พินิจตั้งเป้า GPP อีสานปี 47 ขยายตัว 10% ชูอาหารแปรรูป-ยาง-ผ้าทอ-ซอฟต์แวร์เป็นจุดขาย

18 Mar 2004

กรุงเทพฯ--18 มี.ค.--กระทรวงอุตสาหกรรม

รัฐมนตรีพินิจฯ เดินหน้างานส่งเสริมการลงทุนของคนไทยในภาคอีสาน ตั้งเป้าผลิตภัณฑ์มวลรวมจังหวัดของภาคอีสานปีนี้ต้องโตถึง 10% ชูอุตสาหกรรมอาหารแปรรูป ยาง ผ้าทอ ซอฟต์แวร์ มีศักยภาพสูง แต่ต้องนำความรู้และเทคโนโลยีใหม่ๆ มาพัฒนา โดยกระทรวงอุตสาหกรรมจะช่วยนักลงทุนด้านการตลาดและจะประสานให้ SMEs Bank ปล่อยเงินกู้ปลอดดอกเบี้ย พร้อมยกขอนแก่นเป็นไอทีซิตี้ โดยจะมีกลุ่มนักลงทุนด้านไอทีจากสวีเดนกว่า 10 รายสนใจเข้ามาลงทุน

นายพินิจ จารุสมบัติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยภายหลังการประชุมหารือเรื่อง "การประสานและเชื่อมโยงยุทธศาสตร์ของกลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือกับยุทธศาสตร์ส่งเสริมการลงทุน" ร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัด ประธานสภาอุตสาหกรรม ประธานหอการค้า หน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้อง รวมประมาณ 180 คน ในวันนี้ (18 มีนาคม 2547) ณ โรงแรมโซฟิเทล ราชา ออคิด ขอนแก่น จ.ขอนแก่น ว่า เพื่อให้การเติบโตทางเศรษฐกิจของภาคตะวันออกเฉียงเหนือเติบโตมากขึ้น กระทรวงอุตสาหกรรมจึงได้กำหนดเป้าหมายของผลิตภัณฑ์มวลรวมของจังหวัด (Gross Provincial Product: GPP) ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือต้องขยายตัวอย่างน้อย 10% จากเดิมที่โตประมาณปีละ 4%"ภาคอีสานนั้นมีอุตสาหกรรมหลายประเภทที่มีศักยภาพแข็งแกร่งและสามารถเติบโตได้อีกมาก เช่น อาหารแปรรูป ยาง การผลิตเครื่องยนต์สำหรับรถยนต์ ผ้าทอ ไอซีที อิเล็กทรอนิกส์ และอุตสาหกรรมบริการ แต่จะต้องมีการนำความรู้และเทคโนโลยีใหม่ๆ มาพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งกระทรวงอุตสาหกรรมจะประสานธนาคารเพื่อการพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMES Bank) ในการให้เงินกู้ปลอดดอกเบี้ย เพื่อสนับสนุนการพัฒนาแก่ผู้ประกอบการ และกระทรวงจะประสานหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการตลาดเข้ามาช่วยด้วย " นายพินิจกล่าว

สำหรับการเป็นไอทีซิตี้ของจังหวัดขอนแก่นนั้น ขณะนี้มีการเตรียมความพร้อมเกินกว่า 50% โดยได้รับรายงานจากจังหวัดขอนแก่นว่ามีกลุ่มนักลงทุนธุรกิจไอทีจากประเทศสวีเดนกว่า 10 รายสนใจที่จะเข้ามาลงทุนในจังหวัดขอนแก่น นอกจากนี้ กระทรวงอุตสาหกรรมโดยบีโอไอก็จะพิจารณาเรื่องการให้สิทธิประโยชน์เพิ่มเติมแก่อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง เช่น ลอจิสติกส์ เพื่อรองรับการลงทุนด้านไอทีในขอนแก่น รวมทั้งจะพิจารณาให้มีการจัดตั้ง One Stop Service เพื่ออำนวยความสะดวกในด้านต่างๆ แก่ผู้ประกอบการด้วย

ด้านนายสมพงษ์ วนาภา เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) กล่าวว่า ภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีจุดเด่นในเรื่องแรงงานที่ได้รับคำชมจากผู้ประกอบการทั้งไทยและต่างประเทศมาโดยตลอด เพราะมีคุณภาพและสามารถพัฒนาทักษะไปสู่ระดับที่สูงขึ้นได้ดี แต่จะต้องมีการนำความรู้และเทคโนโลยีเข้ามาเสริม ซึ่งบีโอไอก็จะทำหน้าที่ประสานและเชื่อมโยงกับมหาวิทยาลัยและสถาบันการศึกษาในการจัดทำแผนพัฒนาแรงงานให้ตรงกับความต้องการของสถานประกอบการ

การประชุมในครั้งนี้เป็นการเชื่อมโยงยุทธศาสตร์การลงทุนในกลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เพื่อที่บีโอไอและกระทรวงอุตสาหกรรมจะสามารถกำหนดยุทธศาสตร์ให้สอดคล้องกับความต้องการและศักยภาพการลงทุนของกลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รวมถึงการกำหนดแนวทางการส่งเสริมธุรกิจ SMEs และวิสาหกิจชุมชน ในรูปแบบที่สามารถปฏิบัติได้จริงและนำไปสู่ผลสำเร็จ ซึ่งหลังจากนี้ บีโอไอก็จะจัดประชุมหารือในลักษณะนี้กับผู้ว่าฯ ซีอีโอและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในภูมิภาคอื่นๆ ต่อไป

สำหรับภาพรวมการลงทุนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่ขอรับส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอตั้งแต่ปี 2541 - 2546 นั้น มีมูลค่าเฉลี่ยปีละประมาณ 12,866 ล้านบาท คิดเป็นการลงทุนประมาณ 5% ของการลงทุนทั้งประเทศ นับว่าเป็นสัดส่วนที่น้อยมากแต่ยังมีศักยภาพที่จะเพิ่มการลงทุนได้อีกมาก โดยกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีการลงทุนมากที่สุดคือ เกษตรและเกษตรแปรรูป รองลงมาเป็นอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมบริการ อุตสาหกรรมเครื่องจักรและอุปกรณ์ขนส่ง ส่วนอุตสาหกรรมที่มีการลงทุนน้อยคือ เหมืองแร่และเซรามิกส์ เคมีภัณฑ์ กระดาษและพลาสติก--จบ--

-นท-