กระทรวงเกษตรฯ ศึกษาวิเคราะห์สถานการณ์ผลิตภัณฑ์ประมงไทยในสหรัฐฯ และแนวทางการส่งเสริมภาพลักษณ์ที่มีประสิทธิภาพ หวังพัฒนาผลิตภัณฑ์ประมงไทยให้มีประสิทธิภาพและมาตรฐานตามความต้องการของตลาด พร้อมเสริมสร้างศักยภาพด้านส่งออก

ข่าวประชาสัมพันธ์ »

          นายศักดิ์ชัย ศรีบุญซื่อ รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ฝ่ายการเกษตรประจำสถานกงสุลใหญ่ ณ นครลอสแอนเจลิส ได้ดำเนินโครงการศึกษาวิเคราะห์สถานการณ์ผลิตภัณฑ์ประมงไทยในสหรัฐอเมริกา และแนวทางการส่งเสริมภาพลักษณ์ที่มีประสิทธิภาพ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาสถานะและความสามารถในการแข่งขันของผลิตภัณฑ์ประมงที่นำเข้ามาจากไทยในตลาดสหรัฐฯ เปรียบเทียบกับผลิตภัณฑ์ประมงที่นำเข้าจากประเทศคู่แข่งอื่นๆ ในด้านปัญหาและอุปสรรค เพื่อวิเคราะห์และเสนอแนะแนวทางในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ประมงไทยให้มีประสิทธิภาพและมาตรฐานตามความต้องการของตลาด รวมทั้งเสริมสร้างศักยภาพด้านการส่งออกด้วย
          นายศักดิ์ชัย กล่าวว่า การศึกษาวิจัยครั้งนี้ ได้ศึกษาสถานะผลิตภัณฑ์ประมงที่นำเข้าจากไทยมายังสหรัฐฯ โดยเปรียบเทียบกับประเทศคู่แข่งที่สำคัญ ได้แก่ อินโดนีเซีย อินเดีย เวียดนาม เอกวาดอร์ แคนาดา และจีน ซึ่งจากการวิเคราะห์ในช่วงระยะเวลาปี 2554 - 2558 พบว่า ไทยยังคงเสียเปรียบประเทศคู่แข่ง เนื่องจากยังคงประสบปัญหาโรคกุ้ง EMS แม้ว่าขณะนี้จะอยู่ระยะฟื้นตัว แต่ผลผลิตที่ได้ยังไม่สามารถตอบสนองความต้องการด้านการส่งออก ส่งผลให้สหรัฐฯ ลดการนำเข้าจากไทย และหันไปนำเข้าจากประเทศคู่แข่งแทน ขณะที่ในด้านความได้เปรียบ ไทยยังคงเป็นผู้ส่งออกหลักรายใหญ่ที่สุดของโลกสำหรับผลิตภัณฑ์ประมงประเภทปลาทูน่าบรรจุกระป๋อง อีกทั้งผลิตภัณฑ์ประเภทเพิ่มมูลค่าจากไทยยังคงเป็นที่นิยมของผู้นำเข้าในสหรัฐฯ เนื่องจากไทยมีการผลิตที่มีคุณภาพและได้มาตรฐานสากล
          ในการศึกษาวิเคราะห์จุดแข็ง จุดอ่อน โอกาส และอุปสรรค เพื่อให้ทราบถึงสถานะของผลิตภัณฑ์ประมงไทยและศักยภาพทางการแข่งขันในตลาดสหรัฐฯ พบว่า อุตสาหกรรมผลิตผลิตภัณฑ์ประมงส่งออกของไทยมีจุดแข็งด้านฝีมือแรงงานในการแปรรูปผลิตภัณฑ์ประมงและผลิตผลิตภัณฑ์ประเภทเพิ่มมูลค่า ขณะที่จุดอ่อนและอุปสรรคของไทยยังคงเป็นการแก้ปัญหาโรคกุ้ง EMS ส่วนด้านปัญหาการขาดแคลนแรงงานในอุตสาหกรรมประมง และปัญหาจากผลลัพธ์จากการจัดลำดับให้รัฐบาลไทยคงอยู่ในลำดับ Tier3 ในด้านความร่วมมือต่อต้านสถานการณ์การค้ามนุษย์ (TIP) ของกระทรวงต่างประเทศสหรัฐฯ นั้น การศึกษาวิจัย พบว่า ไทยยังคงมีโอกาสเนื่องจากผู้นำเข้าในสหรัฐฯ บางส่วนยังคงให้ความไว้วางใจนำเข้าผลิตภัณฑ์ประมง โดยเฉพาะประเภทเพิ่มมูลค่าจากไทย ซึ่งนับว่าไทยยังมีศักยภาพในการผลิตดีกว่าประเทศอื่น
          จากการศึกษาวิจัยดังกล่าว แสดงให้เห็นว่า โอกาสและศักยภาพของไทยในด้านการแข่งขันในอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ประมงส่งออกในตลาดสหรัฐฯ ยังคงมีความเป็นไปได้ แต่อาจเสียเปรียบประเทศคู่แข่งขัน อาทิ ศักยภาพด้านการผลิต ค่าจ้างแรงงานและต้นทุนการผลิตที่ต่ำกว่า ประกอบกับตลาดมีการแข่งขันสูงขึ้น ซึ่งประเทศไทยจำเป็นต้องเร่งแก้ไขปัญหาต่าง ๆ รวมทั้งประชาสัมพันธ์และทำความเข้าใจกับรัฐบาลสหรัฐฯ ซึ่งรัฐบาลไทยได้ดำเนินการแก้ไขปัญหา ต่าง ๆ ให้เป็นไปตามมาตรฐานสากลอย่างต่อเนื่อง
          "ปัจจุบันภาครัฐได้เร่งรัดมาตรการแก้ไขปัญหาโรคกุ้ง EMS อย่างต่อเนื่อง เช่น การนำเข้าพ่อแม่พันธุ์ที่มีคุณภาพจากต่างประเทศเพื่อผลิตลูกกุ้งให้กับเกษตรกร การให้บริการตรวจคัดกรองโรคกุ้ง การผลิตหัวเชื้อจุลินทรีย์เพื่อฟื้นฟูแหล่งเลี้ยง ซึ่งขณะนี้พบว่า อัตราการตายที่เกิดจากโรค EMS ลดลง แต่ผลผลิตยังไม่เพิ่มสูงมากนัก เนื่องจากราคาที่เกษตรกรขายได้อยู่ในระดับต่ำ จึงชะลอการเลี้ยง เพื่อดูสถานการณ์ด้านราคา ขณะที่การตรวจสอบย้อนกลับของไทยมีมาตรฐานที่สูงกว่าคู่แข่ง โดยสามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ตั้งแต่โรงเพาะฟัก บ่อเลี้ยง รวมทั้งโรงงาน ตลอดกระบวนการผลิต ส่วนด้านแรงงานได้จัดทำแนวทางปฏิบัติการใช้แรงงานที่ดี (GLP) สำหรับฟาร์มเพาะเลี้ยงกุ้ง และโรงงานแปรรูปเบื้องต้น นอกจากนี้ ภาครัฐยังได้สนับสนุนให้เกิดการเจรจากับตัวแทนจำหน่ายรายใหญ่ของสหรัฐฯ ในด้านการยอมรับการรับรองมาตรฐานต่างๆ และการออกเครื่องหมายรับรองจากกรมประมงไทย ตลอดทั้งสนับสนุนผู้ผลิตผลิตภัณฑ์ประมงในด้านการเพิ่มศักยภาพการผลิตผลิตภัณฑ์ประมงที่ยั่งยืน เพื่อเพิ่มสัดส่วนทางการตลาดด้วย" นายศักดิ์ชัย กล่าว


ข่าวกระทรวงเกษตรและสหกรณ์+ศักดิ์ชัย ศรีบุญซื่อวันนี้

มกอช. ชูผลไม้คุณภาพไทยบุกใจคนจีน

Thai Festival 2025 ปักกิ่งคึกคัก มกอช. ชูผลไม้คุณภาพไทยบุกใจคนจีน สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) ภายใต้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ร่วมกับสำนักงานที่ปรึกษาการเกษตรประจำกรุงปักกิ่ง เข้าร่วมจัดบูทนำเสนอมาตรฐานสินค้าเกษตรของไทย ภายในงาน Thai Festival 2025 Experience Creative Thailand in Beijing โดยได้คัดสรรผลไม้ไทยคุณภาพ อาทิ ทุเรียน มังคุด เงาะ ลำไย มะพร้าว ชมพู่ น้อยหน่า และผลิตภัณฑ์ผลไม้แปรรูป รวมถึงนวัตกรรมอาหารอนาคต (Future Food) เช่น โปรตีนจิ้งหรีดและไข่ผำ มาจัดแสดงให้ผู้เข้าชม

นางธัญธิตา บุญญมณีกุล รองเลขาธิการสำนักงา... โครงการส่งเสริมและพัฒนาสินค้าเกษตรชีวภาพ หนุนเกษตรกรสร้างรายได้จากสมุนไพร-แมลงเศรษฐกิจ — นางธัญธิตา บุญญมณีกุล รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.)...

กรมประมง...ส่งเสริมการเพาะเลี้ยง "ปูทะเล"... กรมประมง...หนุนเกษตรกรเปลี่ยน "บ่อกุ้งร้าง" เพื่อสร้างรายได้ด้วยการเลี้ยง "ปูทะเล" — กรมประมง...ส่งเสริมการเพาะเลี้ยง "ปูทะเล" ในบ่อกุ้งร้าง หวังฟื้นแหล่ง...