ข้าราชการเกือบ 90 % มั่นใจระบบคุณธรรม ผลตอบแทน ตาม พ.ร.บ. ใหม่

10 Jan 2008

กรุงเทพฯ--10 ม.ค.--ก.พ.

สำนักงาน ก.พ. ร่วมกับเอแบคโพลล์เผยผลสำรวจความคิดเห็นของข้าราชการ ทั่วประเทศเป็นครั้งที่ 2 พบเกือบ 90 % มั่นใจระบบคุณธรรม การจ่ายค่าตอบแทน ในระบบราชการไทยมากขึ้น ตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือนฉบับใหม่

นายปรีชา วัชราภัย เลขาธิการ ก.พ. เปิดเผยว่า จากการที่สำนักงาน ก.พ. ได้เดินสายชี้แจงสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือนฉบับใหม่ให้กับข้าราชการทั่วประเทศมาเป็นเวลา 2 ปี คือระหว่างปี 2549 - 2550 นั้น เพื่อให้การดำเนินการเป็นไปอย่างต่อเนื่อง รวมทั้ง เพื่อสร้างความเข้าใจในบางสาระที่มีการเปลี่ยนแปลงไปจากร่างเดิม ในปี 2551 จึงกำหนดให้มีกิจกรรมเดินสายชี้แจง ประชาสัมพันธ์และรณรงค์ เพื่อสร้างความเข้าใจให้กับข้าราชการทั่วประเทศ

นอกจากนั้น สำนักงาน ก.พ. ยังได้เตรียมการจัดตั้งศูนย์บริหารการปรับเปลี่ยนระบบการบริหารงานทรัพยากรบุคคลขึ้นใน 19 กระทรวง โดยจะมีเจ้าหน้าที่ของสำนักงาน ก.พ. ร่วมทำงานอย่างใกล้ชิดกับเจ้าหน้าที่ของกระทรวง เพื่อให้การปรับเปลี่ยนระบบการบริหารทรัพยากรบุคคลเป็นไปอย่างราบรื่นที่สุด

นายปรีชา กล่าวอีกว่า สำนักงาน ก.พ. ได้ร่วมกับศูนย์วิจัยเอแบคนวัตกรรมทางสังคม การจัดการและธุรกิจ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ (เอแบคโพลล์) จัดทำผลสำรวจเรื่อง “ความคิดเห็นของข้าราชการเกี่ยวกับร่างพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือนฉบับใหม่ : กรณีศึกษาข้าราชการพลเรือนทั่วประเทศ” จากกลุ่มตัวอย่างข้าราชการพลเรือนทั่วประเทศ จำนวน 1,221 ตัวอย่าง ในช่วงปลายปีที่ผ่านมา พบว่า ร้อยละ 84.4 ของข้าราชการ เห็นด้วยกับการให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรม เพื่อปรับปรุงนโยบายที่เกี่ยวข้องกับระบบวินัยความยุติธรรม และระบบการดูแลร้องทุกข์ของข้าราชการให้รัดกุมยิ่งขึ้น ร้อยละ 83.5 เห็นด้วยอย่างยิ่งกับการ นำหลักการบริหารบุคคลแนวใหม่มาใช้ในราชการ โดยเน้นให้ข้าราชการมุ่งเน้นผลสัมฤทธิ์ในการทำงาน และ ร้อยละ 78.7 เห็นด้วยอย่างยิ่งกับการกระจายอำนาจเกี่ยวกับการบริหารทรัพยากรบุคคลให้กับอธิบดี ปลัดกระทรวง ภายใต้งบประมาณและมาตรฐานกลางที่ทาง ก.พ. กำหนดไว้ แทนการรวมอำนาจทั้งหมดไว้ที่ ก.พ.

ส่วนการยกเลิกระบบ “ซี” แล้วเปลี่ยนการจำแนกตำแหน่งเป็นประเภทต่างๆ ซึ่งได้แก่ประเภทบริหาร อำนวยการ วิชาการ และทั่วไปนั้น ข้าราชการเห็นด้วยอย่างยิ่ง ร้อยละ 69.2 เห็นว่าจะเพิ่มความคล่องตัวในการจำแนกและกำหนดมาตรฐาน ร้อยละ 82.8 เห็นด้วยอย่างยิ่งกับการปรับปรุงมาตรฐานค่าตอบแทนต่างๆ เช่น มีการปรับเงินเดือนให้เป็นเปอร์เซ็นต์ การกำหนดเป็นขั้นต่ำ-ขั้นสูง และ ร้อยละ 72.7 ระบุเห็นด้วยอย่างยิ่งกับการต่ออายุราชการได้ หลังอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ โดยผู้ที่ขอต่ออายุราชการไม่ต้องอยู่ในระดับผู้บริหาร

นอกจากนี้ ยังได้จัดทำผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชนอายุ 18 ปีขึ้นไปในเขตกรุงเทพมหานคร เกี่ยวกับพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือนฉบับใหม่จำนวน 575 ตัวอย่าง พบว่า ร้อยละ 35.9 เห็นว่าผลกระทบจากพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือนฉบับใหม่จะช่วยปรับปรุงคุณภาพการบริการของข้าราชการต่อประชาชนให้ดีขึ้น