ILCT: การให้บริการเซิฟเวอร์เถื่อน ผิดกฎหมายหรือไม่

06 Nov 2003

กรุงเทพฯ--6 พ.ย.--ที่ปรึกษากฎหมายสากล

โดย ไพบูลย์ อมรภิญโญเกียรติ

นิติ เนื่องจำนงค์

บริษัท ที่ปรึกษากฎหมายสากล จำกัด

[email protected]

[email protected]

ในช่วงนี้ คงต้องยอมรับว่ากระแสของธุรกิจดอทคอม เริ่มกระเตื้องขึ้นหลังจากที่ซบเซาอยู่เป็นเวลานาน แม้ว่าในปัจจุบันยังไม่มีคณะกรรมการโทรคมนาคมแห่งชาติหรือที่เรียกกันสั้น ๆ ว่า "กทช." ตามกฎหมายพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และ กิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2543 แต่บริษัทโทรคมนาคมหรือ อีคอมเมอซ์ ต่าง ๆ ในประเทศไทยต่างก็ระดมโปรโมชั่นต่าง ๆ มากมาย ไม่ว่าจะเป็นอินเตอร์เน็ทไร้สายในรูปของ WLAN (Wireless LAN) หรือบริการ Hot Spot ของ ทีเอ เอ็มเว็บ หรือ ค่ายต่าง ๆ ออกมาให้บริการลูกค้า อย่างไรก็ตาม มีบริการอย่างหนึ่งซึ่งมีท่านผู้อ่านหลายท่านเขียนมาสอบถามว่า ขณะที่ยังไม่มี กทช. บริษัททั่ว ๆ ไปสามารถให้บริการเชื่อมต่อเครือข่ายอินเตอร์เน็ทแก่ประชาชนทั่วไปโดยเครื่องคอมพิวเตอร์เซิฟเวอร์ผ่านระบบ Proxy และ VPN (Virtual Private Network) ได้หรือไม่ โดยที่ผู้ให้บริการ Proxy และ VPN ดังกล่าว ไม่มีใบอนุญาตให้ประกอบธุรกิจให้บริการอินเตอร์เน็ทหรือ ไอเอสพี (ISP - Internet Service Provider)

คำตอบ คือ การให้บริการ Proxy หรือ VPN โดยการเชื่อมต่อเครือข่ายอินเตอร์เน็ทให้แก่ประชาชนทั้งที่ไม่มีใบอนุญาตให้ประกอบกิจการอินเตอร์เน็ทได้นั้น ถือว่าผิดกฎหมายพระราชบัญญัติการประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2544 มาตรา 4

7 และ 67 ประกอบกัน ซึ่งมีรายละเอียด ดังนี้ครับ

มาตรา 4 ในพระราชบัญญัติฉบับนี้

"การประกอบกิจการโทรคมนาคม" หมายความว่า การประกอบกิจการในลักษณะที่เป็นผู้ให้บริการด้านกิจการโทรคมนาคมแก่บุคคลอื่นทั่วไป

มาตรา 7 ผู้ใดประสงค์จะประกอบกิจการโทรคมนาคมตามลักษณะและประเภทที่คณะกรรมการประกาศกำหนดตามกฎหมายว่าด้วยองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และ กิจการโทรคมนาคม ต้องได้รับใบอนุญาตจากคณะกรรมการ

ใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมให้มีสามแบบ ดังนี้

(1) ใบอนุญาตแบบที่หนึ่ง ได้แก่ ใบอนุญาตสำหรับผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคมที่ไม่มีโครงข่ายโทรคมนาคมเป็นของตนเอง และเป็นกิจการที่มีลักษณะสมควรให้มีการบริการได้โดยเสรี ทั้งนี้ เมื่อผู้ประสงค์จะประกอบกิจการลักษณะดังกล่าวได้แจ้งให้คณะกรรมการทราบแล้ว คณะกรรมการต้องออกใบอนุญาตให้ประกอบกิจการได้

(2) ใบอนุญาตแบบที่สอง ได้แก่ ใบอนุญาตสำหรับผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคมที่มีหรือไม่มีโครงข่ายเป็นของตนเอง ซึ่งเป็นการประกอบกิจการที่มีวัตถุประสงค์ให้บริการจำกัดเฉพาะกลุ่มบุคคลหรือเป็นการประกอบกิจการที่ไม่มีผลกระทบโดยนัยสำคัญต่อการแข่งขันโดยเสรีอย่างเป็นธรรม หรือต่อประโยชน์สาธารณะและผู้บริโภค ทั้งนี้ เมื่อผู้ประสงค์จะประกอบกิจการลักษณะดังกล่าวได้ปฏิบัติถูกต้องครบถ้วนตามหลักเกณฑ์มาตรฐานที่คณะกรรมการประกาศกำหนดไว้ล่วงหน้าแล้ว คณะกรรมการต้องออกใบอนุญาตให้ประกอบกิจการได้

(3) ใบอนุญาตแบบที่สาม ได้แก่ ใบอนุญาตสำหรับผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคมที่มีโครงข่ายเป็นของตนเอง ซึ่งเป็นการประกอบกิจการที่มีวัตถุประสงค์ในการให้บริการแก่บุคคลทั่วไปจำนวนมาก หรืออาจมีผลกระทบโดยนัยสำคัญต่อการแข่งขันโดยเสรีอย่างเป็นธรรม หรืออาจกระทบต่อประโยชน์สาธารณะ หรือมีเหตุจำเป็นต้องคุ้มครองผู้บริโภคเป็นพิเศษ ทั้งนี้ เมื่อผู้ประสงค์จะประกอบกิจการลักษณะดังกล่าวได้รับการพิจารณาจากคณะกรรมการเห็นสมควรให้ออกใบอนุญาตแล้ว จึงจะประกอบกิจการได้

มาตรา 67 ผู้ใดประกอบกิจการโทรคมนาคม โดยไม่ได้รับอนุญาตหรือใช้คลื่นความถี่ในการประกอบกิจการโทรคมนาคมโดยไม่ได้รับอนุญาต ต้องระวางโทษดังนี้

(1) ถ้าการกระทำความผิดเป็นการประกอบกิจการซึ่งกำหนดให้ต้องมีใบอนุญาตแบบที่หนึ่ง ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท

(2) ถ้าการกระทำความผิดเป็นการประกอบกิจการซึ่งกำหนดให้ต้องมีใบอนุญาตแบบที่สอง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

(3) ถ้าการกระทำความผิดเป็นการประกอบกิจการซึ่งกำหนดให้ต้องมีใบอนุญาตแบบที่สาม ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกินสิบล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

จากกฎหมายกิจการโทรคมนาคมดังกล่าว ถือได้ว่า การให้บริการเซิฟเวอร์เถื่อนไม่ว่าผ่านระบบ Proxy หรือ VPN โดยไม่มีใบอนุญาตโดยเชื่อมต่อเครือข่ายอินเตอร์เน็ทให้กับลูกค้าและแสวงหากำไรโดยเก็บค่าบริการจากการให้บริการเชื่อมต่อดังกล่าว ถือเป็นการประกอบกิจการโทรคมนาคม ตามมาตรา 4 ซึ่งตามพระราชบัญญัติการประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2544 บุคคลผู้ซึ่งให้บริการการเชื่อมต่อเครือข่ายคอมพิวเตอร์ผ่านระบบ Proxy และ VPN จะต้องได้รับใบอนุญาตจาก กทช. ดังนั้น การให้บริการเชื่อมต่อเครือข่ายอินเตอร์เน็ทผ่านเซิฟเวอร์เถื่อนดังกล่าวข้างต้นโดยไม่มีใบอนุญาต ถือเป็นการประกอบธุรกิจที่ขัดต่อกฎหมายอันมีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกินสิบล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ดังนั้น การให้บริการเซิฟเวอร์เถื่อนจึงไม่สามารถทำได้ครับ

กิจการอีกประเภทหนึ่งที่มักจะมีการทำกันในช่วงนี้ คือ การให้บริการเซิฟเวอร์เถื่อนโดยจัดให้มีการเล่นเกมส์ออนไลน์โดยผู้ให้บริการจะไปเช่าเซิฟเวอร์จาก ไอเอสพี แต่ละรายเมื่อได้ ไอพี แอดเดรส (IP Address) มาจาก ไอเอสพี แล้ว ผู้ให้บริการเหล่านี้ก็จะใช้ระบบ Proxy หรือ VPN เชื่อมต่อโดยดาวน์โหลดโปรแกรมคอมพิวเตอร์เกมส์ออนไลน์ชื่อดังมาไว้ในเซิฟเวอร์เพื่อให้บริการแก่เด็กนักเรียนที่ต้องการเสียค่าเล่นเกมส์ออนไลน์ในราคาถูกหรือต้องการเล่นเกมส์ออนไลน์เกินเวลาที่กระทรวงไอซี โดยปกติผู้ให้บริการประเภทนี้มักเปิดเว็บไซท์ของตนเองหรือเปิดบริการเซิฟเวอร์เถื่อนในร้านอินเตอร์เน็ทคาเฟ่ ผมขอเรียนว่า การดาวน์โหลดโปรแกรมคอมพิวเตอร์เกมส์ออนไลน์มาไว้ในเครื่องคอมพิวเตอร์เซิฟเวอร์ของตนเพื่อให้บริการโดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าของลิขสิทธิ์ นอกจากผิดกฎหมายโทรคมนาคมตามที่กล่าวข้างต้นแล้ว ผู้ที่ให้บริการเซิฟเวอร์เถื่อนเพื่อเชื่อมต่อเกมส์ออนไลน์นั้น ยังอาจถูกดำเนินคดีฐาน ทำซ้ำ ดัดแปลง เผยแพร่ ซึ่งงานอันมีลิขสิทธิ์ของผู้อื่น อันได้แก่ โปรแกรมคอมพิวเตอร์ซอฟท์แวร์ของเกมส์แต่ละประเภท ซึ่งมีโทษจำคุก 6 เดือนถึง 4 ปี ปรับไม่เกิน 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ดังนั้น ผมคิดว่าการประกอบธุรกิจดอทคอมที่ถูกกฎหมายและมีใบอนุญาตถูกต้องน่าจะเป็นแนวทางที่ดีที่สุดครับ--จบ--

-นห-

ฝากข่าวประชาสัมพันธ์?

ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit