไม่มีหม้อแปลงกำหนดกระแสไฟฟ้า เพราะอาจเกิดไฟฟ้าลัดวงจร นอกจากนี้ ต้องให้ความรู้เกี่ยวกับสาเหตุของเพลิงไหม้ และวิธีการหนีเพลิงไหม้อย่างปลอดภัยแก่คนงาน เพื่อสร้างจิตสำนึกในการระแวดระวังภัย และตระหนักถึงอันตรายของอัคคีภัย--จบ--