ระวัง !! รับประทานอาหารทะเลหน้าร้อน เสี่ยงท้องร่วง

10 Apr 2012

กรุงเทพฯ--10 เม.ย.--กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์

นายแพทย์สุรวิทย์ คนสมบูรณ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ โดยศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 3 ชลบุรี ได้ร่วมกับสำนักการสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม เทศบาลเมืองพัทยา สุ่มเก็บตัวอย่างอาหารทะเลพร้อมบริโภคจากร้านอาหารตามสั่ง หาบเร่ และรถเร่ที่จำหน่ายบริเวณชายหาดพัทยาและหาดจอมเทียน จังหวัดชลบุรี เพื่อเฝ้าระวังความปลอดภัยของอาหารในแหล่งท่องเที่ยว ได้แก่ ปูม้าต้ม ปลาหมึกย่าง กุ้งต้ม หอยแมลงภู่นึ่ง และปลาซาบะ รวม 83 ตัวอย่าง และน้ำจิ้ม 40 ตัวอย่าง ผลการตรวจวิเคราะห์ พบว่า อาหารทะเลพร้อมบริโภคไม่ผ่านเกณฑ์มาตรฐาน 43 ตัวอย่าง คิดเป็นร้อยละ 51.8 ซึ่งตรวจพบการปนเปื้อนของเชื้ออีโคไล (E.coli) สูงเกินเกณฑ์ทุกตัวอย่าง โดยพบมากสุดในปูม้าต้ม นอกจากนี้ยังตรวจพบการปนเปื้อนของเชื้อที่ก่อให้เกิดโรคอาหารเป็นพิษชนิดอื่นๆ อีก สำหรับผลการตรวจน้ำจิ้มที่มาจากรถเร่ และหาบเร่ พบไม่ผ่านเกณฑ์ร้อยละ 66.7 และ 51.4 ตามลำดับ ตรวจพบการปนเปื้อนของเชื้อวิบริโอ คอเลอเร(Vibrio cholerae) มากที่สุด

จากผลการตรวจวิเคราะห์ตัวอย่างอาหารทะเลและน้ำจิ้มพบการปนเปื้อนเชื้อโรคที่ก่อให้เกิดโรคอาหารเป็นพิษโดยเฉพาะเชื้ออีโคไล ซึ่งเป็นเชื้อแบคทีเรีย หากผู้บริโภคได้รับเชื้อในปริมาณที่สูง จะทำให้มีอาการท้องร่วง และอาการรุนแรงเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ปวดท้อง ถ่ายเหลว บางรายอาจมีเลือดปน มีไข้ อาเจียน ส่วนเชื้อซัลโมเนลล่า และเชื้อวิบริโอ เป็นเชื้อแบคทีเรียที่ก่อให้เกิดโรคอุจจาระร่วงได้เช่นกัน

ด้าน นายแพทย์บุญชัย สมบูรณ์สุข อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า การปนเปื้อนของแบคทีเรียในอาหารทะเลพร้อมบริโภคนั้น ผู้บริโภคมีโอกาสได้รับการปนเปื้อนของเชื้อแบคทีเรียซึ่งก่อให้เกิดโรคทางเดินอาหารในอาหารแต่ละชนิดแตกต่างกันได้ ทั้งนี้อาจเกิดจากอาหารผ่านความร้อนไม่เพียงพอที่จะทำลายเชื้อต่างๆ ที่ปนเปื้อนมาจากธรรมชาติ อีกทั้งจากการตรวจวิเคราะห์ยังพบเชื้อวิบริโอ คอเลอเร ซึ่งเป็นเชื้อที่ทนความร้อน ดังนั้นเพื่อความปลอดภัยในการบริโภคผู้บริโภคควรรับประทานอาหารทะเลที่ปรุงสุกใหม่ หรืออุ่นให้ร้อนก่อนรับประทาน ดื่มน้ำที่สะอาด ล้างมือให้สะอาดทุกครั้ง และควรคำนึงถึงสุขลักษณะของผู้จำหน่าย ความสะอาดของภาชนะ เพื่อการบริโภคอาหารที่ปลอดภัยต่อสุขภาพ อย่างไรก็ตาม หากมีอาการท้องร่วงไม่รุนแรงนักก็ให้รับประทานเกลือแร่ เพื่อทดแทนการสูญเสียน้ำ แต่ถ้าหากอาการยังไม่ทุเลาควรไปพบแพทย์เป็นการด่วนไม่เช่นนั้นผู้ป่วยจะเกิดภาวะเม็ดเลือดแดงแตก และไตวาย อาจจะทำให้เสียชีวิตในที่สุด นอกจากนี้ผู้ป่วยไม่ควรรับประทานยาระงับการถ่ายอุจจาระ เพราะยาประเภทนี้จะทำให้อาการป่วยรุนแรงขึ้นกว่าเดิม

สำหรับการเฝ้าระวังและดูแลความปลอดภัยแก่ผู้บริโภค ทางศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 3 ได้รายงานผลดังกล่าวให้ทางเทศบาลเมืองพัทยาทราบแล้ว ขณะนี้ทางเทศบาลเมืองพัทยาได้จัดทำโครงการบริโภคอาหารปลอดภัย โดยมุ่งเน้นกิจกรรมการอบรมให้ความรู้แก่ผู้จำหน่ายอาหารทะเล พร้อมทั้งมีการประชาสัมพันธ์ให้ความรู้กับประชาชนในพื้นที่ นอกจากนี้ยังได้จัดรถห้องปฏิบัติการเคลื่อนที่(mobile lab)ออกตรวจอาหารอย่างต่อเนื่องโดยใช้ชุดทดสอบความปลอดภัยด้านอาหารของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ตรวจสอบอาหารด้วย

-กผ-

สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net