BSA บุกจับผู้ละเมิดลิขสิทธิ์รายที่สองหลังสิ้นสุดระยะเวลาผ่อนผัน

05 Feb 2002

กรุงเทพฯ--5 ก.พ.--พีซี แอนด์ แอสโซซิเอทส์ คอนซัลติ้ง

บริษัทรับจ้างออกแบบในกรุงเทพฯ ถูกจับกุมฐานใช้ซอฟต์แวร์ผิดกฎหมาย

กลุ่มพันธมิตรธุรกิจซอฟต์แวร์ (บีเอสเอ) แถลงผลงานชิ้นที่สองในการปราบปรามซอฟต์แวร์เถื่อนในช่วงเวลาไม่ถึง 2 สัปดาห์ โดยในครั้งนี้เป็นการบุกเข้าตรวจค้นบริษัทแห่งหนึ่งที่ทำธุรกิจออกแบบสถาปัตยกรรมและการออกแบบเว็บไซต์ และมีสำนักงานตั้งอยู่ย่านธุรกิจใจกลางกรุงเทพฯ ซึ่งการเข้าตรวจค้นดังกล่าวเกิดขึ้นไม่นานหลังจากที่สิ้นสุดระยะเวลาผ่อนผันตามโครงการ Truce Campaign โดยเมื่อวันที่ 23 มกราคม 2545 ทีมผู้ตรวจค้นซึ่งนำโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจ 8 นาย จากกองบังคับการสืบสวนสอบสวนคดีเศรษฐกิจ ภายใต้การสั่งการของ พ.ต.ต. สายัณห์ พร้อมสินทรัพย์ ได้บุกเข้าตรวจค้นบริษัทดังกล่าวตามแผนที่วางไว้อย่างรัดกุม และสามารถยึดหลักฐานเป็นจำนวนมากที่บ่งบอกถึงการใช้ซอฟต์แวร์ผิดกฎหมายบนคอมพิวเตอร์ทุกเครื่องภายในบริษัท โดยพบว่ามีการทำซ้ำและติดตั้งซอฟต์แวร์มากกว่า 100 ซอฟต์แวร์ที่ละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้ผลิตที่เป็นสมาชิกของบีเอสเอ ซึ่งได้แก่ Adobe, Autodesk, Macromedia และ Microsoft บนเครื่องคอมพิวเตอร์ที่อยู่ในความครอบครองของบริษัทดังกล่าว จากหลักฐานที่รวบรวมและประเมินโดยผู้เชี่ยวชาญด้านเทคนิค สามารถบ่งชี้ได้อย่างแน่ชัดว่าบริษัทดังกล่าวได้กระทำการละเมิดกฎหมายตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ของไทย และจะต้องได้รับการลงโทษขั้นรุนแรงตามความผิดอาญา พร้อมทั้งชดใช้ค่าเสียหายทางแพ่งโทษฐานละเมิดลิขสิทธิ์

มร. ฮิวอี้ ตัน รองประธานกลุ่มพันธมิตรธุรกิจซอฟต์แวร์ประจำประเทศไทย แสดงความผิดหวังกับกรณีที่เกิดขึ้น โดยกล่าวว่า "บริษัทแห่งนี้เป็นบริษัทซึ่งดำเนินธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีด้านการออกแบบ ควรจะเข้าใจถึงคุณค่าของการคุ้มครองลิขสิทธิ์ในทรัพย์สินทางปัญญา เพราะว่าพวกเขาก็เป็นผู้สร้างสรรค์ผลงานที่มีลิขสิทธิ์ด้วยเช่นกัน การบุกจับในครั้งนี้นับเป็นผลงานความสำเร็จครั้งที่สองของบีเอสเอในการปราบปรามกลุ่มผู้ใช้ที่ละเมิดลิขสิทธิ์หลังจากที่สิ้นสุดระยะเวลาผ่อนผันตามโครงการ Truce Campaign ซึ่งได้มีการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์อย่างกว้างขวาง จากสถิติของศูนย์ฮอตไลน์ของบีเอสเอ ชี้ว่านับตั้งแต่ที่เริ่มต้นระยะเวลาผ่อนผัน ได้มีการโทรศัพท์ผ่านเบอร์ฮอตไลน์ (0 2971 4140) มากกว่า 500 ครั้ง โดยส่วนหนึ่งเป็นการโทรศัพท์เพื่อแจ้งเบาะแสเกี่ยวกับการลักลอบใช้และทำสำเนาซอฟต์แวร์อย่างผิดกฎหมายโดยองค์กรและธุรกิจต่างๆ เป็นจำนวนมาก ยิ่งไปกว่านั้น ในหลายๆ กรณี ผู้ที่โทรศัพท์เข้ามาได้สอบถามเกี่ยวกับวิธีที่เหมาะสมที่สุดในการจัดการสินทรัพย์ประเภทซอฟต์แวร์ที่มีค่าภายในองค์กร ซึ่งทางบีเอสเอก็ยินดีที่จะให้ข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว ส่วนโทษปรับในคดีอาญาตามคำพิพากษาของศาลสำหรับผู้ละเมิดลิขสิทธิ์นั้นเป็นโทษปรับที่สูงสุดตามกฎหมายไทย ทั้งนี้ บีเอสเอขอแนะนำว่าองค์กรธุรกิจต่างๆ ควรปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด โดยการใช้ซอฟต์แวร์ที่ถูกกฎหมาย เพื่อหลีกเลี่ยงการถูกดำเนินคดี"

"ศูนย์ฮอตไลน์ของบีเอสเอมีจุดมุ่งหมายเพื่อให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ใช้คอมพิวเตอร์และองค์กรธุรกิจ รวมทั้งให้ข้อมูลและคำแนะนำที่จะช่วยให้ผู้ใช้และองค์กรต่างๆ ได้ใช้ซอฟต์แวร์ที่ถูกกฎหมายเพื่อหลีกเลี่ยงการถูกดำเนินคดีและการชดใช้ค่าเสียหาย นอกจากนั้น ศูนย์ฮอตไลน์ดังกล่าวยังเป็นเครื่องมือในการรับแจ้งเบาะแสเกี่ยวกับการใช้ซอฟต์แวร์ผิดกฎหมายภายในองค์กรธุรกิจบางแห่ง โดยผู้แจ้งเบาะแสอาจเป็นลูกจ้างของบริษัทนั้นๆ ผู้ซึ่งตระหนักถึงความสำคัญในเรื่องการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา หรือบางรายอาจเป็นลูกจ้างเก่าที่ต้องการเห็นผู้ที่เคยเป็นนายจ้างของตนได้กระทำในสิ่งที่ถูกต้อง ทั้งนี้ จากตัวเลขล่าสุดของบีเอสเอ ระบุว่าประเทศไทยมีอัตราการละเมิดลิขสิทธิ์สูงถึง 79 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งคิดเป็นมูลค่าความเสียหายต่ออุตสาหกรรมมากกว่า 2,300 ล้านบาท (53 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) และสูงกว่ามากเมื่อเทียบกับอัตราเฉลี่ยของการละเมิดลิขสิทธิ์ทั่วโลกซึ่งอยู่ที่ 37 เปอร์เซ็นต์ อันที่จริงแล้ว การละเมิดลิขสิทธิ์ส่งผลเสียอย่างร้ายแรงต่อเศรษฐกิจของประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อผู้พัฒนาซอฟต์แวร์ภายในประเทศนั้นๆ เพราะจะทำให้พวกเขาหมดกำลังใจในการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ทั้งนี้ การพัฒนาซอฟต์แวร์ที่แปลกใหม่จำเป็นต้องอาศัยการลงทุนจำนวนมหาศาล ทั้งทางด้านทรัพยากรบุคคลที่ชาญฉลาด ความคิดสร้างสรรค์ ความสามารถในการประดิษฐ์ เวลา และเงินทุน และการสร้างสรรค์ผลงานที่เป็นนวัตกรรมก็จะทำให้เกิดการสร้างงาน รายได้จากภาษี และรายได้จากการส่งออก" มร. ตัน กล่าวเสริม

ข้อมูลเกี่ยวกับบีเอสเอ

กลุ่มพันธมิตรธุรกิจซอฟต์แวร์ (บีเอสเอ) เป็นตัวแทนของนักพัฒนาซอฟต์แวร์ชั้นนำของโลกในการปกป้องและสนับสนุนอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ทั่วโลก บีเอสเอได้จัดกิจกรรมเพื่อให้การอบรมแก่ผู้ใช้คอมพิวเตอร์ถึงปัญหาที่เป็นผลกระทบต่ออุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ ส่งเสริมโอกาสทางการค้าผ่านทางนโยบายของภาครัฐและดำเนินการทางกฎหมายเพื่อคุ้มครองลิขสิทธิ์ของสมาชิกของบีเอสเอ สมาชิกของบีเอสเอเป็นผู้นำด้านการพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศทั้งในระดับประเทศและทั่วโลก ได้แก่ แอ็คแทร็ก21 (AccTrak21), อะโดบี, แอปเปิล, ออโต้เดสก์, เบนท์เลย์ ซิสเต็มส์, ซีเอ็นซี ซอฟต์แวร์ อิงค์, คอเรล คอร์ปอเรชั่น, อินไพรส์, โลตัส ดีเวลลอปเมนท์, มาโครมีเดีย, ไมโครซอฟท์, เน็ตเวิร์ค แอสโซเอทส์, โนเวลล์,

ไซแมนเท็ค และวิสซิโอเป็นต้น ส่วนที่ปรึกษาทางด้านนโยบายของบีเอสเอประกอบด้วยบริษัทต่างๆ ที่กล่าวมาข้างต้นรวมถึง คอมแพค, ไอบีเอ็ม, อินเทล, อินทูวิท และไซเบสด้วย

นอกจากนี้ บีเอสเอยังมีสมาชิกและได้สร้างความสัมพันธ์อันดีกับสมาคมซอฟต์แวร์และบริษัทซอฟต์แวร์ต่างๆ ที่อยู่ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิคด้วย สำหรับในประเทศไทยบีเอสเอได้ร่วมมือกับสมาคมธุรกิจคอมพิวเตอร์ไทย และสมาคมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทยดำเนินกิจกรรมต่างๆ เพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์

ติดต่อขอข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่

คุณปราณี เฉลิมธนศักดิ์

บริษัทพีซี แอนด์ แอสโซซิเอทส์ คอนซัลติ้ง จำกัด

โทรศัพท์: 0 2971 3711 โทรสาร: 0 2521 9030

อีเมล์: [email protected]

เยี่ยมชม Website BSA ได้ที่ www.bsa.org-- จบ--

-อน-