4 ใน 10 ของซอฟต์แวร์โปรแกรมทั่วโลกเป็นซอฟต์แวร์ผิดกฎหมาย

11 Jun 2002

กรุงเทพฯ--11 มิ.ย.--พีซี แอนด์ แอสโซซิเอทส์ คอนซัลติ้ง

4 ใน 10 ของซอฟต์แวร์โปรแกรมทั่วโลกเป็นซอฟต์แวร์ผิดกฎหมาย อัตราการละเมิดลิขสิทธิ์ทั่วโลกเพิ่มเป็น 40% มูลค่าความเสียหายเกือบ 11 พันล้านดอลลาร์ การละเมิดลิขสิทธิ์ในเอเชีย-แปซิฟิกเพิ่มขึ้น 3% เป็น 54% มูลค่าความเสียหายสูงสุดเป็นประวัติการณ์กว่า 4.7 พันล้านดอลลาร์อัตราการละเมิดลิขสิทธิ์ในไทยลดลง 2%

จากการสำรวจอัตราการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ทั่วโลกรายปีครั้งที่ 7 ของกลุ่มพันธมิตรธุรกิจซอฟต์แวร์ (บีเอสเอ) ชี้ว่าอัตราการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ทั่วโลกได้เพิ่มสูงขึ้นจาก 37 เปอร์เซ็นต์ในปี 2543 เป็น 40 เปอร์เซ็นต์ในปี 2544 ส่วนอัตราการละเมิดลิขสิทธิ์ในประเทศไทยอยู่ที่ 77 เปอร์เซ็นต์ในปี 2544 ลดลง 2 เปอร์เซ็นต์จากปี 2543 ในขณะที่มูลค่าความเสียหายจากการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ลดลงจาก 53 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2543 เหลือ 41 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

มร. โรเบิร์ต ฮอลลีย์แมน ประธานและประธานฝ่ายบริหารของบีเอสเอ กล่าวว่า "นับเป็นปีที่สองติดต่อกันที่อัตราการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ทั่วโลกเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งถือเป็นแนวโน้มที่น่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง ในขณะที่เรากำลังพยายามอย่างเต็มที่ในการดำเนินการทางกฎหมายและเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องแก่ประชาชน เพื่อส่งเสริมให้การใช้งานระบบออนไลน์ที่ปลอดภัยและถูกกฎหมาย ผลการสำรวจในครั้งนี้แสดงให้เห็นถึงความจำเป็นในการดำเนินงานอย่างต่อเนื่องและจริงจัง เพื่อให้ผู้บริโภคและหน่วยงานด้านการปราบปรามในประเทศต่างๆ ทั่วโลกได้ตระหนักถึงข้อเท็จจริงที่ว่าการละเมิดลิขสิทธิ์ถือเป็นการโจรกรรมอย่างหนึ่ง ซึ่งในกรณีนี้ก็คือ การปล้นงานนับแสนตำแหน่งทั่วโลก รวมถึงค่าจ้างและเงินภาษีหลายพันล้านดอลลาร์ที่พึงตกเป็นของรัฐและประชาชน "

จากผลการศึกษาโดยอิสระที่เผยแพร่ในวันนี้ ได้มีการเน้นย้ำถึงผลกระทบที่รุนแรงของการใช้ซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์ ต่อเศรษฐกิจของ 85 ประเทศ โดยมูลค่าความเสียหายจากการละเมิดลิขสิทธิ์ทั่วโลกได้ลดลงจาก 11,750 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2543 เป็น 10,970 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2544 คาดว่าการลดลงดังกล่าวเป็นผลมาจากการแข็งตัวของค่าเงินดอลลาร์ ประกอบกับราคาซอฟต์แวร์ที่ปรับลดลงซึ่งทำให้ผู้บริโภคหันมาใช้ซอฟต์แวร์ถูกกฎหมายกันมากขึ้น นอกจากนั้น ยังเป็นผลมาจากเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวลง ทั้งนี้ ในปี 2544 มูลค่าความเสียหายส่วนใหญ่ (85 เปอร์เซ็นต์) เกิดจากการละเมิดลิขสิทธิ์ในอเมริกาเหนือ เอเชีย-แปซิฟิก และยุโรปตะวันตก เช่นเดียวกับปีที่ผ่านมา

มร. เจฟฟ์ ฮาร์ดี้ รองประธานและผู้อำนวยการประจำภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกของกลุ่มพันธมิตรธุรกิจซอฟต์แวร์ กล่าวว่า "ในทวีปเอเชีย อัตราการละเมิดลิขสิทธิ์โดยเฉลี่ยเพิ่มขึ้นเป็นปีที่สองติดต่อกัน หลังจากที่ลดลงอย่างต่อเนื่องในช่วงปี 2537 ถึง 2542 การเพิ่มขึ้นดังกล่าวนับเป็นแนวโน้มที่น่าเป็นห่วงและเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ในเอเชีย การละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ทางธุรกิจส่วนใหญ่ยังคงเกิดจากผู้ใช้ระดับองค์กร โดยบริษัทต่างๆ จะติดตั้งและใช้งานซอฟต์แวร์บนคอมพิวเตอร์ในจำนวนที่มากกว่าใบอนุญาตการใช้งานที่มีอยู่ บีเอสเอได้ประสานงานร่วมกับรัฐบาล รวมทั้งบริษัท และหน่วยงานด้านการปราบปรามในประเทศต่างๆ เพื่อหยุดยั้งการละเมิดลิขสิทธิ์ที่เพิ่มสูงขึ้น"

มร. ฮิวอี้ ตัน รองประธานกลุ่มพันธมิตรธุรกิจซอฟต์แวร์ประจำประเทศไทย กล่าวว่า "อัตราการละเมิดลิขสิทธิ์ในประเทศไทยลดลง 2 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเป็นเครื่องพิสูจน์ให้เห็นว่าการประสานงานที่ดีระหว่างภาครัฐและเอกชนจะช่วยให้เราประสบความสำเร็จในการปราบปรามการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ บีเอสเอจะยังคงทำงานอย่างต่อเนื่องเพื่อส่งเสริมการใช้ซอฟต์แวร์ที่ถูกกฎหมาย ทั้งในส่วนของภาครัฐ องค์กรธุรกิจ และประชาชนทั่วไป โดยจะใช้ทั้งมาตรการทางกฎหมายและการให้ความรู้ควบคู่กันไป โดยอาศัยความร่วมมือจากสมาคมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทย (เอทีเอสไอ) และสมาคมธุรกิจคอมพิวเตอร์ไทย (เอทีซีไอ) บีเอสเอขอยกย่องชมเชยรัฐบาลไทยที่ได้พยายามปราบปรามการละเมิดลิขสิทธิ์จนประสบความสำเร็จในระดับหนึ่งในปีที่แล้ว อันที่จริงแล้ว ไม่ว่าเราจะดำเนินการปราบปรามและเผยแพร่ความรู้มากเพียงใด ก็ย่อมไม่อาจเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภคได้ในชั่วข้ามคืน และในการที่จะทำให้อัตราการละเมิดลิขสิทธิ์ในกลุ่มผู้ใช้ระดับองค์กรลดลงอย่างเห็นได้ชัดในระยะสั้นและระยะกลาง รัฐบาลจะต้องแสดงจุดยืนที่ชัดเจนและมั่นคงในการต่อต้านการละเมิดลิขสิทธิ์ภายในองค์กร ซึ่งนับได้ว่าเป็นโอกาสอันดีที่ประเทศไทยควรจะเร่งดำเนินการเพื่อความสำเร็จอย่างต่อเนื่องในปีต่อๆ ไป"

รายชื่อประเทศ 10 ประเทศที่มีอัตราการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์สูงสุด (เรียงตามลำดับ):

10 ประเทศที่มีอัตราการละเมิดลิขสิทธิ์สูงสุด

2000

2001

เวียดนาม

97%

94%

จีน

94%

92%

อินโดนีเซีย

89%

88%

ยูเครน/เครือจักรภพรัฐอิสระ 89%

87%

รัสเซีย

88%

87%

ปากีสถาน

83%

83%

เลบานอน

83%

79%

กาตาร์

81%

78%

นิคารากัว

78%

78%

โบลิเวีย

81%

77%

ข้อมูลสรุปสำหรับแต่ละภูมิภาค -

เอเชียแปซิฟิค: หลายประเทศในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกมีอัตราการละเมิดลิขสิทธิ์เพิ่มสูงขึ้นในปี 2544 โดยในอินเดีย อัตราการละเมิดลิขสิทธิ์เพิ่มขึ้น 7% เป็น 70% ส่วนมาเลเซียเพิ่มขึ้น 4% เป็น 70% และฟิลิปปินส์เพิ่มขึ้น 2% เป็น 63% ในขณะที่สิงคโปร์เพิ่มขึ้นเพียง 1% เป็น 51% อย่างไรก็ตาม มีบางประเทศที่แนวโน้มดีขึ้น เช่น เกาหลีและออสเตรเลีย ซึ่งมีอัตราการละเมิดลิขสิทธิ์ลดลงมากที่สุด โดยลดลง 8% และ 6% ตามลำดับ ส่วนจีน ฮ่องกง อินโดนีเซีย นิวซีแลนด์ ไต้หวัน ไทย และเวียดนาม มีอัตราการละเมิดลิขสิทธิ์ลดลงเล็กน้อย นิวซีแลนด์ยังคงเป็นประเทศที่มีอัตราการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ต่ำที่สุดในภูมิภาค โดยอยู่ที่ 26% ในขณะที่เวียดนามยังคงมีอัตราการละเมิดสูงที่สุดในโลก คือ 94% สำหรับมูลค่าความเสียหายจากการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ในภูมิภาคนี้ได้ปรับเพิ่มขึ้นจาก 4,100 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2543 มาอยู่ที่ระดับสูงกว่า 4,700 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2544 ซึ่งคิดเป็นเกือบครึ่งหนึ่งของมูลค่าความเสียหายทั่วโลก

ยุโรปตะวันออก: อัตราการละเมิดลิขสิทธิ์ในภูมิภาคนี้อยู่ที่ 67% ซึ่งสูงที่สุดเมื่อเทียบกับภูมิภาคอื่นๆ โดยมูลค่าความเสียหายในปี 2544 อยู่ที่ 434 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจาก 404 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2543 รัสเซีย ยูเครน และประเทศอื่นๆ ในเครือจักรภพรัฐอิสระ ยังคงมีอัตราการละเมิดลิขสิทธิ์สูงสุดในภูมิภาคยุโรปตะวันออก โดยอยู่ที่ 87% ในขณะที่โปแลนด์ ซึ่งเป็นประเทศที่ใหญ่เป็นอันดับสามในภูมิภาคนี้ มีอัตราการละเมิดลิขสิทธิ์ลดลงจาก 54% เหลือ 53% ส่วนสาธารณรัฐเช็กยังคงเป็นประเทศที่มีอัตราการละเมิดลิขสิทธิ์ต่ำที่สุดในภูมิภาค โดยอยู่ที่ 43%

ยุโรปตะวันตก: ด้วยอัตราการละเมิดลิขสิทธิ์ที่ 37% ทำให้ยุโรปตะวันตกยังคงเป็นภูมิภาคที่มีอัตราการละเมิดลิขสิทธิ์ต่ำสุด อย่างไรก็ตาม มูลค่าความเสียหายในภูมิภาคนี้สูงเป็นอันดับสองของโลก เกือบ 2,700 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือคิดเป็น 24% ของมูลค่าความเสียหายจากการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ทั่วโลก โดยประเทศที่มียอดความเสียหายสูงสุดได้แก่ เยอรมนี (681 ล้านดอลลาร์), อิตาลี (468 ล้านดอลลาร์) และฝรั่งเศส (527 ล้านดอลลาร์) ส่วนประเทศที่มีอัตราการละเมิดสูงสุดได้แก่ กรีซ (64%), สเปน (49%) และฝรั่งเศส (46%)

ละตินอเมริกา: นับเป็นปีที่สามติดต่อกันที่ภูมิภาคละตินอเมริกามีอัตราการละเมิดลิขสิทธิ์ลดลง โดยในปัจจุบันอยู่ที่ 57% ความเสียหายจากการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ในละตินอเมริกามีมูลค่าเกือบ 865 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ประเทศที่มีอัตราการละเมิดลิขสิทธิ์สูงสุดในภูมิภาคนี้ได้แก่ นิคารากัว (78%), โบลิเวีย (77%) รวมทั้งเอลซัลวาดอร์ และกัวเตมาลา (73% ทั้งสองประเทศ) บราซิลและเม็กซิโก ซึ่งเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในภูมิภาค มีอัตราการละเมิดลิขสิทธิ์ลดลงเหลือ 56% และ 55% ตามลำดับ ส่วนอาร์เจนติน่า ซึ่งมีเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับสามในภูมิภาค มีอัตราการละเมิดลิขสิทธ์เพิ่มขึ้นเป็น 62%

ตะวันออกกลางและแอฟริกา: อัตราการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ในภูมิภาคนี้ลดลงจาก 55% ในปี 2543 เป็น 52% ในปี 2544 สามประเทศที่มีเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในภูมิภาคตะวันออกกลาง อันได้แก่ ตุรกี อิสราเอล และซาอุดิอาระเบีย มีอัตราการละเมิดลิขสิทธิ์ลดลงในปี 2544 โดยตุรกีลดลงจาก 63% ในปี 2543 เป็น 58% ในปี 2544 ส่วนอิสราเอลมีอัตราการละเมิดลิขสิทธิ์ต่ำสุด โดยอยู่ที่ 40% ความเสียหายจากการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ในภูมิภาคนี้มีมูลค่าเกือบ 284 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในขณะที่แอฟริกามีอัตราการละเมิดลิขสิทธิ์เพิ่มขึ้นเล็กน้อย จาก 52% ในปี 2543 เป็น 53% ในปี 2544 โดยแอฟริกาใต้ซึ่งเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในภูมิภาค มีอัตราการละเมิดลิขสิทธิ์ต่ำสุดในภูมิภาค เพียง 38% ส่วนเคนย่าและไนจีเรียเป็นประเทศที่มีอัตราการละเมิดลิขสิทธิ์สูงสุด คือ 77% และ 71% ตามลำดับ

อเมริกาเหนือ: อเมริกาเหนือยังคงเป็นภูมิภาคที่มีอัตราการละเมิดลิขสิทธิ์ต่ำที่สุด โดยอยู่ที่ 26% เพิ่มขึ้นเพียง 1% จาก 25% ในปี 2543 ในช่วงระยะเวลา 7 ปีที่ผ่านมา อัตราการละเมิดลิขสิทธิ์ในภูมิภาคนี้ได้ปรับลดลงจาก 32% เป็น 26% อย่างไรก็ตาม อเมริกาเหนือมีมูลค่าความเสียหายจากการละเมิดลิขสิทธิ์มากที่สุดเป็นอันดับสาม โดยอยูที่ 1,900 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ลดลงจาก 2,900 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2543 ส่วนอัตราการละเมิดลิขสิทธิ์ในสหรัฐฯ ในปี 2544 อยู่ที่ 25% เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้านั้น 1% ความเสียหายจากการละเมิดลิขสิทธิ์ในสหรัฐฯ มีมูลค่ากว่า 1,800 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยลดลงจาก 2,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2543 ทั้งนี้ มูลค่าความเสียหายที่ลดลงในช่วงปี 2543 ถึง 2544 เกิดจากหลายปัจจัยด้วยกัน เช่น ค่าเงินดอลลาร์ที่แข็งตัวขึ้นในปี 2544 เมื่อเทียบกับเงินสกุลท้องถิ่น และราคาซอฟต์แวร์ที่เป็นเงินดอลลาร์มีการปรับลดลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นไปตามแนวโน้มการลดลงของราคาที่ต่อเนื่องมาจากทศวรรษที่แล้ว ส่วนอัตราการละเมิดลิขสิทธิ์ในแคนาดาอยู่ในระดับคงที่ 38% ในขณะที่มูลค่าความเสียหายจากการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์สูงกว่า 189 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยลดลงจาก 304 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2543

บีเอสเอตัวแทนของผู้ผลิตซอฟต์แวร์ชั้นนำของอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ ได้อนุญาตให้อินเตอร์เนชั่นแนล แพลนนิ่ง แอนด์ รีเสิร์ช คอร์เปอเรชั่น (ไอพีอาร์) (International Planning and Research Corporation, IPR) ซึ่งเป็นบริษัทที่ทำการวิจัยอิสระที่ได้รับความเชื่อถือ ให้ทำการสำรวจการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ทั่วโลกให้กับบีเอสเอ โดยการสำรวจใช้วิธีการประเมินข้อมูลการขายและการตลาดจาก 6 ภูมิภาคหลักของโลกและตรวจสอบจากแอพพลิเคชั่นซอฟต์แวร์ที่ใช้ทางธุรกิจ 26 ประเภทด้วยกัน การสำรวจนี้อยู่บนพื้นฐานของการรวบรวมข้อมูลสองชุดคือ ความต้องการ (Demand) ใช้แอพพลิเคชั่น ซอฟต์แวร์ใหม่ และการขายซอฟต์แวร์ (Legal Supply) ดังกล่าวอย่างถูกกฎหมาย โดยข้อมูลดังกล่าวได้รับการเปิดเผยจากแหล่งข้อมูลหลักสองแหล่งคือ ข้อมูลการส่งออกซอฟต์แวร์จากกลุ่มสมาชิกของบีเอสเอ และข้อมูลการตลาดจาก เมธาแฟคส์ อิงค์ (MetaFacts, Inc.) ซึ่งเป็นบริษัทรีเสิร์ชทางด้านเทคโนโลยี

ข้อมูลเกี่ยวกับบีเอสเอ

กลุ่มพันธมิตรธุรกิจซอฟต์แวร์ (บีเอสเอ) เป็นตัวแทนของนักพัฒนาซอฟต์แวร์ชั้นนำของโลกในการ ปกป้องและสนับสนุนอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ทั่วโลก บีเอสเอได้จัดกิจกรรมเพื่อให้การอบรมแก่ผู้ใช้คอมพิวเตอร์ถึงปัญหาที่เป็นผลกระทบต่ออุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ ส่งเสริมโอกาสทางการค้าผ่านทางนโยบายของภาครัฐและดำเนินการทางกฎหมายเพื่อคุ้มครองลิขสิทธิ์ของสมาชิกของบีเอสเอ สมาชิกของบีเอสเอเป็นผู้นำด้านการพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศทั้งในระดับประเทศและทั่วโลก ได้แก่ แอ็คแทร็ก21 (AccTrak21), อะโดบี, แอปเปิล, ออโต้เดสก์, เบนท์เลย์ ซิสเต็มส์, ซีเอ็นซี ซอฟต์แวร์ อิงค์, คอเรล คอร์ปอเรชั่น, อินไพรส์, โลตัส ดีเวลลอปเมนท์, มาโครมีเดีย, ไมโครซอฟท์, เน็ตเวิร์ค แอสโซเอทส์, โนเวลล์,

ไซแมนเท็ค และวิสซิโอเป็นต้น ส่วนที่ปรึกษาทางด้านนโยบายของบีเอสเอประกอบด้วยบริษัทต่างๆ ที่กล่าวมาข้างต้นรวมถึง คอมแพค, ไอบีเอ็ม, อินเทล, อินทูวิท และไซเบสด้วย

นอกจากนี้ บีเอสเอยังมีสมาชิกและได้สร้างความสัมพันธ์อันดีกับสมาคมซอฟต์แวร์และบริษัทซอฟต์แวร์ต่างๆ ที่อยู่ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิคด้วย สำหรับในประเทศไทยบีเอสเอได้ร่วมมือกับสมาคมธุรกิจคอมพิวเตอร์ไทย และสมาคมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทยดำเนินกิจกรรมต่างๆ เพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์

ติดต่อขอข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่

คุณปราณี เฉลิมธนศักดิ์

บริษัทพีซี แอนด์ แอสโซซิเอทส์ คอนซัลติ้ง จำกัด

โทรศัพท์: 0 2971 3711 โทรสาร: 0 2521 9030

อีเมล์: [email protected]

เยี่ยมชม Website BSA ได้ที่ www.bsa.org-- จบ--

-อน-