จิตแพทย์ชี้ผู้ป่วยพีทีเอสดีจากเหตุสึนามิภูเก็ต-พังงา กว่าครึ่งยังมีอาการเครียด

28 Dec 2007

กรุงเทพฯ--28 ธ.ค.--

จิตแพทย์ชี้ผู้ป่วยพีทีเอสดีจากเหตุสึนามิในพื้นที่ภูเก็ต-พังงา กว่า 50% ยังมีอาการเครียดและหวาดกลัว เตรียมส่งทีมนักจิตจากจุฬาฯ ลงสำรวจอีกรอบ หวั่นขาดการดูแลต่อเนื่อง วอนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดูแลอาชีพและสภาพแวดล้อม "น.พ.วีรยุทธ ประพันธ์พจน์" เผยแนวโน้มคนไทยป่วยเป็นพีทีเอสดีเพิ่มมากขึ้น จากเหตุการณ์ความไม่สงบและสภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลง ชี้ทางออกต้องตรวจยีนหาความเสี่ยงตั้งแต่เด็กเพื่อเป็นแนวทางให้ผู้ปกครองเลี้ยงดูและเลือกอาชีพให้เหมาะสมกับลูก ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ของประเทศไทย (TCELS) ในฐานะผู้สนับสนุนหลักในการดำเนินโครงการติดตามผู้ที่มีอาการเครียดเรื้อรังจากเหตุการณ์สึนามิ (พีทีเอสดี) โดยความร่วมมือของ ภาควิชาจิตเวช จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศูนย์วิจัยพันธุศาสตร์การแพทย์ สถาบันราชานุกูล กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข ได้ลงพื้นที่เพื่อติดตามอาการของผู้ป่วยพีทีเอสดีจาก ในพื้นที่ จ.ภูเก็ตและพังงา นำทีมโดย นายกำจร พลางกูร รองผู้อำนวยการ TCELS ศ.พญ.นันทิกา ทวิชาชาติ หัวหน้าหน่วยระบาดวิทยาด้านจิตเวช จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นายองอาจ เจริญสุข ที่ปรึกษาอาวุโสศูนย์ช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากสึนามิ และ ผศ.พวงสร้อย วรกุล หัวหน้านักจิตวิทยาคลินิก โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์

นายกำจร กล่าวว่า ทางโครงการฯ กำลังทำงานคู่ขนานระหว่างการติดตามโรคและศึกษาความสัมพันธ์ของยีนกับการเกิดโรคพีทีเอสดี ของกลุ่มตัวอย่างจำนวนกว่า 3,000 ราย ซึ่งเริ่มมาตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2548 ในช่วงแรกพบผู้ที่มีอาการสูงถึง 30% และขณะนี้มีแนวโน้มว่าจะสามารถพยากรณ์โรคว่าใครบ้างที่เสี่ยงต่อการเป็นพีทีเอสดี

ศ.พญ.นันทิกา กล่าวว่า จากการพูดคุยกับผู้ป่วยพีทีเอสดีพบว่า ผู้ป่วยซึ่งเราได้ทำการคัดกรองจาก 3,000 รายเหลือ 500 รายที่มีอาการเรื้อรัง พบว่ามีผู้ป่วยมากกว่า 50% ยังมีอาการหวาดระแวงและซึมเศร้าเรื้อรังอยู่ โดยเฉพาะเมื่อมีข่าวว่าจะเกิดเหตุสึนามิอีกครั้งเมื่อวันที่ 23 ธันวาคมที่ผ่าน อย่างไรก็ตามแม้ว่าในภาพรวมความรุนแรงของโรคจะลดลง แต่เมื่อเกิดเหตุการณ์ที่ทำให้ตื่นตระหนก และอยู่ในภาวะคับขันก็จะมีอาการหวาดกลัวและไม่สามารถควบคุมตัวเองได้ บางรายอาการดีขึ้นเนื่องจากมีอาชีพและอยู่ในสังคมครอบครัว ญาติพี่น้อง ในขณะที่บางรายต้องสูญเสียอาชีพและอายุมาก โอกาสที่จะเริ่มต้นทำงานใหม่ค่อนข้างยาก และอยู่ในสภาพสังคมต่างคนต่างอยู่ในชุมชนใหม่ โดยเฉพาะที่บ้านน้ำเค็ม จ.พังงา ทำให้เกิดภาวะกดดันแทรกขึ้นมาด้วย บางรายหันไปหาสารเสพติดเพื่อคลายเครียด เกิดปัญหาใหม่แทรกซ้อนขึ้นมา ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องมาดูแลแก้ปัญหาอย่างต่อเนื่อง

"จากผลสรุปในครั้งนี้ จะดำเนินการวางแผนลงช่วยเหลือกลุ่มที่ยังมีอาการเรื้อรังต่อไป โดยจะใช้ทีมงานและฐานข้อมูลเดิม ซึ่งมีความพร้อมอยู่แล้ว หากไม่มีการติดตามต่อเนื่องเกรงว่า ผู้ป่วยจะไม่ได้รับการดูแลและอาการซึมเศร้าจะรุนแรงขึ้น" ศ.พญ.นันทิกา กล่าว

นพ.วีรยุทธ ประพันธ์พจน์ หัวหน้าศูนย์วิจัยพันธุศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า ขณะนี้ได้เตรียมตัวอย่างดีเอ็นเอซึ่งได้จัดเก็บด้วยเครื่องมือที่ได้มาตรฐานพร้อมนำไปทดสอบแล้ว และยังมีการสำรองเลือดเพื่อใช้ในการสกัดเป็นดีเอ็นเอเพิ่มเติมได้ และเรากำลังหายีนของคนไทยเพื่อวินิจฉัยว่าจะมีผลทำให้คนที่ถูกกระทบด้วยเหตุการณ์รุนแรงมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคนำไปสู่การทำชุดทดสอบ (test kit) และการพัฒนายาใหม่ให้เหมาะสมกับโรคต่อไป

นพ.วีรยุทธ กล่าวว่า การตรวจยีนเพื่อหาความเสี่ยงต่อการเกิดโรคพีทีเอสดีนั้น ควรจะดำเนินการตั้งแต่วัยเด็ก เนื่องจากขณะนี้แนวโน้มของคนไทยจะป่วยเป็นโรคนี้เพิ่มมากขึ้น จากเหตุการณ์ความไม่สงบในหลายพื้นที่ยังเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมไปถึงความรุนแรงในสังคมที่มีเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ดังนั้นหากตรวจพบตั้งแต่ในวัยเด็กจะมีการเตรียมการป้องกันได้ง่ายโดยเริ่มจากการเลี้ยงดู เลือกการศึกษา และอาชีพที่เหมาะสมกับลูก ซึ่งถือว่าเป็นสิ่งสำคัญที่จะป้องกันไม่ให้โรคเกิดความรุนแรง

สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net