ฟิทช์เพิ่มอันดับเครดิตของธนาคารยูไนเต็ด โอเวอร์ซีส์ (ไทย) และเพิกถอนอันดับเครดิตของธนาคารยูโอบีรัตนสิน

19 Dec 2005

กรุงเทพฯ--19 ธ.ค.--ฟิทช์ เรทติ้งส์

ฟิทช์ เรทติ้งส์ ประกาศเพิ่มอันดับเครดิตแก่ธนาคารยูไนเต็ด โอเวอร์ซีส์ (ไทย) จำกัด (มหาชน) (“UOBT”) ซึ่งดำเนินธุรกิจในประเทศไทย โดยอันดับเครดิตสากลสกุลเงินตราต่างประเทศระยะยาวปรับเพิ่มเป็น ‘A-’ (A ลบ) แนวโน้มมีเสถียรภาพ จากเดิม ‘BBB+’ และอันดับเครดิตสนับสนุนปรับเพิ่มเป็น ‘1’ จากเดิม ‘2’ ฟิทช์ยังประกาศคงอันดับเครดิตสากลสกุลเงินตราต่างประเทศระยะสั้นของ UOBT ที่ ‘F2’ และอันดับความแข็งแกร่งทางการเงินที่ ‘C/D’ ในขณะเดียวกัน ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) ได้ประกาศคงอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวที่ ‘AA+(tha)’ แนวโน้มมีเสถียรภาพ และอันดับเครดิตภายในประเทศระยะสั้นที่ ‘F1+(tha)’ ฟิทช์ยังได้ประกาศเพิกถอนอันดับเครดิตสนับสนุนของธนาคารยูโอบี รัตนสิน (“UOBR”) ซึ่งได้รับการจัดอันดับเครดิตไว้ที่ ‘2’ หลังจากการควบรวมกิจการของธนาคารกับ UOBT

อันดับเครดิตของ UOBT มีพื้นฐานมาจากการที่ United Overseas Bank ของสิงคโปร์ (“UOB” ซึ่งได้รับการจัดอันดับเครดิตสากลสกุลเงินตราต่างประเทศที่ ‘AA-’ (AA ลบ)/ แนวโน้มมีเสถียรภาพ) ยังคงเป็นผู้ถือหุ้นซึ่งมีอำนาจในการบริหารธนาคาร การเปลี่ยนแปลงใดๆในสัดส่วนการถือหุ้นของ UOB ใน UOBT รวมทั้งข้อผูกพันและการสนับสนุนที่มีต่อ UOBT ย่อมส่งผลกระทบต่ออันดับเครดิตของ UOBT เนื่องจากอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศของ UOBT ในขณะนี้ อยู่ในระดับเดียวกับเพดานอันดับเครดิตของประเทศ การปรับลดอันดับเครดิตใดๆของเพดานอันดับเครดิตของประเทศไทย (ซึ่งอยู่สูงกว่าอันดับเครดิตสากลสกุลเงินตราต่างประเทศของประเทศไทยอยู่ 1 อันดับ) จะส่งผลกระทบต่ออันดับเครดิตของ UOBT

UOBT ซึ่งก่อนหน้านี้เป็นธนาคารเอเชีย (“BOA”) ก่อตั้งในปี 2482 ในปี 2547 ABN AMRO ได้ขายหุ้นใน BOA ให้แก่ UOB การควบรวมกิจการระหว่าง UOBR และ BOA ได้เสร็จสิ้นในวันที่ 28 พฤศจิกายน 2548 โดย BOA ได้ทำการเพิ่มทุนอีก 16.7 พันล้านบาท ด้วยการทำ Rights Issue ซึ่ง UOB ได้ทำการใช้สิทธิซื้อหุ้น Rights Issue เกือบทั้งหมด เงินทุนใหม่ที่ได้ BOA ได้ใช้ไปในการซื้อ UOBR จาก UOB หลังจากการเพิ่มทุนได้เสร็จสิ้นลง สัดส่วนการถือหุ้นของ UOB ใน BOA เพิ่มขึ้นเล็กน้อยเป็น 98.5% ธนาคารได้ทำการเปลี่ยนชื่อเป็นธนาคารยูไนเต็ด โอเวอร์ซีส์ (ไทย) จำกัด (มหาชน) เพื่อให้ธนาคารมีชื่อที่สอดคล้องมากขึ้นกับบริษัทแม่ UOBT เป็นธนาคารพาณิชย์ที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 9 ในประเทศไทย โดยมีสินทรัพย์รวมทั้งหมด 206 พันล้านบาท และมีส่วนแบ่งสินเชื่อและเงินฝากประมาณ 3% การควบรวมกิจการน่าจะช่วยเสริมสร้างประโยชน์ร่วมกันในด้านต้นทุนและในด้านธุรกิจ ในขณะที่การสนับสนุนทางด้านการเงินและทางด้านการปฏิบัติงานอย่างแข็งแกร่งของ UOB น่าจะช่วยสนับสนุนสถานะทางการเงินของ UOBT ในระยะปานกลาง แม้ว่าข้อจำกัดในการถือหุ้นของต่างชาติอาจจะทำให้สัดส่วนการถือหุ้นของ UOB ใน UOBT ลดลงหลังจากปี 2551 UOB ก็ยังคงมีความยืดหยุ่นที่จะสามารถเพิ่มความแข็งแกร่งให้กับฐานเงินทุนของ UOBT ก่อนปี 2551 ให้อยู่ในระดับที่เพียงพอต่อการขยายธุรกิจในระยะยาว ซึ่งจะช่วยจำกัดการลดสัดส่วนการถือหุ้นใน UOBT ของ UOB ให้น้อยที่สุด เมื่อพิจารณาถึงชื่อเสียงและทรัพยากรของ UOB แล้ว ฟิทช์เชื่อว่ามีความเป็นไปได้สูงมากที่ UOBT จะได้รับการสนับสนุนจากผู้ถือหุ้นใหญ่อย่าง UOB ในกรณีที่มีความจำเป็น

ในปี 2547 ผลกำไรของ UOBT ถูกจำกัดด้วยอัตราการเติบโตของสินเชื่อที่น้อยและปัญหาหนี้ที่มีไม่ก่อให้เกิดรายได้ การดำเนินงานของธนาคารก็ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนผู้ถือหุ้นของธนาคาร UOBT ได้ตั้งสำรองหนี้สูญเพิ่มเติมเนื่องมาจากการทำการประเมินหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ใหม่ ซึ่งได้ส่งผลกระทบต่อผลกำไรของธนาคาร กำไรสุทธิได้ลดลงเป็น 761 ล้านบาท ในปี 2547 จาก 1.8 พันล้านบาท ในปี 2546 ในงวด 9 เดือนแรกของปี 2548 กำไรสุทธิเพิ่มขึ้นเป็น 854.2 ล้านบาท จาก 495 ล้านบาท ในงวดเดียวกันของปีก่อนหน้า โดยมีสาเหตุหลักมาจากต้นทุนการปล่อยสินเชื่อที่ลดลงและการตั้งสำรองหนี้สูญที่ต่ำลง อัตรากำไรส่วนต่างดอกเบี้ยสุทธิของธนาคารได้ปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่วิกฤตการณ์ทางการเงิน โดยอัตรากำไรส่วนต่างดอกเบี้ยสุทธิอยู่ที่ 2.8% ในงวด 9 เดือนแรกของปี 2548 เพิ่มขึ้นจากระดับต่ำที่ 0.9% ในปี 2542

ระดับหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ได้ลดลงสู่ระดับ 17 พันล้านบาท (14.4% ของสินเชื่อทั้งหมด) ณ สิ้นเดือนกันยายน 2548 จากระดับ 19.8 พันล้านบาท (16.7%) ณ สิ้นปี 2547 ระดับการกันสำรองหนี้สูญอยู่ที่ระดับ 12.1 พันล้านบาท ณ สิ้นเดือนกันยายน 2548 ลดลงจาก 14 พันล้านบาท ณ สิ้นปี 2547 โดยระดับการกันสำรองหนี้สูญดังกล่าวเท่ากับ 70.7% ของหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ทั้งหมดที่เหลืออยู่ จัดว่าเป็นระดับที่สมเหตุสมผลเมื่อเปรียบเทียบกับธนาคารไทยอื่น คุณภาพสินทรัพย์ที่ปรับตัวดีขึ้นและฐานเงินกองทุนที่แข็งแกร่งขึ้นส่งผลให้อัตราส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้หลังหักสำรองต่อส่วนของผู้ถือหุ้นได้ลดลงเป็น 31.3% ณ สิ้นเดือนกันยายน 2548 ฐานะเงินกองทุนของ UOBT จัดได้ว่าอยู่ในระดับที่แข็งแกร่ง โดยเงินกองทุนขั้นที่ 1 ของธนาคารอยู่ที่ 12.7% ของสินทรัพย์เสี่ยง (RWA) และเงินกองทุนทั้งหมดของธนาคารอยู่ที่ 15.2% ณ สิ้นเดือนกันยายน 2548

รายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อ

ชัยพัฒน์ ไพฑูรย์, Vincent Milton, กรุงเทพฯ +662 655 4762/4759

David Marshall, ฮ่องกง

+852 2263 9963

หมายเหตุ : การจัดอันดับเครดิตภายในประเทศ (National Ratings) ใช้วัดความน่าเชื่อถือของบริษัทในประเทศที่อันดับเครดิตของประเทศนั้นอยู่ในระดับต่ำกว่าอันดับเครดิตระดับเพื่อการลงทุน หรือมีอันดับเครดิตอยู่ในระดับต่ำแม้จะอยู่ในระดับเพื่อการลงทุน อันดับเครดิตของบริษัทที่ดีที่สุดของประเทศจะอยู่ที่ระดับ “AAA” และการจัดอันดับเครดิตอื่นในประเทศ จะเป็นการเปรียบเทียบความเสี่ยงกับบริษัทที่ดีที่สุดนี้เท่านั้น อันดับเครดิตภายในประเทศนั้นถูกออกแบบมาเพื่อนักลงทุนภายในประเทศในแต่ละประเทศนั้นๆ และมีสัญลักษณ์ที่กำหนดไว้ต่อท้ายจากอันดับเครดิตสำหรับแต่ละประเทศ เช่น “AAA(tha)” ในกรณีของประเทศไทย อันดับเครดิตภายในประเทศนั้นไม่สามารถนำไปใช้เปรียบเทียบระหว่างประเทศได้

คำจำกัดความของอันดับเครดิตและการใช้อันดับเครดิตดังกล่าวของ ฟิทช์ เรทติ้งส์ สามารถหาได้จาก www.fitchratings.com อันดับเครดิตที่ประกาศ หลักเกณฑ์และวิธีการจัดอันดับเครดิต ได้แสดงไว้ในเว็บไซต์ดังกล่าวตลอดเวลา หลักจรรยาบรรณ การรักษาข้อมูลภายใน ความขัดแย้งทางผลประโยชน์ที่อาจเกิดขึ้น แนวทางการเปิดเผยข้อมูลระหว่างบริษัทในเครือ กฏข้อบังคับรวมทั้งนโยบายและกระบวนการที่เกี่ยวข้องอื่นๆของฟิทช์ ได้แสดงไว้ในส่วน ‘หลักจรรยาบรรณ’ ในเว็บไซต์ดังกล่าวเช่นกัน--จบ--