ปภ. ประสานจังหวัดภาคใต้ตอนล่างเร่งแก้ไขปัญหา ลดผลกระทบจากวิกฤตหมอกควัน

05 Oct 2015
ปภ. ประสานจังหวัดภาคใต้ตอนล่างดำเนินการป้องกันและแก้ไขปัญหาหมอกควันจากไฟป่าบนเกาะ สุมาตรา ประเทศอินโดนีเซีย โดยจัดเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังสถานการณ์ ติดตามข้อมูลคุณภาพอากาศ พร้อมประชาสัมพันธ์ ให้ประชาชนทราบผลกระทบของหมอกควันต่อสุขภาพอนามัย รวมถึงบูรณาการทุกภาคส่วนสนธิกำลังในการระดมวัสดุอุปกรณ์ควบคุมปัญหาหมอกควัน พร้อมฉีดพ่นน้ำเพิ่มความชื้นและลดปริมาณฝุ่นละอองหมอกควันในอากาศ เพื่อควบคุมสถานการณ์หมอกควันมิให้วิกฤตรุนแรง

นายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยถึงสถานการณ์หมอกควันจากไฟป่าบนเกาะสุมาตรา ประเทศอินโดนีเซีย ที่พัดปกคลุมในพื้นที่หลายจังหวัดของภาคใต้ ว่า ส่งผลกระทบต่อทัศนวิสัย ในการมองเห็นเส้นทางและฝุ่นละอองมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นในทุกจังหวัด ซึ่งจากการประสานข้อมูลคุณภาพอากาศ กับกรมควบคุมมลพิษ เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2558 พบว่า 7 จังหวัด ได้แก่ สุราษฎร์ธานี ภูเก็ต สตูล สงขลา ปัตตานี ยะลา และนราธิวาสปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน10 ไมครอน (PM10) เฉลี่ย 24 ชั่วโมง มีค่าระหว่าง 26 - 167 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ซึ่งคุณภาพอากาศในภาพรวมอยู่ในระดับดีถึงส่งผลกระทบต่อสุขภาพ โดยตำบลหาดใหญ่ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา คุณภาพอากาศอยู่ในระดับที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพสูงสุด ค่า PM10 167 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร และตำบลสะเตง อำเภอเมืองยะลา จังหวัดยะลา คุณภาพอากาศอยู่ในระดับที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ ค่า PM10 135 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ทั้งนี้ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ได้ประสานจังหวัดในพื้นที่ภาคใต้ตอนล่าง จัดเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังสถานการณ์ ติดตามข้อมูลคุณภาพอากาศ รวมถึงระดมรถบรรทุกน้ำฉีดพ่นน้ำเพิ่มความชื้นและลดปริมาณฝุ่นละอองในอากาศ ตลอดจน บูรณาการทุกภาคส่วนสนธิกำลังในการระดมวัสดุอุปกรณ์ควบคุมไฟป่าและหมอกควัน พร้อมประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทราบผลกระทบของหมอกควันต่อสุขภาพอนามัย และขอความร่วมมือประชาชนงดเว้นการเผาขยะ เศษวัสดุทางการเกษตร เพื่อลดระดับความรุนแรงของสถานการณ์หมอกควันมิให้วิกฤตมากขึ้น สำหรับประชาชนที่อาศัยในพื้นที่ที่มีหมอกควันปกคลุม ให้หลีกเลี่ยงการอยู่ในที่โล่งแจ้งเป็นเวลานาน เพราะจะสูดดมฝุ่นละอองจำนวนมากเข้าสู่ร่างกาย อาจทำให้เจ็บป่วยได้ รวมถึงใช้ผ้าเช็ดหน้าหรือหน้ากากอนามัยปิดปากและจมูกทุกครั้งที่ออกนอกบ้าน เพื่อป้องกันมิให้สูดดมฝุ่นละอองเข้าสู่ร่างกาย ส่วนผู้ขับขี่ให้เพิ่มความระมัดระวังในการใช้รถใช้ถนน เพราะทัศนวิสัยในการมองเห็นเส้นทางอยู่ในระดับต่ำ

0-2243-0674 0-2243-2200 www.disaster.go.th