ปภ. ประสาน 12 จังหวัด ภาคกลาง และภาคใต้ เตรียมพร้อมรับมือพายุฝนฟ้าคะนอง ในช่วงวันที่ 7 - 10 เม.ย. 61

05 Apr 2018
กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ประสาน 12 จังหวัด ภาคกลาง และภาคใต้ เตรียมพร้อมรับมือพายุฝนฟ้าคะนอง และลมกระโชกแรง เนื่องจากลมตะวันออกที่พัดปกคลุมภาคใต้จะมี กำลังแรงขึ้น ในช่วงวันที่ 7 - 10 เมษายน 2561 โดยจัดเจ้าหน้าที่ติดตามสภาพอากาศและเฝ้าระวังสถานการณ์ภัย พร้อมจัดชุดเคลื่อนที่เร็วและเครื่องมืออุปกรณ์ให้พร้อมเผชิญเหตุ ตลอด 24 ชั่วโมง รวมถึงแจ้งเตือนประชาชนเตรียมพร้อมรับมือและระมัดระวังอันตรายจากสถานการณ์ภัย

นายชยพล ธิติศักดิ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า จากการตรวจสอบสภาพอากาศกับ กรมอุตุนิยมวิทยา พบว่า ช่วงวันที่ 7 - 10 เมษายน 2561 จะมีสภาพอากาศแปรปรวน เนื่องจากลมตะวันออกที่พัดปกคลุมภาคใต้ จะมีกำลังแรงขึ้น ทำให้เกิดพายุฝนฟ้าคะนอง และลมกระโชกแรงในพื้นที่ภาคกลาง และภาคใต้ กรมป้องกันและบรรเทา สาธารณภัยจึงได้ประสาน 12 จังหวัด แยกเป็น ภาคกลาง 2 จังหวัด ได้แก่ เพชรบุรี และประจวบคีรีขันธ์ ภาคใต้ 10 จังหวัด ได้แก่ ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา ระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ และตรัง รวมถึงศูนย์ป้องกันและบรรเทา สาธารณภัยเขตในพื้นที่เสี่ยงภัย เตรียมพร้อมรับมือพายุฝนฟ้าคะนอง ในช่วงวันที่ 7 - 10 เมษายน 2561 โดยจัดเจ้าหน้าที่และมิสเตอร์เตือนภัยติดตามเฝ้าระวังสถานการณ์ภัยตลอด 24 ชั่วโมง พร้อมจัดชุดเคลื่อนที่เร็ว เครื่องมืออุปกรณ์ประจำพื้นที่เสี่ยงให้พร้อมปฏิบัติการเผชิญเหตุและช่วยเหลือผู้ประสบภัยทันทีที่เกิดภัย รวมถึงตรวจสอบสิ่งก่อสร้างและป้ายโฆษณาให้อยู่ในสภาพมั่นคงแข็งแรง ตัดแต่งกิ่งไม้บริเวณริมถนนและพื้นที่ชุมชน เพื่อป้องกันการล้มทับ ก่อให้เกิดอันตรายได้ อีกทั้งแจ้งเตือนประชาชนเตรียมพร้อมรับมือและระมัดระวังอันตรายจากสถานการณ์ภัย โดยติดตามพยากรณ์อากาศและประกาศเตือนภัยอย่างใกล้ชิด พร้อมปฏิบัติตามคำเตือนอย่างเคร่งครัด รวมถึงตรวจสอบบ้านเรือนและสิ่งปลูกสร้างให้อยู่ในสภาพมั่นคงแข็งแรง งดเว้นการใช้โทรศัพท์มือถือ เครื่องมือสื่อสารทุกชนิดบริเวณที่โล่งแจ้ง เพราะอาจเกิดฟ้าผ่า ทำให้ได้รับอันตรายถึงชีวิตได้ ส่วนเกษตรกรให้จัดทำที่ค้ำยันต้นไม้หรือที่กำบัง เพื่อป้องกันพืชผลทางการเกษตรได้รับความเสียหาย อีกทั้งห้ามหลบพายุบริเวณใต้ต้นไม้ ป้ายโฆษณา หรือสิ่งปลูกสร้างที่ไม่มั่นคงแข็งแรง เพราะอาจได้รับอันตรายจากการถูกล้มทับ ตลอดจนห้ามเข้าใกล้บริเวณที่มีสายไฟฟ้าขาดหรือเสาไฟฟ้าล้ม เพราะอาจได้รับอันตรายจากไฟฟ้าดูด ทั้งนี้ ประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากพายุฝนฟ้าคะนอง สามารถติดต่อขอความช่วยเหลือได้ทางสายด่วนนิรภัย 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อประสานให้การช่วยเหลือโดยด่วนต่อไป