สธ.ชี้ คนเมืองระนองมีโอกาสติดโรคเท้าช้างได้

02 Jul 1997

กรุงเทพ--2 ก.ค.--กระทรวงสาธารณสุข

ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กำชับนายแพทย์สาธารณสุข 7 จังหวัดภาคใต้ เร่งเฝ้าระวังโรคติดต่อจากแรงงานต่างชาติ โดยเฉพาะกลุ่มแรงงานเถื่อน ที่วิตกที่สุดคือโรคเท้าช้าง ซึ่งเป็นโรคที่เกิดขึ้นตามชนบทในอดีต แต่อนาคตคนในเมืองอาจมีสิทธิ์เป็นโรคนี้ได้ โดยเฉพาะชาวระนอง วอนนายจ้างแรงงานพม่าใส่ใจเรื่องนี้เป็นพิเศษ

พลเรือตรี นายแพทย์วิทุร แสงสิงแก้ว ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ภายหลังประชุมผู้บริหารสาธารณสุขใน 7 จังหวัดภาคใต้ ได้แก่ ชุมพร ระนอง สุราษฎร์ธานี พังงา ภูเก็ต กระบี่ และนครศรีธรรมราช เพื่อติดตามความก้าวหน้าและปัญหาอุปสรรคในการดำเนินงานในช่วง 8 เดือนที่ผ่านมา ซึ่งจัดประชุมที่โรงแรมรอยัล ปริ๊นเซส จังหวัดระนอง เมื่อเช้าวันนี้ว่า

ปลัดกระทรวงสาธารณสุขกล่าวว่า ทางด้านการจัดบริการขณะนี้พบว่างานมีความคืบหน้า สถานพยาบาลทุกแห่งมีการปรับปรุงบริการประชาชน ขณะนี้อยู่ระหว่างการประเมินความพึงพอใจของผู้ใช้บริการ มั่นใจว่าจะสามารถแก้ไขงานบริการของโรงพยาบาลให้ดีขึ้นกว่าที่ผ่านมาได้อย่างแน่นอน

ปัญหาที่น่าห่วงสำหรับพื้นที่ใน 7 จังหวัดนี้ ซึ่งอยู่ติดชายทะเลได้แก่กลุ่มแรงงานต่างชาติที่เข้ามาขายแรงงาน โดยส่วนใหญ่มาจากประเทศพม่า ซึ่งเป็นรังโรคติดต่อหลายโรค อาจทำให้การควบคุมโรคของไทยยุ่งยากยิ่งขึ้น

จากรายงานพบว่า ขณะนี้มีแรงงานต่างชาติผ่านการขึ้นทะเบียนและตรวจสุขภาพใน 7 จังหวัดรวมจำนวน 79,014 ราย มากที่สุดคือที่จังหวัดระนอง จำนวน 24,745 ราย รองลงมาคือจังหวัดภูเก็ต และพังงา ซึ่งจำนวนนี้ยังต่ำกว่าความเป็นจริง โดยเฉพาะจังหวัดระนอง ซึ่งมีชายแดนติดกับพม่า 3 อำเภอคือ อ.เมือง อ.กระบุรี และอ.ละอุ่น ประมาณว่ามีชาวพม่าเดินทางเข้ามาทำงานนับแสนราย เกือบเท่าจำนวนประชากรของจังหวัดระนอง ซึ่งมีประมาณ 1.4 แสนคน ชาวพม่าเหล่านี้ส่วนใหญ่จะเป็นลูกเรือประมง และรับจ้างทั่วไป

ปลัดกระทรวงสาธารณสุขกล่าวต่อไปว่า โรคติดต่อที่น่าเป็นห่วงมากที่สุดใน 7 จังหวัดภาคใต้ขณะนี้ก็คือโรคเท้าช้าง ซึ่งมีระยะเวลาฟักตัวนานถึง 8-12 เดือนภายหลังรับเชื้อแล้ว ติดต่อโดยยุงรำคาญ ยุงเสือ ยุงลาย ซึ่งแต่ก่อนเป็นโรคที่เกิดขึ้นตามชายแดน ตามชนบท โดยชาวพม่าเหล่านี้ตรวจพบว่ามีเชื้อในเลือดประมาณร้อยละ 2.5 แต่ที่จังหวัดระนองพบได้ร้อยละ 2 ซึ่งคนไทยในจังหวัดระนองยังไม่พบว่าติดเชื้อนี้ แต่อนาคตอันใกล้นี้อาจได้รับเชื้อได้ โดยเฉพาะคนในเมือง เนื่องจากการศึกษาวิจัยของกองโรคเท้าช้างร่วมกับมหาวิทยาลัยมหิดล พบว่ายุงรำคาญที่พบได้ทั่วไปในจังหวัดระนอง สามารถนำเชื้อโรคเท้าช้างชนิดที่ทำให้อัณฑะโต ซึ่งเกิดในประเทศพม่าได้ดี

ทั้งนี้ที่ผ่านมาจากการติดตามการรักษาโรคเท้าช้างในชาวพม่า พบว่าอัตราการรักษาจะสูงเฉพาะในครั้งแรกเท่านั้น ส่วนในครั้งที่ 2, 3, 4 และ 5 จะติดตามรักษาได้น้อย เนื่องจากมีการเคลื่อนย้ายแรงงานบ่อย เป็นภาวะที่ล่อแหลมต่อการแพร่เชื้อได้มาก ดังนั้นกระทรวงสาธารณสุขจึงขอความร่วมมือนายจ้างและเจ้าของประกอบการ หากรับแรงงานต่างชาติเข้าทำงาน ขอให้พาไปตรวจสุขภาพก่อนทุกราย เพื่อร่วมมือกันป้องกันและควบคุมโรคนี้

ปลัดกระทรวงสาธารณสุขกล่าวอีกว่า สำหรับโรคติดต่ออื่น ๆ ที่มีรายงานเพิ่มสูงขึ้นอันเป็นผลกระทบจากแรงงานพม่า ได้แก่มาลาเรีย พบว่าคนไทยมีอัตราติดเชื้อเพิ่มจากร้อยละ 2.9 ในปี 2539 เป็นร้อยละ 3.7 ในปี 2540 ส่วนอัตราการติดเชื้อโรคอุจจาระร่วงอย่างแรง เพิ่มจากร้อยละ 13 ในปี 2538 เพิ่มเป็น ร้อยละ 32 ได้กำชับให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขจังหวัดควบคุมเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่อง--จบ--