กรุงเทพฯ--25 มี.ค.--อย.
สุดารัตน์ ประกาศนโยบายเร่งด่วน รณรงค์ให้ประชาชนเลือกซื้อเนื้อหมูปลอดสารเร่งเนื้อแดง หลังตรวจพบเนื้อหมูมีสาร"ซัลบิวตามอล" ตกค้างมากถึง 80% จากทั่วประเทศ สั่งควบคุมการจำหน่ายสารซัลบิวตามอลอย่างเข้มงาด ดึงเจ้าของฟาร์มและผู้จำหน่ายหมู ประกาศให้ความร่วมมือ สธ.เลิกใช้สารอย่างเด็ดขาด
ตลาดสดคลองเตย เมื่อเวลา 13.30 น. วันที่ 24 มี.ค. 46 นางสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย ศ.ดร.ภักดี โพธิศิริ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข น.พ.ศุภชัย คุณารัตนพฤกษ์ เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) และน.พ.สมทรง รักษ์เผ่า อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้เดินทางไปตลาดสดคลองเตย เพื่อตรวจสอบความปลอดภัยของเนื้อหมูสดว่ามีสารอันตรายปนเปื้อนหรือไม่ เพราะในปัจจุบันมีผู้ประกอบการส่วนหนึ่งใช้สาร "ซัลบิวตามอล" หรือสารเร่งเนื้อแดง ไปผสมอาหารเลี้ยงสุกร ทั้งนี้ จากการตรวจสอบตลาดขายหมูชำแหละในกรุงเทพส่วนใหญ่พบว่าร้อยละ 90 เป็นหมูที่ส่งมาจากฟาร์ม จ.นครปฐม เกษตรกรที่เลี้ยงหมูใน จ.นครปฐม มีมากถึง 2,895 แห่ง มีหมูทั้งหมดประมาณ 1,342,187 ตัว แต่มีฟาร์มหมูที่เลี้ยงโดยไม่ใช้สารเร่งเนื้อแดง "ซัลบิวตามอล" เพียงแค่ 3 ฟาร์มเท่านั้น ดังนั้นทางกระทรวงสาธารณสุขจึงมีมาตรการเร่งด่วนในการเตือนและให้ความรู้แก่ประชาชนไม่ให้ซื้อเนื้อหมูที่มีสีแดงผิดธรรมชาติและไม่ควรบริโภคอย่างเด็ดขาด
นางสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ในการมาตรวจสอบหาสารเร่งเนื้อแดงครั้งนี้ ถือเป็นมาตรการเร่งด่วนในการที่จะดำเนินการคุ้มครองดูแลสุขภาพของประชาชน โดยเฉพาะความปลอดภัยในเรื่องของอาหาร เพราะประเทศไทยจะเป็น "ครัวของโลก" ในอนาคต ฉะนั้นประชาชนคนไทยเองจะต้องได้บริโภคอาหารที่มีสุขภาพ ไม่มีสารตกค้างที่เป็นอันตรายต่อร่างกาย โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องเร่งแก้ปัญหาการใช้สารเร่งเนื้อแดงอย่างเด็ดขาดและจริงจัง ซึ่งประเด็นที่จะมุ่งเน้นในการแก้ปัญหาในขณะนี้คือ ปฎิบัติการปราบหมูใส่สารเร่งเนื้อแดง เนื่องจากในปีที่ผ่านมาได้สุ่มตัวอย่างตรวจหาสารเร่งเนื้อแดงจากแหล่งจำหน่ายในกรุงเทพฯ และจังหวัดต่างๆ ในภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคเหนือตอนล่าง เพื่อตรวจหาสารซัลบิวตามอล หรือสารเร่งเนื้อแดง จำนวนทั้งสิ้น 347 ตัวอย่าง พบมีสารตกค้าง 289 ตัวอย่าง หรือร้อยละ 83 และตั้งแต่วันที่ 24 ม.ค.- 10 ก.พ.46 ได้สุ่มเก็บตัวอย่างเนื้อหมูชิ้น เนื้อหมูสามชั้น จำนวน 75 ตัวอย่าง จากตลาด อตก.จตุจักร ตลาด อตก.3 จ.นนทบุรี ตลาดหน้าวัดลครทำ บางกอกน้อย ตลาดนนทบุรี ส่งตรวจวิเคราะห์ที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ผลการตรวจพบสารซัลบิวตามอลตกค้างในเนื้อหมู 68 ตัวอย่าง คิดเป็นร้อยละ 90.6 โดยพบในปริมาณ 1.0-30.5 ไมโครกรัม / ก.ก. แสดงว่ามีการลักลอบนำสารซัลบิวตามอลมาเลี้ยงหมูอยู่เป็นจำนวนมาก จึงอยากฝากให้ทางกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้เข้ามาดูแลเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรอย่างจริงจัง เพราะถือว่าต้นตอของการใช้สารเร่งเนื้อแดงมาจากผู้เลี้ยงสุกร จึงต้องแก้ปัญหาจากแหล่งผลิตให้เข้มงวด นางสุดารัตน์ กล่าวทิ้งท้าย
นอกจากนี้นางสุดารัตน์ ยังได้ฝากเตือนพี่น้องประชาชนให้เลือกซื้อเนื้อหมูที่ปลอดสารเร่งเนื้อแดง โดยให้สังเกตจากสีแดงธรรมชาติ ไม่ใช่สีแดงสด ถ้าเป็นหมูสามชั้นต้องมีชั้นมันมากกว่าเนื้อแดง หรือมีมันหนาบริเวณสันหลัง เนื้อหมูเมื่ออยู่ในลักษณะตัดขวางจะมีมันแทรกระหว่างกล้ามเนื้อเห็นได้ชัดเจน และนอกจากกนี้ยังมีอีกวิธีคือการใช้นิ้วกดลงไปบนเนื้อหมู ถ้าเป็นหมูที่ไม่ใช้สาร เนื้อจะบุ๋มนานกว่าจะกลับมาเหมือนเดิม จึงอยากวอนให้ประชาชนผู้บริโภคที่เป็นกลไกสำคัญของตลาดอย่าซื้อ เพราะถ้าผู้บริโภคไม่ต้องการ ผู้ค้าก็จะต้องเปลี่ยนวิธีการเลี้ยงแบบปลอดสารโดยปริยาย นางสุดารัตน์ กล่าวแนะนำในที่สุด
ศ.ดร.ภักดี โพธิศิริ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงนโยบายเร่งด่วนที่จะต้องแก้ไขปัญหาสารเร่งเนื้อแดงตกค้าง เนื่องจากเป็นปัญหาสำคัญที่ส่งผลถึงสุขภาพของประชาชนโดยตรงและเป็นนโยบายของรัฐบาลจึงได้มอบหมายให้หน่วยงานแต่ละกรมที่เกี่ยวข้องดำเนินการจริงจังและเร่งด่วน ในส่วนของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์จะรับผิดชอบเรื่องการตรวจวิเคราะห์หาสารเร่งเนื้อแดงตกค้าง และกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ เป็นหน่วยงานสำคัญที่รับบทบาทในการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ สร้างความเข้าใจ และให้ความรู้กับประชาชนในการเลือกซื้อ และเลือกบริโภคอาหารที่ปลอดภัย นอกจากนี้ กรมอนามัยแม้ว่าจะไม่ได้อยู่ในกลุ่มภารกิจในครั้งนี้ แต่ก็ได้มีส่วนเข้ามาช่วยสนับสนุนการดำเนินการ โดยมีโครงการ "ตลาดสดน่าซื้อ" ซึ่งนอกจากจะดูแลในเรื่องสุขลักษณะ และอนามัยแล้วยังช่วยแนะนำบรรดาพ่อค้าและแม่ค้าในตลาดให้จำหน่ายอาหารที่สะอาดและปลอดภัยต่อสุขภาพของประชาชนอีกด้วย
น.พ.ศุภชัย คุณารัตนพฤกษ์ เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา กล่าวถึงอันตรายของสารซัลบิวทามอล หรือสารเร่งเนื้อแดง ว่า จริงๆ แล้วสาร ซัลบิวตามอล เป็นสารกลุ่ม เบต้าอะโกนิสต์ เป็นตัวสำคัญในการผลิตยาบรรเทาโรคหอบหืด ช่วยขยายหลอดลม และช่วยให้กล้ามเนื้อขยายตัว หรือใช้รักษาคนไข้ที่หัวใจเต้นอ่อน หรือหยุดเต้น เพราะสามารถกระตุ้นการเต้นของหัวใจ พบว่าเกษตรกรผู้เลี้ยงหมูมีการนำสารซัลบิวทามอลไปใช้เร่งเนื้อแดงในหมู โดยการนำสารนี้ไปผสมกับอาหารให้หมูกิน เมื่อตกค้างมาถึงผู้บริโภคอาจมีผลข้างเคียง ทำให้มีอาการมือสั่น กล้ามเนื้อกระตุก ปวดศรีษะ หัวใจเต้นเร็วผิดปกติ กระวนกระวาย วิงเวียน บางรายอาจมีอาการเป็นลม คลื่นไส้ อาเจียน เป็นอันตรายมากสำหรับผู้ที่เป็นโรคหัวใจ ความดันโลหิตสูง ผู้ป่วยเบาหวาน และหญิงมีครรภ์
ในช่วงกลางเดือนมีนาคมถึงเดือนเมษายน อย.มีแผนการตรวจตลาดสดทุกสัปดาห์ ซึ่งทุกครั้งที่ตรวจจะพยายามสืบหาแหล่งผลิตซึ่งเป็นต้นตอของปัญหาสารต้องห้ามตกค้างในอาหาร และจากการตรวจได้เก็บตัวอย่างเนื้อหมูเพื่อส่งตรวจวิเคราะห์หาสารเร่งเนื้อแดงจากตลาดสดคลองเตย ซึ่งถือเป็นตลาดสดขนาดใหญ่ โดยเก็บเนื้อหมูชิ้นจำนวน 16 ตัวอย่างจาก 16 แผง ผลวิเคราะห์ปรากฎว่า พบการปนเปื้อนสารเร่งเนื้อแดง จำนวน 16 ตัวอย่าง หรือคิดเป็นร้อยละ 81.25
น.พ.สมทรง รักษ์เผ่า อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ให้รายละเอียดเพิ่มเติมถึงวิธีการและขั้นตอนการตรวจวิเคราะห์หาสารเร่งเนื้อแดงกลุ่มเนื้อแดงกลุ่มเบต้าอะโกนิสต์ที่ตกค้างในเนื้อหมู โดยวิธี Enzyme Linked Immunosorbent Assay โดยเริ่มจากการนำตัวอย่างเนื้อหมูมาย่อยสลายด้วยเอนไซม์ ใช้เวลา 16-18 ชั่วโมง ต่อจากนั้นเริ่มสกัดสารเร่งเนื้อแดงจากเนื้อหมูลและ Purify สารเร่งเนื้อแดงที่สกัดได้ ใช้เวลาประมาณ 3 ชั่วโมง และสุดท้ายก็จะตรวจปริมาณสารเร่งเนื้อแดงด้วยเทคนิค ELISA ใช้เวลาอีก 3 ชั่วโมง ก็จะทราบผลและปริมาณของสารที่ตกค้าง
ด้านนายยรรยง เชี่ยวชาญวลิซกิจ เกษตรกรผู้เลี้ยงสุกร จ.นครปฐม เปิดเผยว่า การที่ผู้บริโภคมีค่านิยมในการบริโภคหมูเนื้อแดง ทำให้เกษตรกรผู้เลี้ยงต้องผลิตหมูในลักษณะดังกล่าว แต่จริงๆ แล้วผู้เลี้ยงไม่ต้องการใช้สารเร่งเนื้อแดง เพราะจะต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น 2-3% ของค่าอาหาร การใช้สารเร่งเนื้อแดง จะได้เนื้อแดงเพิ่มขึ้นต่อตัว 6-7 กิโลกรัม แต่รสชาติไม่อร่อย เนื้อแข็งไม่นิ่ม และไม่หวาน สำหรับหมูธรรมจะมีราคาถูกกว่ากิโลกรัมละ 2 บาท แต่ตลาดที่เป็นตัวแปรสำคัญที่สุดคือ กลุ่มผู้ผลิตอาหารแปรรูปต่างๆ เช่น แหนม ไส้กรอก หมูยอ ลูกชิ้น ฯลฯ ซึ่งถือเป็นตลาดใหญ่สุด 60% ส่วนตลาดผู้บริโภคที่เป็นประชาชนทั่วไป 40% สาเหตุที่กลุ่มผู้ผลิตอาหารแปรรูปต้องการเนื้อแดงไร้มันสูง เพราะจะทำให้อาหารแปรรูปมีสีสวยน่ารับประทาน แต่ที่สำคัญเมื่อเนื้อหมูมีสีแดงเข้มผู้ประกอบการก็จะนำเนื้อไก่ที่มีราคาถูกใส่ปนลงไปทำให้ต้นทุนถูกลงมาก
ในครั้งนี้เกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรได้รวมกลุ่มกันประกาศเลิกใช้สารเร่งเนื้อแดง หากผู้ประกอบการรายใดยังไม่เลิกใช้สารซัลบิวตามอลเลี้ยงหมู กลุ่มผู้ประกอบการจะแจ้งเบาะแสให้ สธ.จับกุมทันที เพราะจะไปทำลายอาชีพผู้เลี้ยงสุกรด้วยกันเอง เมื่อผู้บริโภคลดลงอนาคตกลุ่มผู้เลี้ยงสุกรจะเดือดร้อนอย่างหนัก ปัจจุบันมีฟาร์มหมูทั่วประเทศประมาณ 30,000 แห่ง หรือประมาณ 9,800,000 ตัว เฉลี่ยน้ำหนักหมู 1 ตัว หนักประมาณ 95-110 กิโลกรัม จำนวนหมูที่ประชาชนทั่วประเทศบริโภคต่อวันประมาณ 35,000-40,000 ตัว/วัน เฉพาะกรุงเทพฯ ประชาชนบริโภคต่อวันประมาณ 22,000-25,000 ตัว เฉลี่ยคนไทยในอดีตรับประทานเนื้อหมู 10 ก.ก./คน/ปี ปัจจุบันคนไทยนิยมบริโภคเนื้อหมูลดลงเหลือเพียง 6 ก.ก./คน/ปี จึงทำให้ในขณะที่มีหมูล้นตลาดมากถึง 6-5 แสนตัว โดยหมูทั้งหมดมีการใช้สารเร่งเนื้อแดงอยู่ที่ประมาณ 70-80% จากฟาร์มทั่วประเทศ
สำหรับกลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรต้องการให้รัฐบาลโดยเฉพาะกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เอาจริงเอาจังเข้มงวดกับผู้เลี้ยงที่ยังใช้สารเร่งเนื้อแดงให้เด็ดขาด เพราะมิฉะนั้นเกษตรกรผู้เลี้ยงที่ไม่ใช้สาร ก็จะไม่สามารถประกอบการได้ และฝากถึงกระทรวงสาธารณสุขให้ช่วยประชาสัมพันธ์ให้ผู้บริโภคทราบว่าทางกลุ่มผู้เลี้ยงสุกรได้เลิกใช้สารเร่งเนื้อแดงแล้ว อยากให้ผู้บริโภคหันมาบริโภคเนื้อหมู เพราะสุดท้ายแล้วเนื้อสัตว์ยังมีโปรตีนที่ร่างกายต้องการนำไปสร้างการเจริญเติบโตอีกมาก
การควบคุมสารซัลบิวตามอล(สารเร่งเนื้อแดง)ตั้งแต่ปีพ.ศ.2542 การนำเข้าสารซัลบิวตามอลและเคลนบูเทอรอล จะอนุญาตเฉพาะกรณีที่มีหนังสือรับรองจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาเท่านั้น และต้องจัดทำบัญชีการนำเข้าเสนอต่อสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาทุกสี่เดือน--จบ--
-สก/ศน-