กสอ. ปิ๊งไอเดีย รุกปั้นสินค้าแปรรูปจากยางพารา กุญแจสร้างมูลค่าอุตสาหกรรมยางไทยสู้ศึก AEC

27 Aug 2013

กรุงเทพฯ--27 ส.ค.--เจซีแอนด์โค พับลิครีเลชั่นส์

กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) กระทรวงอุตสาหกรรมเร่งพัฒนาอุตสาหกรรมยางและผลิตภัณฑ์ยางพร้อมชู4 กลยุทธ์หลักพัฒนาผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมยางและผลิตภัณฑ์ยางใน 7 จังหวัด ภาคใต้ ได้แก่กลยุทธ์การส่งเสริมการพัฒนาผลิตภัณฑ์ยาง การจัดการรวมกลุ่มเครือข่ายอุตสาหกรรมยางการพัฒนาความเชื่อมโยงของระบบ ERP และ ITในอุตสาหกรรมยางและผลิตภัณฑ์ยาง และการพัฒนาสิ่งแวดล้อมในอุตสาหกรรมยางและผลิตภัณฑ์ยาง โดยในปี 2557 จะมุ่งส่งเสริมอุตสาหกรรมกลางน้ำและปลายน้ำเพื่อพัฒนากระบวนการผลิตในอุตสาหกรรมแปรรูปเฟอร์นิเจอร์จากไม้ยางพาราและผลักดันสินค้าเฟอร์นิเจอร์ไม้ยางพาราให้เข้าสู่ตลาดมากขึ้นปัจจุบันในกลุ่มอุตสาหกรรมยางและผลิตภัณฑ์ยางในประเทศไทย ส่วนใหญ่กว่า 90%เป็นอุตสาหกรรมต้นน้ำได้แก่การผลิตแผ่นยาง ส่วนที่เหลือเป็นอุตสาหกรรมกลางน้ำและอุตสาหกรรมปลายน้ำ ทั้งนี้อุตสาหกรรมยางและผลิตภัณฑ์ยางนับเป็นอุตสาหกรรมที่นำรายได้เข้าสู่ประเทศเป็นมูลค่ากว่า 529,973.61 ล้านบาท โดยประเทศไทยเป็นผู้ผลิตและส่งออกยางธรรมชาติอันดับ 1 ของโลก หรือประมาณ 1 ใน 3ของปริมาณการส่งออกยางทั้งหมดทั่วโลกซึ่งยางธรรมชาติที่มีการผลิตและส่งออกของไทย แบ่งเป็น 5 ชนิด ได้แก่ น้ำยาง ยางแผ่นรมควัน ยางแท่ง ยางแผ่นและยางธรรมชาติอื่นๆ

นายโสภณ ผลประสิทธิ์อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า อุตสาหกรรมยางในประเทศไทยนั้น ประกอบด้วย 3 ส่วน ได้แก่อุตสาหกรรมต้นน้ำ ทำหน้าที่ผลิตวัตถุดิบ อาทิ ยางแผ่นรมควันยางแท่งและน้ำยางข้น อุตสาหกรรมกลางน้ำ อาทิ ยางรัดของ ท่อยาง และผลิตภัณฑ์ยาง ฯลฯ และอุตสาหกรรมปลายน้ำ ซึ่งเป็นการเพิ่มมูลค่าของวัตถุดิบหรือแปรรูปวัตถุดิบยางธรรมชาติให้เป็นผลิตภัณฑ์ยาง อาทิ ล้อรถยนต์ ปะเก็นยาง และถุงยางอนามัยฯลฯ โดยกว่า 90%ในประเทศไทย เป็นอุตสาหกรรมต้นน้ำ และอีก 10%เป็นอุตสาหกรรมกลางน้ำและอุตสาหกรรมปลายน้ำ ซึ่งผู้ประกอบการส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบการในภาคใต้ ได้แก่ สงขลา พัทลุง ตรัง สตูลยะลา ปัตตานีและนราธิวาสขณะที่กสอ. มีหน้าที่หลักในการส่งเสริมอุตสาหกรรมดังกล่าว โดยในปี 2556กสอ.นำ 4 กลยุทธ์มาใช้ในการส่งเสริมอุตสาหกรรมยางพาราไทยเพื่อช่วยให้ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมยางและผลิตภัณฑ์ยางในประเทศไทยสามารถพัฒนาศักยภาพเพื่อการแข่งขันได้ในตลาดโลก และสามารถส่งเสริมผู้ประกอบการรวมกว่า 130 ราย โดยรายละเอียด 4 กลยุทธ์ ประกอบไปด้วย

1.การส่งเสริมการพัฒนาผลิตภัณฑ์ยางเป็นกิจกรรมที่ช่วยส่งเสริมให้ผู้ประกอบการได้พัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีมูลค่าเพิ่ม มีนวัตกรรมผลิตภัณฑ์ยางเข้าสู่ตลาดมากขึ้น อาทิ ส่งเสริมให้มีการพัฒนาเฟอร์นิเจอร์จากไม้ยางการออกแบบผลิตภัณฑ์ยางอื่นๆ เป็นต้น เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมยางและผลิตภัณฑ์ยางของไทยในกลุ่มประเทศอาเซียน

2.การจัดการรวมกลุ่มเครือข่ายอุตสาหกรรมยางเพื่อให้ผู้ประกอบการทั้งหมดได้แลกเปลี่ยนข้อมูลและประสบการณ์ เพื่อนำมาพัฒนาอุตสาหกรรมของตนเอง ทั้งในด้านการบริหารจัดการ การพัฒนาผลิตภัณฑ์รวมถึงกระบวนการผลิตที่แต่ละอุตสาหกรรมใช้ด้วย

3.การพัฒนาความเชื่อมโยงของระบบ ERPและ ITในอุตสาหกรรมยางและผลิตภัณฑ์ยางโดยระบบ ERP เป็นระบบการจัดการข้อมูลสารสนเทศที่มีความเชื่อมโยงกันในองค์กร อาทิ ฝ่ายการผลิต ฝ่ายการตลาด ฝ่ายขายฝ่ายการเงิน และฝ่ายโลจิสติกส์ เป็นต้น เพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปอย่างราบรื่น แต่ละฝ่ายสามารถเข้าถึงข้อมูลได้โดยตรง ซึ่งระบบดังกล่าวจะเน้นใช้ในอุตสาหกรรม SMEsทั้งนี้กสอ.ได้มีการพัฒนาระบบให้สอดคล้องกับการดำเนินงานของผู้ประกอบการแต่ละรายและเข้าไปดำเนินงานติดตั้งระบบรวมถึงการอบรมการใช้งานระบบให้แก่ผู้ปฏิบัติงานด้วย

4.การพัฒนาสิ่งแวดล้อมในอุตสาหกรรมยางและผลิตภัณฑ์ยางโดยกสอ.ได้ให้คำปรึกษาแนะนำแก่ผู้ประกอบการในการพัฒนาสิ่งแวดล้อม เพื่อให้ถูกต้องตามมาตรฐาน ไม่ทำลายสภาพแวดล้อม ป้องกันปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมที่จะเกิดขึ้น อีกทั้งเป็นการลดต้นทุนการผลิตด้วย อาทิ การพัฒนาบ่อพักน้ำยางไม่ให้ทำลายสภาพแวดล้อมทั้งภายในโรงงานและภายนอกโรงงานที่อาจมีผลต่อชุมชนด้วย

นายโสภณ กล่าวถึง ข้อมูลเกี่ยวกับอุตสาหกรรมยางใน AECว่า ปัจจุบันประเทศมาเลเซียเป็นอีกหนึ่งประเทศที่อุตสาหกรรมยางและผลิตภัณฑ์ยาง มีอัตราการเติบโตสูงมาก และมีมูลค่าการส่งออกผลิตภัณฑ์ยางเป็นอันดับ 2ในกลุ่มประเทศอาเซียนด้วย ซึ่งเป็นคู่แข่งที่สำคัญของประเทศไทยโดยอุตสาหกรรมยางและผลิตภัณฑ์ยางในประเทศมาเลเซีย ส่วนใหญ่เป็นอุตสาหกรรมกลางน้ำและอุตสาหกรรมปลายน้ำ ซึ่งรัฐบาลมาเลเซียมีนโยบายชัดเจนที่จะส่งเสริมเฉพาะในอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าสูงดังนั้นกสอ.จึงได้มีการเร่งพัฒนาแผนพัฒนาอุตสาหกรรมยางและผลิตภัณฑ์ยางผ่านนโยบายส่งเสริมอุตสาหกรรมกลางน้ำและปลายน้ำมากขึ้น อาทิ การผลิตเฟอร์นิเจอร์ไม้ยางยางรถยนต์และถุงมือยาง ฯลฯทั้งนี้เมื่อเร็วนี้ กสอ.กำหนดจัดงาน“มหกรรมแสดงสินค้ายางพารา”(Rubber Products Expo)ซึ่งเป็นโครงการที่จัดขึ้นมาอย่างต่อเนื่องเป็นครั้งที่ 3 เพื่อยกระดับและพัฒนาอุตสาหกรรมยางพาราของไทยให้สามารถแข่งขันได้ในระดับอาเซียนและระดับโลก กิจกรรมภายในงานจะมีการแสดงและจัดจำหน่ายสินค้าเฟอร์นิเจอร์ยางพาราที่ผลิตโดยคนไทย การจัดนิทรรศการยางพาราเพื่อเสริมสร้างองค์ความรู้ อาทิ การสาธิตการใช้อุปกรณ์เครื่องมือเทคโนโลยีใหม่สำหรับอุตสาหกรรมยางพารา กรรมวิธีในการผลิตเพื่อให้ได้วิธีการผลิตที่มีประสิทธิภาพและต้นทุนต่ำตลอดจนการแปรรูปยางพาราให้เป็นสินค้ามูลค่าเพิ่ม รวมถึงการให้คำแนะนำในรูปแบบการสัมมนา ภายใต้หัวข้อ“ปลูกยางอย่างไร ให้ร่ำรวย”

อุตสาหกรรมยางและผลิตภัณฑ์ยางเป็นอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจของประเทศไทยอย่างมาก เนื่องจากเป็นอุตสาหกรรมที่นำรายได้เข้าสู่ประเทศมีมูลค่ากว่า 529,973.61 ล้านบาทแล้ว และยังเป็นอุตสาหกรรมที่ทำให้เกิดการจ้างงานในประเทศกว่า 6 ล้านคนทั้งนี้ ในปี 2554 ประเทศไทยมีพื้นที่ปลูกต้นยาง 18,461,231 ไร่ โดยแบ่งเป็น ภาคเหนือ 867,402 ไร่ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 3,477,303 ไร่ ภาคกลางและภาคตะวันออกรวม 2,209,644 ไร่ และภาคใต้ 11,906,882 ไร่ และหากนับตั้งแต่ปี 2534 ประเทศไทยเป็นผู้ผลิตและส่งออกยางธรรมชาติอันดับ1ของโลก โดยในปี 2555 ประเทศไทยมีปริมาณการผลิตและส่งออกยางธรรมชาติกว่า 1ใน 3ของปริมาณการส่งออกยางทั้งหมดทั่วโลกหรือ 2,998.89ล้านกิโลกรัม คิดเป็นมูลค่าการส่งออก 270,153.85 ล้านบาท โดยยางธรรมชาติที่มีการผลิตและส่งออกของไทย แบ่งเป็น 5 ชนิด ได้แก่น้ำยางยางแผ่นรมควัน ยางแท่ง และยางธรรมชาติอื่นๆ โดยผลิตภัณฑ์ที่แปรรูปจากยางพาราได้แก่ยางรถยนต์ยางรถจักรยานยนต์ยางรถจักรยาน ถุงมือยางถุงยางอนามัย ยางรัดของและท่อยางต่างๆ เป็นต้นเพื่อส่งออกไปยังตลาดยางธรรมชาติหลักของไทย ได้แก่ ญี่ปุ่นจีนสหรัฐฯมาเลเซียเกาหลีใต้ และยุโรป เป็นต้น

สำหรับผู้ที่สนใจสามารถติดต่อสอบถามข้อมูลได้ที่ ศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 11 กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมโทร. 074211905-8 ต่อ 420ตลอดจนโดยผู้ประกอบการ และประชาชนทั่วไปสามารถสอบถามข้อมูลอุตสาหกรรมในประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน รวมถึงรับคู่มือเตรียมความพร้อมเพื่อเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนสำหรับผู้ประกอบการได้ที่หมายเลขโทรศัพท์ 0 2202 4435หรือเข้าไปที่ http://www.dip.go.th

-นท-

สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net