ผลการประชุมระดับปลัดกระทรวงการคลังเอเปค

25 Feb 2011

กรุงเทพฯ--25 ก.พ.--กลุ่มการประชาสัมพันธ์ สำนักงานปลัดกระทรวงการคลัง

นายนริศ ชัยสูตร ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะหัวหน้าคณะผู้แทนไทย หลังจากกลับจากการประชุมระดับปลัดกระทรวงการคลังเอเปค (APEC Finance Deputies’ Meeting : APEC FDM) เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2554 ณ เมืองซานฟรานซิสโก มลรัฐแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้เปิดเผยว่า การประชุม APEC FDM ครั้งนี้จัดขึ้นเพื่อเต รียมการสำหรับการประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเอเปค (APEC Finance Ministers’ Meeting: APEC FMM) ที่จะมีในเดือนพฤศจิกายน 2554 ณ เมืองโฮโนลูลู มลรัฐฮาวาย ประเทศสหรัฐอเมริกา (ซึ่งนายกรณ์ จาติกวณิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง จะเป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทย เข้าร่วมการประชุมดังกล่าว) เพื่อหารือในด้านความท้าทายที่มีต่อการกำหนดนโยบายเศรษฐกิจในเอเชียแปซิฟิก การบริหารนโยบายเพื่อรองรับเงินทุนเคลื่อนย้ายที่ผันผวน และการดำเนินนโยบายเพื่อให้ประชาชนเข้าถึงแหล่งเงินอย่างทั่วถึง

ในการประชุม APEC FDM ที่ประชุมได้หารือใน 3 ประเด็นหลัก ได้แก่

(1) ด้านภาวะเศรษฐกิจโลก และในภูมิภาคเอเปค ซึ่งในส่วนของเศรษฐกิจโลกนั้นกองทุนการเงินระหว่างประเทศรายงานว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกในช่วงที่ผ่านมามีการฟื้นตัวใน 2 ลักษณะ (two-speed recovery) กล่าวคือ ในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วมีการฟื้นตัวแบบช้าๆ ในขณะที่ในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาเป็นการฟื้นตัวแบบรวดเร็ว ซึ่งส่งผลให้การเติบโตทางเศรษฐกิจในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว มีอัตราการเติบโตร้อยละ 3.1 ในปี 2553 และคาดว่าจะเป็นร้อยละ 2.7 ในปี 2554 ในขณะที่ในประเทศกำลังพัฒนามีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจเฉลี่ยในปี 2553 ที่ร้อยละ 8.3 และคาดว่าจะเติบโตอยู่ที่ร้อยละ 7.3 ในปี 2554 ทั้งนี้ ประเด็นท้าทายที่ยังคงมีอยู่ได้แก่ความไม่สมดุลระหว่างการส่งออกและการบริโภคในประเทศ และความเสี่ยงใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นมาจากการเพิ่มขึ้นของราคาอาหารและพลังงาน อาทิ การเพิ่มขึ้นของอัตราเงินเฟ้อในประเทศกำลังพัฒนาและปัญหาการว่างงานในประเทศที่พัฒนาแล้ว นอกจากนี้ยังมีความเสี่ยงด้านความสามารถในการบริหารหนี้สาธารณะให้อยู่ในระดับยั่งยืนของแต่ละประเทศ ด้านการขาดแผนระยะกลางในการบริหารงบประมาณเพื่อชำระหนี้ และความเสี่ยงด้านเศรษฐกิจที่เติบโตเร็วเกินไปจนกลายเป็นภาวะฟองสบู่ เป็นต้น ซึ่งที่ประชุมเห็นว่าในส่วนของประเทศพัฒนาแล้วควรมีการปฏิรูปโครงสร้างอุตสาหกรรมและโครงสร้างแรงงาน รวมทั้งบริหารฐานะการคลังของประเทศให้ยั่งยืน เพื่อลดปัญหาด้านการว่างงาน และสำหรับประเทศกำลังพัฒนาควรปฏิรูปโครงสร้างการบริโภคโดยหันมาพึ่งพาการบริโภคภายในประเทศ และในภูมิภาคมากกว่าการพึ่งพาการส่งออก รวมทั้งบริหารนโยบายการเงินเพื่อระมัดระวังความผันผวนของกระแสเงินทุนไหลเข้า-ออก อย่างรวดเร็วในช่วงที่เศรษฐกิจเติบโต เพื่อให้ค่าเงินในประเทศมีเสถียรภาพมากขึ้น ทั้งนี้ ที่ประชุมได้หารือถึงการกำหนดหัวข้อหลักของการประชุมระดับรัฐมนตรีในปีนี้ว่าไม่ควรเน้นเพียงการเติบโตของภาคการผลิต แต่ควรมุ่งเน้นการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างสมดุล ระหว่าง 3 เสาหลักอันได้แก่ การลงทุน – การบริโภค – การส่งออก นอกจากนี้ยังเห็นว่าหากสมาชิกที่เป็นประเทศผู้ผลิตสินค้าเกษตรสามารถลดการบิดเบือนในตลาดสินค้าเกษตร อาทิ ยกเลิกการอุดหนุน และ ยกเลิกการจำกัดปริมาณการส่งออกสินค้าเกษตรที่เ ป็นอาหาร ก็จะช่วยบรรเทาปัญหาด้านราคาสินค้าที่สูงขึ้น อันเป็นสาเหตุของการเกิดภาวะเงินเฟ้อ

(2) ด้านแนวโน้มของเงินทุนเคลื่อนย้าย ที่ประชุมได้ให้ความสำคัญกับความท้าทายที่อาจเกิดขึ้นจากการผันผวนของเงินทุนเคลื่อนย้าย ซึ่งผู้แทนสหรัฐฯ ได้ชี้แจงว่าภายหลังจากการเกิดวิกฤติการณ์ทางการเงินเมื่อปี 2551 แล้วพบว่ามีเงินทุนเคลื่อนย้ายจากประเทศพัฒนาแล้วมายังประเทศกำลังพัฒนาเป็นจำนวนมาก อันเป็นผลจากความต้องการในการลงทุนของประเทศกำลังพัฒนาโดยเฉพาะในสาขาสาธารณูปโภค ประกอบกับอัตราผลตอบแ ทนที่สูงกว่า ทั้งนี้ พบว่าปริมาณเงินทุนเคลื่อนย้ายได้ส่งผลกระทบต่อการแข็งตัวของค่าเงินสกุลท้องถิ่นของประเทศที่เป็นฝ่ายรับ ดังนั้น จึงมีความจำเป็นที่ประเทศกำลังพัฒนาต้องมีการวางแผนเพื่อรองรับการเคลื่อนย้ายทุน ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว โดยใช้เครื่องมือการบริหารเงินสำรองระหว่างประเทศ บริหารอัตราแลกเปลี่ยนให้ยืดหยุ่นและสะท้อนความเป็นจริง มีการพัฒนาตลาดทุนในเชิงลึกโดยการออกตราสารที่มีความหลากหลายทั้งในแง่ระยะเวลาและผลตอบแทน มีมาตรการเพื่อสนับสนุนการลงทุนทางตรง พัฒนาระบบสถาบันการเงินให้มีเสถียรภาพ และพัฒนาระบบการกำกับดูแลเพื่อความมั่นคงของระบบการเงินและสถาบันการเงิน นอกจากนี้ที่ประชุมมีความเห็นสอดคล้องกับผลการประชุม G20 ในประเด็นด้านการสนับสนุนให้มีการจัดทำหลักปฏิบัติเบื้องต้นในการใช้มาตรการดูแลความเสี่ยงด้านมหภาค (Indicative guid elines on implementing macro-prudential measures) อย่างเหมาะสมและเพียงพอ

(3) ด้านบทบาทของการลงทุนที่มีต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ ที่ประชุมเห็นว่านโยบายด้านการลงทุนมีบทบาทสำคัญต่อการสร้างสมดุลเชิงเศรษฐกิจในภูมิภาค โดยเห็นว่าการเพิ่มระดับการลงทุนในประเทศจะช่วยเพิ่มการจ้างงานและลดช่องว่างทางสังคมลงได้ โดยเฉพาะการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน และสาธารณูปโภคต่างๆ รวมถึงการพัฒนาโครงสร้างทางสังคม สำหรับประเด็นการจัดหาแหล่งเงินเพื่อนำมาลงทุนนั้น สมาชิกเอเปคเห็นว่าปัจ จุบันเนื่องจากสภาพคล่องในประเทศกำลังพัฒนานั้นมีจำนวนมากอยู่แล้ว หากรัฐบาล สถาบันการเงินในประเทศ และสถาบันการเงินระหว่างประเทศมีความร่วมมือกัน ในการสร้างบรรยากาศให้น่าลงทุน อาทิ การจัดให้มีกลไกการรับประกันความเสี่ยงของการลงทุน กลไกการสนับสนุนการลงทุนสีเขียว ก็จะช่วยสนับสนุนให้การลงทุนภาคเอกชนมีสัดส่วนที่เพิ่มขึ้น นอกจากนี้การร่วมทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน (Public-Private Participation: PPP) ก็เป็นหนทางหนึ่งที่จะช่วยบรรเทาภาระงบประมาณของทางการได้ ทั้งนี้ที่ประชุมเห็นว่าในประเทศกำลังพัฒนานั้น การลงทุนในสาขาการผลิตมีสัดส่วนที่มากกว่าการลงทุนในสาขาบริการ ซึ่งแตกต่างจากประเทศพัฒนาแล้วส่วนใหญ่ที่จะเน้นการลงทุนในสาขาบริการมากเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มในกับเศรษฐกิจ ดังนั้นประเทศกำลังพัฒนาจึงควรหันมาพิจารณาเพิ่มบทบาทการลงทุนใน สาขาบริการให้มากขึ้น และพัฒนาตลาดทุนในภูมิภาคให้เข้มแข็งขึ้น นอกจากนี้ ที่ประชุมเห็นว่าแนวทางการพัฒนาตลาดพันธบัตรเอเชีย Asian Bond Market Initiative ที่ประเทศไทยร่วมกับ ASEAN+3 กำลังดำเนินการอยู่เป็นแนวทางที่ช่วยยกระดับการลงทุนในภูมิภาคได้ดียิ่ง

นายนริศได้กล่าวย้ำในการประชุมว่า แม้ว่าการที่เศรษฐกิจโลกส่งสัญญาณฟื้นตัวจะเป็นเรื่องที่น่ายินดี แต่ ประเทศไทยยังมีความกังวลใน ๒ ประเด็นหลักที่มีความท้าทายต่อการเติบโตอย่างยั่งยืน ได้แก่ (1) การเตรียมความพร้อมของประเทศกำลังพัฒนาในการเฝ้าระวังและเตรียมดำเนินนโยบายกรณีที่มีกระแสเงินทุนไหลออกจากประเทศอย่างฉับพลันจากผลของการที่เศรษฐกิจของประเทศพัฒนาแล้วกลับสู่สภาวะมั่นคงขึ้น และผลตอบแทนการลงทุนในประเทศพัฒนาแล้วที่ปัจจุบันมีความจูงใจในการลงทุน (2) การเตรียมนโยบายและมาตรการเพื่อรองรับอัตราเงินเฟ้อที่มีแนวโน้มสูงขึ้นจากราคาอาหารและพลังงานที่เพิ่มขึ้น ทั้งนี้ ในกรอบเอเปคปีนี้ ประเทศไทยได้ให้ความสำคัญเป็นพ ิเศษกับมาตรการริเริ่มด้านการพัฒนาการเข้าถึงแหล่งเงินทุนฐานราก ซึ่งสหรัฐฯ ได้นำเสนอเป็นมาตรการริเริ่มในกรอบการประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเอเปคในปีนี้ ทั้งนี้ ไทยได้ส่งผู้แทนเข้าเป็นวิทยากรในการประชุมเชิงวิชาการด้านการเข้าถึงแหล่งเงินทุนฐานรากที่จัดขึ้นต่อเนื่องจากการประชุม APEC FDM ในวันที่ 23-24 กุมภาพันธ์ 2554 ทั้งนี้ ไทยได้มีการวางกรอบนโยบายไว้ในแผนแม่บทการเงินฐานราก แผนพัฒนาสถาบันการเงินของรัฐ และแผนพัฒนาระบบสถาบันการเงินฉบับที่ 2 ซึ่งครอบคลุมแนวทางการพัฒนาแหล่งเงินทุนฐานรากไว้ครบถ้วนแล้ว