บีเอสเอบุกจับผู้ละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์รายแรกในไทยหลังสิ้นสุดระยะเวลาผ่อนผัน

ข่าวประชาสัมพันธ์ »

กรุงเทพฯ--25 ม.ค.--พีซี แอนด์ แอสโซซิเอทส์ คอนซัลติ้ง บีเอสเอบุกจับผู้ละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์รายแรกในไทยหลังสิ้นสุดระยะเวลาผ่อนผันบริษัทชั้นนำด้านการออกแบบถูกตรวจค้นในขณะที่พนักงานพยายามซุกซ่อนหลักฐานเพื่อปิดบังความผิดของบริษัท บีเอสเอแถลงความสำเร็จในการปราบปรามการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ภายในบริษัทผู้ผลิตและจำหน่ายชิ้นส่วนรถยนต์ที่ประสบความสำเร็จระดับโลกรายหนึ่ง หลังจากที่สิ้นสุดระยะเวลาผ่อนผันภายใต้โครงการ Truce Campaign ของบีเอสเอ โดยบริษัทดังกล่าวได้รับการรับรองคุณภาพตามมาตรฐาน ISO และมีพนักงานกว่า 400 คน ทั้งยังมีฐานลูกค้ารายใหญ่ๆ รวมถึงบรรดาผู้ผลิตรถยนต์ชั้นนำของโลก ทั้งนี้ ได้มีการแจ้งเบาะแสเกี่ยวกับการละเมิดลิขสิทธิ์ในบริษัทดังกล่าวผ่านทางศูนย์ฮอตไลน์ของบีเอสเอในช่วงระยะเวลาผ่อนผันตามโครงการ Truce Campaign ซึ่งกินระยะเวลาตั้งแต่วันที่ 5 พฤศจิกายน 2544 ถึงวันที่ 5 มกราคม 2545 จากข่าวกรองที่ได้รับในเบื้องต้น ทำให้ทราบว่าบริษัทดังกล่าวอาจมีการใช้โปรแกรม AutoCAD 2000 และ Autodesk Mechanical Desktop อย่างผิดกฎหมายบนเครื่องคอมพิวเตอร์จำนวนหนึ่งภายในสำนักงาน อย่างไรก็ดี จากการตรวจค้นสถานที่โดยละเอียด คณะเจ้าหน้าที่ฝ่ายปราบปรามได้พบหลักฐานเบื้องต้นที่บ่งชี้ว่ามีการติดตั้งสำเนาที่ผิดกฎหมายของโปรแกรม AutoCAD 2000, AutoCAD R. 14 และ Autodesk Mechanical Desktop บนเครื่องคอมพิวเตอร์ประมาณ 40 เครื่องภายในบริษัท นอกจากนั้น ในระหว่างการตรวจค้นเจ้าหน้าที่ฯ ได้พบเห็นพนักงานบางคนกำลังลบหรือทำลายโปรแกรมที่ผิดกฎหมาย เพื่อปกปิดหลักฐานที่บ่งชี้ถึงการกระทำความผิดของบริษัท ซึ่งเป็นความพยายามที่ไร้ผลอย่างสิ้นเชิง เพราะในท้ายที่สุดแล้ว ทางคณะทำงานก็สามารถกู้คืนหลักฐานที่บ่งชี้อย่างแน่ชัดว่าได้เคยมีการติดตั้งโปรแกรมที่ผิดกฎหมายลงในเครื่องคอมพิวเตอร์ก่อนหน้านี้ การบุกจับในครั้งนี้นับเป็นความพยายามครั้งแรกในการปราบปรามการละเมิดลิขสิทธ์ซอฟต์แวร์ หลังจากที่สิ้นสุดโครงการ Truce Campaign เมื่อวันที่ 5 มกราคมที่ผ่านมา จากสถิติของศูนย์ฮอตไลน์ของบีเอสเอ ชี้ว่านับตั้งแต่ที่เริ่มต้นระยะเวลาผ่อนผัน ได้มีการโทรศัพท์ผ่านเบอร์ฮอตไลน์ (0 2971 4140) มากกว่า 500 ครั้ง โดยส่วนหนึ่งเป็นการโทรศัพท์เพื่อแจ้งเบาะแสเกี่ยวกับการลักลอบใช้และทำสำเนาซอฟต์แวร์อย่างผิดกฎหมายภายในองค์กรและธุรกิจจำนวนมาก ยิ่งกว่านั้น ในหลายๆ กรณี ผู้ที่โทรศัพท์เข้ามาได้สอบถามเกี่ยวกับวิธีที่เหมาะสมที่สุดในการจัดการสินทรัพย์ประเภทซอฟต์แวร์ที่มีค่าภายในองค์กร รวมถึงรายละเอียดเกี่ยวกับโทษปรับสำหรับผู้ที่กระทำความผิดในข้อหาละเมิดลิขสิทธิ์โดยการใช้ซอฟต์แวร์อย่างผิดกฎหมาย มร. ฮิวอื้ ตัน รองประธานกลุ่มพันธมิตรธุรกิจซอฟต์แวร์ประจำประเทศไทย กล่าวว่า "บีเอสเอได้ให้การสนับสนุนโครงการ Truce Campaign ซึ่งมีการประชาสัมพันธ์และรณรงค์อย่างกว้างขวางมากว่า 2 เดือน เราได้รับโทรศัพท์จำนวนมากจากธุรกิจและองค์กรต่างๆ ที่ต้องการปรับเปลี่ยนระบบและโครงสร้างพื้นฐานด้านซอฟต์แวร์ภายในองค์กรให้ถูกกฎหมาย นอกจากนั้น หลายสายที่โทรศัพท์เข้ามาเป็นการแจ้งเบาะแสเกี่ยวกับบริษัทต่างๆ ที่ยังคงกระทำการฝ่าฝืนกฎหมายลิขสิทธิ์ ซึ่งเราเตรียมที่จะดำเนินการจับกุมผู้กระทำผิดในส่วนนี้ต่อไป กลุ่มพันธมิตรธุรกิจซอฟต์แวร์ขอขอบคุณองค์กรต่างๆ ที่มีวิสัยทัศน์โดยใช้ประโยชน์จากช่วงระยะเวลาผ่อนผันในการปรับเปลี่ยนไปใช้ซอฟต์แวร์ที่ถูกกฎหมาย ในทางตรงกันข้าม บีเอสเอขอกล่าวเตือนไปยังผู้ที่เพิกเฉยต่อข้อกำหนดที่ระบุไว้ในกฎหมายลิขสิทธิ์ว่า ธุรกิจของพวกเขากำลังตกอยู่ในภาวะเสี่ยงต่อการถูกดำเนินคดี" ทั้งนี้ พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ของไทยระบุว่า ผู้ที่ฝ่าฝืนกฎหมายจะต้องระวางโทษปรับหรือจำคุก และอาจจะต้องชดใช้ค่าเสียหายทางแพ่งแก่เจ้าของลิขสิทธิ์ มร. ตัน กล่าวเสริมว่า "สำหรับการบุกเข้าตรวจค้นในครั้งนี้ นับเป็นการบุกจับครั้งแรกนับตั้งแต่ที่สิ้นสุดระยะเวลาผ่อนผันตามโครงการ Truce Campaign โดยคาดว่าภายใน 2 สัปดาห์ข้างหน้า จะมีการบุกเข้าตรวจค้นสถานที่อื่นๆ เพิ่มเติม อันที่จริงแล้ว บีเอสเอพร้อมทุกเมื่อที่จะให้ความช่วยเหลือแก่องค์กรต่างๆ ในการปฏิบัติตามกฎหมายอย่างถูกต้อง ขอเพียงแค่ติดต่อเข้ามายังศูนย์ฮอตไลน์ของบีเอสเอ และให้ข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับการใช้งานซอฟต์แวร์ภายในองค์กรของท่าน ทั้งนี้ การละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์นอกจากจะเป็นภัยคุกคามต่อเศรษฐกิจของประเทศแล้ว ยังเป็นอุปสรรคขัดขวางการสร้างสรรค์ผลงานใหม่ๆ ของผู้พัฒนาซอฟต์แวร์ของไทย ด้วยเหตุนี้ บรรดาองค์กรธุรกิจจึงควรตระหนักว่าซอฟต์แวร์คือสินทรัพย์ มิใช่ค่าใช้จ่ายสำหรับองค์กร และบีเอสเอจะยังคงดำเนินการอย่างจริงจังและต่อเนื่องเพื่อปราบปรามการละเมิดลิขสิทธิ์ ซึ่งจะเป็นการช่วยส่งเสริมเศรษฐกิจของประเทศในอีกทางหนึ่ง" ข้อมูลเกี่ยวกับบีเอสเอกลุ่มพันธมิตรธุรกิจซอฟต์แวร์ (บีเอสเอ) เป็นตัวแทนของนักพัฒนาซอฟต์แวร์ชั้นนำของโลกในการ ปกป้องและสนับสนุนอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ทั่วโลก บีเอสเอได้จัดกิจกรรมเพื่อให้การอบรมแก่ผู้ใช้คอมพิวเตอร์ถึงปัญหาที่เป็นผลกระทบต่ออุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ ส่งเสริมโอกาสทางการค้าผ่านทางนโยบายของภาครัฐและดำเนินการทางกฎหมายเพื่อคุ้มครองลิขสิทธิ์ของสมาชิกของบีเอสเอ สมาชิกของบีเอสเอเป็นผู้นำด้านการพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศทั้งในระดับประเทศและทั่วโลก ได้แก่ แอ็คแทร็ก21 (AccTrak21), อะโดบี, แอปเปิล, ออโต้เดสก์, เบนท์เลย์ ซิสเต็มส์, ซีเอ็นซี ซอฟต์แวร์ อิงค์, คอเรล คอร์ปอเรชั่น, อินไพรส์, โลตัส ดีเวลลอปเมนท์, มาโครมีเดีย, ไมโครซอฟท์, เน็ตเวิร์ค แอสโซเอทส์, โนเวลล์, ไซแมนเท็ค และวิสซิโอเป็นต้น ส่วนที่ปรึกษาทางด้านนโยบายของบีเอสเอประกอบด้วยบริษัทต่างๆ ที่กล่าวมาข้างต้นรวมถึง คอมแพค, ไอบีเอ็ม, อินเทล, อินทูวิท และไซเบสด้วย นอกจากนี้ บีเอสเอยังมีสมาชิกและได้สร้างความสัมพันธ์อันดีกับสมาคมซอฟต์แวร์และบริษัทซอฟต์แวร์ต่างๆ ที่อยู่ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิคด้วย สำหรับในประเทศไทยบีเอสเอได้ร่วมมือกับสมาคมธุรกิจคอมพิวเตอร์ไทย และสมาคมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทยดำเนินกิจกรรมต่างๆ เพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ ติดต่อขอข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ คุณปราณี เฉลิมธนศักดิ์ บริษัทพีซี แอนด์ แอสโซซิเอทส์ คอนซัลติ้ง จำกัด โทรศัพท์: 0 2971 3711 โทรสาร: 0 2521 9030 อีเมล์: [email protected] เยี่ยมชม Website BSA ได้ที่ www.bsa.org-- จบ-- -สส-

ข่าวลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์+แอสโซซิเอทส์วันนี้

ภาพข่าว: งานสัมมนา “บริหารสินทรัพย์ จัดระเบียบซอฟต์แวร์ SAM Seminar 2005”

ในภาพ นายณรงค์ ตนานุวัฒน์ ประธานกรรมการหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ (ที่ 6 จากซ้าย) และ มร.โรแลนด์ ชาน ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาดภูมิภาคเอเชีย กลุ่มพันธมิตรธุรกิจซอฟต์แวร์ หรือบีเอสเอ (ทื่ 5 จากซ้าย) ถ่ายภาพร่วมกับ ผู้แทนจากกรมทรัพย์สินทางปัญญา คณะกรรมการหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ และกลุ่มตัวแทนเจ้าของลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ ภายในงานสัมมนา “บริหารสินทรัพย์ จัดระเบียบซอฟต์แวร์ SAM Seminar 2005” ณ จ.เชียงใหม่ รายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อ คุณปราณี เฉลิมธนศักดิ์ บริษัทพีซี แอนด์ แอสโซซิเอทส์ คอนซัลติ้ง จำกัด อีเมล์

นายปนายุ ศิริกระจ่างศรี (ซ้ายสุด) ประธานเ... TBN ขึ้นเวทีรวมพลคนสายเทคฯ "AWS Cloud Day Thailand 2023" เร่งความเร็วดิจิทัลด้วย Mendix Low-Code — นายปนายุ ศิริกระจ่างศรี (ซ้ายสุด) ประธานเจ้าหน้าที่บริห...

บมจ. ทีบีเอ็น คอร์ปอเรชั่น ผู้ให้บริการออ... ตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ ต้อนรับ บมจ. ทีบีเอ็น คอร์ปอเรชั่น (TBN) เริ่มซื้อขาย 19 มิ.ย. นี้ — บมจ. ทีบีเอ็น คอร์ปอเรชั่น ผู้ให้บริการออกแบบและพัฒนาระบบดิ...

การใช้ซอฟต์แวร์ที่ไม่มีสัญญาอนุญาตให้ใช้ส... กระตุ้นองค์กรธุรกิจไทยใช้ซอฟต์แวร์ถูกกฎหมายก่อนเผชิญกับความเสี่ยงที่ไม่คาดคิด — การใช้ซอฟต์แวร์ที่ไม่มีสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิ (ไลเซ่นส์) ยังคงพบได้ทั่วไปใ...

เมื่อปีที่ผ่านมา ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) ร... ไมโครซอฟท์สานต่อโครงการสนับสนุนพนักงานพิการ สภากาชาดไทยกระจายสู่ทั่วประเทศ — เมื่อปีที่ผ่านมา ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) ร่วมกับสมาคมธนาคารไทย และชมรมซีเอสอาร...

บก.ปอศ.เผยได้รับเบาะแสการละเมิดลิขสิทธิ์ซ... บก.ปอศ. ตรวจเข้มพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม หลังได้รับเบาะแสการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์จำนวนมาก — บก.ปอศ.เผยได้รับเบาะแสการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์เข้ามาจำนวนมา...

บริษัท อีเอสอาร์ไอ (ประเทศไทย) จำกัด ผู้น... แนะนำ ArcGIS for Personal Use รองรับความต้องการของการทำแผนที่อย่างมืออาชีพ — บริษัท อีเอสอาร์ไอ (ประเทศไทย) จำกัด ผู้นำธุรกิจด้านภูมิสารสนเทศแบบครบวงจร หร...

บก.ปอศ. ตรวจจับซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์ ไตรมาสแรก ปี 2560 พบมูลค่าความเสียหายกว่า 90 ล้านบาท

สูงสุดในธุรกิจออกแบบตกแต่งภายในและผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ในกรุงเทพฯ และจังหวัดใกล้เคียง บก.ปอศ. เดินหน้าตรวจจับการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ในองค์กรธุรกิจ ล่าสุดในไตรมาสแรกปี 2560 ตรวจค้นและดำ...