เด็กไทย ใช้ “วิทยาศาสตร์” อธิบาย “ภูมิปัญญา” เชื่อมโยงสู่ชีวิตประจำวัน

03 Oct 2012

กรุงเทพฯ--3 ต.ค.--สสวท.

ปกติ ชาวสวน ในอำเภอดำเนินสะดวก จังหวัดราชบุรี มักจะท่วมขังน้ำในแปลงเพาะปลูกผักหลังจากฤดูกาลเก็บเกี่ยวเสร็จสิ้นลง ก่อนจะเริ่มการเพาะปลูกครั้งใหม่ สิ่งที่เห็นจนเคยชินเหล่านี้ ถูกนำมาอธิบายด้วยกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ โดย ดช.อนุชิต มั่นนิ่ม และ ดญ.มณีรัตน์ อินทประเสริฐ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการดอนคลัง

ผลงานวิจัยของทั้งสองคนชื่อ “ผลของการจัดการดินโดยการท่วมขังน้ำต่อค่า pH ของดิน ปริมาณธาตุอาหารพืช N P K ความหลากหลายของแมลงศัตรูพืชและแมลงศัตรูธรรมชาติในแปลงผักกวางตุ้ง ในตำบลดอนคลัง อำเภอดำเนินสะดวก จังหวัดราชบุรี” งานวิจัยชิ้นนี้ ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 จากการนำเสนอผลงานวิจัยวิทยาศาสตร์โลกทั้งระบบ ระดับโรงเรียน ครั้งที่ 4 ณ บ้านวิทยาศาสตร์สิรินธร อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย จัดโดย สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.)

น้องอนุชิต เล่าถึงงานวิจัยว่า ต้องการศึกษาเปรียบเทียบผลของการจัดการดินโดยการขังน้ำต่อ ค่า pH ,ปริมาณธาตุอาหารพืช และแมลงศัตรูพืช แมลงศัตรูธรรมชาติที่อาศัยในแปลงผัก ก่อนและหลังน้ำท่วมขัง โดยการเก็บตัวอย่างดินก่อนแ ละหลังน้ำท่วมขังจากแปลงผักกวางตุ้ง จำนวน 3 แปลงๆละ 3 จุดๆละ 2 ระดับความลึก

ผลการศึกษา พบว่า การท่วมขังน้ำมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงสมบัติของดินตามสมมติฐานข้างต้น คือ ค่า pH ของดินมีค่าสูงขึ้น ไนโตรเจนในรูปไนเตรตมีค่าเพิ่มขึ้น ความหลากหลายของแมลงศัตรูพืชและแมลงศัตรูธรรมชาติลดลง และวิธีการท่วมขังน้ำของเกษตรกรซึ่งเป็นภูมิปัญญาดั่งเดิมตามความเชื่อนั้นก่อให้เกิดประโยชน์ต่อดินจริงตามที่ทำต่อๆกันมา

น้องมณีรัตน์ บอกว่า การนำกระบวนการวิทยาศาสตร์มาใช้ในการเก็บข้อมูล เพื่อทำงานวิจัยทำให้เป็นคนที่รอบคอบมากขึ้น ช่างสังเกต มีความสงสัย เช่น เรื่องการท่วมขังน้ำของเกษตรกรในชุมชนก่อนทำการเพาะปลูกใหม่ ทำให้เกิดข้อสงสัย จึงนำมาสู่การใช้กระบวนการวิทยาศาสตร์ในการหาคำอธิบาย และผลการศึกษาก็นำมาเป็นประโยชน์กับท้องถิ่นตัวเองได้

ด้านน้องอนุชิต บอกว่า เมื่อได้มาทำวิจัย จากเมื่อก่อนไม่เคยสนใจวิทยาศาสตร์ ก็ทำให้ชอบการเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์มากขึ้น อยากเรียนรู้มากขึ้น ที่บ้านเองก็ทำสวนผัก ตนเองอยู่กับสิ่งแวดล้อมเหล่านี้ ยิ่งทำให้มีความสนใจมากขึ้น อยากศึกษาเพื่อหาความรู้ใหม่มากขึ้น ส่วนอุปสรรคระหว่างการทำวิจัยนั้น น้องอนุชิต และ น้องมณีรัตน์ เล่าว่า แปลงผักที่เราไปเก็บตัวอย่างดินนั้นอยู่ไกล การเดินทางค่อนข้างลำบาก โดยเฉพาะเวลาที่ฝนตก ดังนั้น ต้องมีความพยายามมากเพื่อฟันฝ่าอุปสรรคต่างๆไปให้ได้ เพราะแต่ละวันหลังจากเลิกเรียนก็ต้องไปเก็บข้อมูลเพื่อนำมาห้องทดลอง เราใช้เวลาทำงานวิจัยชิ้นนี้กันตั้งแต่เดือน พ.ค. ปี 2553 –ม.ค. 2554 และได้รับการคัดเลือกจากสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) มานำเสนอในงานนี้

น้องทั้งสองคนยังบอกอีกว่า นี่เป็นงานวิจัยชิ้นแรกของพวกเขา สอนให้เขารู้จักการทำงานที่เป็นระบบ ทำให้กลายเป็นคนที่ทำอะไรเป็นขั้นเป็นตอนมากขึ้น น้องอนุชิต บอกว่า ตอนนี้มีความตั้งใจอยากเป็นครูสอนวิทยาศาสตร์ในอนาคต ส่วนน้องมณีรัตน์ บอกว่า ทัศนคติต่อวิทยาศาสตร์ของเธอนั้น เป็นสิ่งที่น่าสนใจ มีเรื่องลึกลับ น่าค้นหาอยู่ตลอดเวลา ทำให้อยากเรียนด้านวิทยาศาสตร์ต่อไปในอนาคต

ส่วนอาจารย์ ศราวดี เอี่ยมขำ อาจารย์ที่ปรึกษา แสดงความเห็นเกี่ยวกับลูกศิษย์ว่า การทำวิจัยทำให้ทั้งสองคนเปลี่ยนแปลงและพัฒนาไปในทางที่ดีขึ้นมาก กรณีของ อนุชิต นั้น จากเด็กไม่กล้าแสดงออก เปลี่ยนเป็นกลายพูดมากขึ้น แม้แต่บุคลิกภาพก็เปลี่ยนไป มีความสนใจวิทยาศาสตร์มากขึ้น และอยากค้นคว้าทดลองมากขึ้นด้วย เพราะตัวเขาเองก็ปลูกผัก ได้ใช้แปลงผักของตัวเองเป็นห้องทดลองทางวิทยาศาสตร์ สามารถนำไปเชื่อมโยงกับชีวิตประจำวันของตัวเองได้

ส่วนมณีรัตน์ เป็นเด็กที่เรียนเก่งและสนใจอยู่แล้ว ทำให้ได้ต่อยอดความสนใจของตัวเองมากขึ้นและเมื่องานวิจัยได้รับรางวัล มีคนเห็นคุณค่า กลายเป็นความภูมิใจของเด็กๆ ทำให้มีกำลังใจอยากเรียนรู้เพิ่มขึ้นด้วย เป็นการจุดประกายให้เขาสนุกกับกระบวนการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ และตั้งใจว่า หลังจากนี้จะทำงานวิจัยเรื่องต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับชุมชนต่อไป

“สำหรับตัวครูเองนั้น เมื่อเข้ามาร่วมกับโครงการ GLOBE ของสสวท. เพื่อใช้วิทยาศาสตร์ในการศึกษาสิ่งแวดล้อมรอบตัวแล้ว ทำให้เห็นแนวทางที่จะสอนเด็กต่อไป และได้เรียนรู้เพิ่มขึ้นมากจากนักวิทยาศาสตร์ที่เข้ามาร่วมเป็นที่ปรึกษางานวิจัย และมีเครือข่ายในการหาความรู้มากขึ้น เพื่อนำไปใช้ในการเรียนการสอนให้แก่เด็กนักเรียน” อาจารย์ศราวดี บอกถึงสิ่งที่ได้เรียนรู้

-นท-

สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net