กรุงเทพฯ--29 มี.ค.--กระทรวงแรงงานฯ
นายอิระวัชร์ จันทรประเสริฐ ปลัดกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม เผยว่า องค์การแรงงานระหว่าง ประเทศ ( ILO. ) และองค์กรระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นถิ่นฐาน ( IOM. ) เตรียมจะจัดประชุมเชิงปฏิบัติการในประเด็นการแก้ไขปัญหาแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมายของประเทศไทยในเดือนพฤษภาคม 2545
การจัดระเบียบแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมายหลบหนีเข้าเมือง 3 สัญชาติ (พม่า ลาว กัมพูชา) ตามนโยบายของ ศ.เดช บุญ-หลง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม เป็นประเด็นที่ได้รับความสนใจจากนานาชาติ โดยเฉพาะองค์กรระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นถิ่นฐาน ( IOM. ) เคยกล่าวชื่นชมว่าการเปิดโอกาสให้มีการจดทะเบียนแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมายของประเทศไทย เป็นการจัดระบบแก้ไขปัญหาและป้องกันปัญหาที่คำนึงถึงหลักสิทธิมนุษยชนเป็นสำคัญ แม้แต่องค์การแรงงานระหว่างประเทศ(ILO.)ยังให้ความสำคัญต่อปัญหาแรงงาน ต่างชาติ ในอนุสัญญาฉบับที่ 19 ว่าด้วยการปฏิบัติที่เท่ากันสำหรับคนงานชาติในบังคับและคนงานต่างชาติ ซึ่งประเทศไทยได้ลงนามรับรองในอนุสัญญาฉบับดังกล่าวแล้ว และการจัดระเบียบแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมายหลบหนีเข้าเมืองถือได้ว่าเป็นการปฏิบัติที่สอดคล้องกับอนุสัญญาฉบับดังกล่าว เพราะแรงงานต่างด้าวที่จดทะเบียนใบอนุญาตทำงานฯ จะได้รับการคุ้มครองสิทธิประโยชน์ตามกฎหมายแรงงาน โดยเฉพาะ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน 2541 นอกจากนี้องค์กรแรงงาน ต่างประเทศทั้ง 2 องค์กร ได้คำนึงถึงการแก้ไขปัญหาแรงงานต่างด้าวในระยะยาว โดยได้เตรียมจัดการประชุมเชิงปฏิบัติการแก้ไขปัญหาแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมายของประเทศไทย ขึ้นในเดือนพฤษภาคม 2545 เพื่อเป็นเวทีแลกเปลี่ยนความคิดเห็นจากองค์กรที่เกี่ยวข้อง พร้อมนี้องค์กรทั้งสองแห่ง จะจัดส่งผู้เชี่ยวชาญด้านปัญหาแรงงานต่างด้าวมาประจำในประเทศไทย เพื่อดูแลปัญหาดังกล่าวเป็นการเฉพาะด้วย สำหรับการต่ออายุใบอนุญาตทำงานแรงงานต่างด้าวหลบหนีเข้าเมืองระยะ 6 เดือนหลังระหว่างวันที่ 24 กุมภาพันธ์ - 25 มีนาคม 2545 พบว่ามีแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมายมายื่นขอต่ออายุใบอนุญาตทำงานแรงงานรวม 347,649 คน สูงกว่าการประมาณจากการประชุมผู้บริหารระดับสูงในส่วนกลางและส่วนภูมิภาคของกระทรวงแรงงานฯ (ประมาณการว่าจะมีแรงงานต่างด้าวฯ มาขอต่อใบอนุญาตจำนวน 333,844 คน) และคิดเป็นอัตราส่วนการต่ออายุใบอนุญาตทำงานแรงงานต่างด้าว เปรียบเทียบกับจำนวนผู้มาขึ้นทะเบียนในครั้งแรก (568,249 คน) เป็นจำนวน 61.18% แบ่งเป็นพม่า 281,531 คน ลาว 36,127 คน และกัมพูชา 29,991 คน ทั้งนี้ยังไม่รวมตัวเลขการยื่นแสดงความจำนงต่อใบอนุญาตกรณี รอผลการตรวจสุขภาพจากกระทรวงสาธารณสุข ส่วนด้านการตรวจจับและปราบปราม กระทรวงแรงงานฯ ได้ประสานความร่วมมือกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติเพื่อการดำเนินการอย่างเข้มงวดแล้ว--จบ--
-สส-