ตำรวจกวาดล้างซอฟต์แวร์ผิดกฎหมาย มูลค่าความเสียหายกว่า 22 ล้านบาท

07 Jun 2007

กรุงเทพฯ--7 มิ.ย.--นิโอ ทาร์เก็ต

กองบังคับการปราบปรามอาชญากรรมทางเศรษฐกิจและเทคโนโลยี (บก.ปศท.) โดยความร่วมมือของกลุ่มพันธมิตรธุรกิจซอฟต์แวร์ หรือ บีเอสเอ เปิดแถลงผลการจับกุมบริษัทที่ละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์-พฤษภาคม 2550 มีทั้งสิ้น 6 ราย มูลค่าความเสียหายกว่า 22 ล้านบาท จากจำนวนเครื่องคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล จำนวน 230 เครื่อง และละเมิดลิขสิทธิ์ 643 ซอฟต์แวร์ ในจังหวัดกรุงเทพฯ นนทบุรี ราชบุรี และอยุธยา

พล.ต.ต.วิสุทธิ์ วานิชบุตร ผู้บังคับการ กองบังคับการปราบปรามอาชญากรรมทางเศรษฐกิจและเทคโนโลยี เปิดเผยว่า จากการจับกุมของ บก.ปศท พบว่าโปรแกรมที่ถูกละเมิดลิขสิทธิ์คือ อโดบี, ออโต้เดสค์, ไมโครซอฟท์, โซลิดเวิร์กส์, ไซแมนเทค และไทยซอฟท์แวร์ ซึ่งรวมมูลค่าความเสียหายทั้งหมดที่จับกุมได้ในครั้งนี้ เป็นจำนวนเงิน 22,265,648 บาท โดยพบว่ามีบริษัทที่ละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์มากที่สุดถึง 233 โปรแกรม ในจังหวัดราชบุรี

ทั้งนี้ พล.ต.ต.วิสุทธิ์ วานิชบุตร ยังกล่าวว่า “บก.ปศท.ยังคงมีนโยบายในการปราบปรามการละเมิดลิขสิทธิ์อย่างต่อเนื่อง เพื่อที่จะลดการจำหน่าย การแพร่กระจาย และการใช้ซอฟต์แวร์ผิดกฏหมายอย่างใกล้ชิด อีกทั้งยังพร้อมที่จะลงมือตรวจค้นและจับกุมผู้ละเมิดลิขสิทธิ์ทุกเวลา เพื่อปราบปรามการใช้และการจำหน่ายซอฟต์แวร์ผิดกฎหมาย อย่างไรก็ตามภายใต้กฎหมายลิขสิทธิ์ของประเทศไทย การใช้ซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์ ผิดกฎหมายในองค์กรนั้น จะมีผลทำให้บริษัทและผู้บริหารระดับสูงของบริษัทดังกล่าวต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 800,000 บาท หรือ จำคุกไม่เกิน 4 ปี หรือ ทั้งจำทั้งปรับ”

มร. ดรุณ ซอว์นีย์ ผู้อำนวยการฝ่ายปราบปรามการละเมิดลิขสิทธิ์ประจำภูมิภาคเอเชียของบีเอสเอ เปิดเผยว่า “การดำเนินการจับกุมองค์กรที่ใช้ซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์นั้นมีการดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ควบคู่ไปกับการให้ความรู้เรื่องการใช้ซอฟต์แวร์ลิขสิทธิ์ที่ถูกต้องกับองค์กรธุรกิจต่างๆ เช่นกัน โดยเมื่อเร็วๆ นี้บีเอสเอก็ได้รับความร่วมมือในการจัดสัมมนาจากกรมทรัพย์สินทางปัญญา นอกจากนั้นจากผลการศึกษาเชิงเศรษฐศาสตร์ที่จัดทำให้บีเอสเอโดยบริษัทที่ปรึกษาและวิจัยด้านไอทีระดับนานาชาติ ไอดีซี ระบุว่า อัตราการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ทั่วโลกยังคงตัวอยู่ที่ร้อยละ 35 ในปี 2549

ส่วนในประเทศไทยแม้ว่าอัตราการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์จะยังคงตัวอยู่ที่ร้อยละ 80 แต่มูลค่าความเสียหายกลับเพิ่มมากขึ้นจาก 259 ล้านดอลล่าร์ (8,806 ล้านบาท) เป็น 421 ล้านดอลล่าร์ (14,314 ล้านบาท) โดยติดอันดับ 4 ของประเทศที่มีการละเมิดลิขสิทธิ์สูงสุดในเอเชียแปซิฟิก รองจากจีน (82%) อินโดนีเซีย (85%) และเวียดนาม (88%) โดยสรุปการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์นั้นก่อให้เกิดความเสียหายต่อประเทศได้อย่างมหาศาล อีกทั้งยังส่งผลกระทบต่อการเติบโตของเศรษฐกิจ การสร้างงานในอุตสาหกรรมไอที การจัดเก็บภาษีของภาครัฐ และผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ

ทั้งนี้นายสมพร มณีรัตนะกูล กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไทยซอฟท์แวร์เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด กล่าวว่า “การจับกุมการละเมิดลิขสิทธิ์ของไทยซอฟท์แวร์ในครั้งนี้แสดงให้เห็นถึงความมีประสิทธิภาพและความตั้งใจจริงของเจ้าหน้าที่ตำรวจในการปราบปรามการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์อย่างจริงจัง บีเอสเอ ยังช่วยปกป้องลิขสิทธิ์ทางปัญญาของผู้ผลิตซอฟต์แวร์ ซึ่งหมายรวมถึงลิขสิทธิ์ของไทยซอฟท์แวร์ด้วย เรามีความพร้อมที่จะร่วมรณรงค์ต่อต้านซอฟต์แวร์ผิดกฎหมายทั่วประเทศ” ข้อมูลทั่วไปเกี่ยวกับกลุ่มพันธมิตรลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์

กลุ่มพันธมิตรธุรกิจซอฟต์แวร์ หรือ บีเอสเอ เป็นผู้นำแถวหน้าที่ทุ่มเทให้กับการส่งเสริมโลกดิจิตอลที่ปลอดภัยและถูกกฎหมาย บีเอสเอเป็นกระบอกเสียงของอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์เชิงพาณิชย์และคู่ค้าฮารด์แวร์ทั่วโลกต่อหน้ารัฐบาลของประเทศต่างๆ และในตลาดการค้าระหว่างประเทศ สมาชิกบีเอสเอ ประกอบด้วยผู้ประกอบการในอุตสาหกรรม ซอฟต์แวร์ซึ่งเป็นหนึ่งในกลุ่มอุตสาหกรรมที่เติบโตอย่างรวดเร็วที่สุดในโลก บีเอสเอสนับสนุนนวัตกรรมเทคโนโลยีผ่านโครงการเพื่อการศึกษาและนโยบายที่ส่งเสริมการปกป้องลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ การรักษาความปลอดภัยบนโลกไซเบอร์ การค้าและอีคอมเมิร์ส

สมาชิกบีเอสเอ รวมถึง อโดบี, อัลเทียม, แอปเปิ้ล, ออโต้เดสค์, อาวิด, บีอีเอ ซิสเต็มส์, เบนลี่ ซิสเต็มส์, บอร์แลนด์, ซีเอ, คาเดนส์ ดีไซน์ ซิสเต็มส์, ซิสโก้ ซิสเต็มส์, ซีเอ็นซี ซอฟต์แวร์/มาสเตอร์แคม, เดลล์, อีเอ็มซี, เอ็นทรัสต์, ฟรอนท์ไลน์ พีซีบี โซลูชั่นส์ (ในเครือออร์โบเท็ค วาเลอร์ คัมปานี) เอชพี, ไอบีเอ็ม, อินเทล, ไอนัส เทคโนโลยี, แมคอาฟี, ไมโครซอฟท์,มินิแทบ, โมโนไทพ์ อิเมจิ้ง พีทีซี, เอสเอพี, โซลิดเวิร์กส์, ไซเบส, ไซแมนเทค, ซินอพซิส, เทคล่า, เดอะ แมธเวิร์กส์, เทรนด์ ไมโคร, ยูจีเอส และไทยซอฟท์แวร์เอ็นเตอร์ไพรส์

ในประเทศไทย บีเอสเอร่วมมือกับสมาคมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทย (The Association of Thai Software Industry (ATSI) และสมาคมอุตสาหกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศไทย (The Association of Thai ICT Industry (ATCI) อย่างใกล้ชิด เพื่อส่งเสริมการปกป้องคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา

วิธีแจ้งเบาะแสการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ในองค์กรธุรกิจ

บีเอสเอเปิดบริการสายด่วนที่หมายเลขโทรฟรี 1800 291005 เพื่อรณรงค์ต่อต้านการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ โดยรับแจ้งเบาะแสข้อมูลเกี่ยวกับการใช้ซอฟต์แวร์ผิดกฎหมายหรือไม่มีลิขสิทธิ์ในองค์กรธุรกิจ ทั้งนี้ ผู้แจ้งเบาะแสข้อมูลที่นำไปสู่การดำเนินคดีจนถึงที่สุดกับบริษัทที่ละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ของ

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อ

บ.นิโอ ทาร์เก็ต จำกัด

สุนทรี ชินประหัษฐ์ / นิสิตา ใจเย็น

โทร (02) 631-2290-5 ต่อ 222, 310

แฟ็กซ์ (02) 234-6192-3

E-Mail: [email protected] , [email protected]