ผลสำรวจเผยการสนับสนุนจากครอบครัวและการรักษาอย่างต่อเนื่องช่วยให้ผู้ป่วยทางจิตใช้ชีวิตตามปกติได้

02 Sep 2008

จิตแพทย์ทั่วโลกร่วมกันเผนแพร่วิธีรักษาผู้ป่วยทางจิตอย่างยั่งยืน

ผู้ป่วยทางจิตขั้นรุนแรง อาทิ โรคจิตเภท (schizophrenia), โรคก้ำกึ่งระหว่างจิตเภทกับอารมณ์แปรปรวน (schizoaffective) และโรคอารมณ์แปรปรวนสองขั้ว (bipolar disorder) สามารถใช้ชีวิตตามปกติได้ อย่างไรก็ตาม ผลสำรวจระดับนานาชาติของจิตแพทย์แสดงให้เห็นว่ามีหลายปัจจัยที่ขัดขวางไม่ให้ผู้ป่วยมีสุขภาพจิตที่ดีในระยะยาว อาทิ การถูกเหยียดหยามจากสังคม การถูกจำกัดอิสรภาพ และความหวาดกลัว ซึ่งทั้งหมดกดดันให้ผู้ป่วยกลับเข้าสู่สภาพเดิมในที่สุด

ผลการสำรวจครั้งนี้มาจากความคิดเห็นของจิตแพทย์กว่า 697 ท่านจากออสเตรเลีย แคนาดา ฝรั่งเศส เยอรมนี อิตาลี โปรตุเกส สเปน สหราชอาณาจักร และสหรัฐอเมริกา ซึ่งแสดงให้เห็นว่าปัจจัยต่างๆ ตั้งแต่คนในครอบครัวที่ทำหน้าที่ดูแลผู้ป่วย การกีดกันทางสังคม การขาดการรักษาอย่างต่อเนื่อง และการกำเริบของโรค ทั้งหมดต่างส่งผลกระทบต่อชีวิตผู้ป่วยทั้งสิ้น นอกจากนั้นจิตแพทย์จำนวนมากยังเห็นว่าการกำเริบของโรคเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำลายชีวิตของผู้ป่วยและครอบครัว เนื่องจากผู้ป่วยจะต้องเข้าโรงพยาบาล ถูกให้ออกจากงาน จนกระทั่งกลายเป็นคนเก็บตัวหรือแม้แต่ฆ่าตัวตายก็มี

ผลสำรวจนี้เป็นผลสำรวจลำดับที่ 2 ของโปรแกรม Keeping Care Complete โดยต่อยอดมาจากการสำรวจความคิดเห็นของผู้ดูแลผู้ป่วยโรคจิตเภท, โรคก้ำกึ่งระหว่างจิตเภทกับอารมณ์แปรปรวน และโรคอารมณ์แปรปรวนสองขั้ว กว่า 1,082 คนเมื่อปี พ.ศ.2549 ที่ผ่านมา

“ปัจจุบันมีผู้คนที่ต้องทนทุกข์ทรมานกับอาการป่วยทางจิตกว่า 50 ล้านคนทั่วโลก” เพรสตัน การิสัน เลขาธิการและซีอีโอของสหพันธ์สุขภาพจิตโลก (World Federation for Mental Health หรือ WFMH) กล่าว “นอกจากผลกระทบโดยตรงที่มีต่อผู้ป่วยแล้ว โรคทางจิตยังส่งผลกระทบทางอ้อมต่อสุขภาพกายและใจของคนในครอบครัวซึ่งเป็นผู้ดูแลผู้ป่วยด้วย ดังนั้นสมาชิกในครอบครัวจึงควรได้รับการสนับสนุนทั้งทางกายและใจเพื่อให้พวกเขาพร้อมที่จะดูแลผู้ป่วยอย่างดีที่สุด ทั้งนี้ โปรแกรม Keeping Care Complete ช่วยให้เราเข้าใจปัญหาที่แท้จริงที่ผู้ป่วยทางจิต ครอบครัว และคนรอบข้างต้องประสบ”

โปรแกรม Keeping Care Complete เกิดขึ้นจากความร่วมมือระหว่าง WFMH และบริษัท อีไล ลิลลี่ แอนด์ คอมพานี (Eli Lilly and Company)


ผลกระทบจากการกำเริบของโรค

การกำเริบของโรคเป็นสิ่งที่ผู้ดูแลผู้ป่วยและจิตแพทย์กังวลมากที่สุด เนื่องจากผู้ป่วยจะมีอาการกำเริบหลายต่อหลายครั้งในช่วงชีวิต โดยผู้ตอบแบบสอบถามกว่า 37% กล่าวว่าผู้ป่วยมีอาการกำเริบ 5 ครั้งขึ้นไปนับตั้งแต่ได้รับการวินิจฉัยโรค ซึ่งความจริงดังกล่าวทำให้ครอบครัวต้องเป็นห่วงผู้ป่วยเกือบตลอดเวลา


การกำเริบของโรคสามารถส่งผลกระทบอย่างใหญ่หลวงต่อทั้งผู้ป่วยและผู้ดูแล

-- 52% ของจิตแพทย์กล่าวว่ามีผู้ป่วยพยายามฆ่าตัวตายหลังอาการของโรคกำเริบ

-- สำหรับคนในครอบครัวซึ่งดูแลผู้ป่วย การที่ผู้ป่วยเกิดอาการกำเริบจะส่งผลกระทบต่อทั้งสุขภาพกายและใจ รวมถึงสถานภาพทางการเงิน และอาจทำให้ตกงาน ส่งผลให้ไม่สามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติในที่สุด


การพิจารณาเลือกวิธีการรักษาและการขาดการรักษาอย่างต่อเนื่อง

84% ของจิตแพทย์กล่าวว่า การขาดการรักษาอย่างต่อเนื่องเป็นสาเหตุอันดับหนึ่งที่ทำให้ผู้ป่วยโรคจิตเภทเกิดอาการกำเริบ และ 98% กล่าวว่าการขาดการรักษาอย่างต่อเนื่องหรือไม่ได้รับการรักษาเลยเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้การรักษาผู้ป่วยโรคอารมณ์แปรปรวนสองขั้วไม่ได้ผล นอกจากนั้นจิตแพทย์และผู้ดูแลผู้ป่วยยังเห็นพ้องต้องกันว่าการรักษาไม่ต่อเนื่องเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้การรักษาไม่ประสบผลสำเร็จและบ่อยครั้งก็เป็นสาเหตุที่ทำให้อาการของโรคกำเริบ

“ผลการศึกษาดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า จิตแพทย์เล็งเห็นว่าการขาดการรักษาอย่างต่อเนื่องเป็นปัญหาหลักของผู้ป่วย” ศจ.ไดเอเตอร์ เนเบอร์ ประธานแผนกจิตเวชและจิตบำบัด มหาวิทยาลัยฮัมบูร์ก เยอรมนี กล่าว “ผู้ป่วยแต่ละคนมีความแตกต่างกัน ดังนั้นจิตแพทย์ต้องรู้จักคนไข้ในความดูแลเป็นอย่างดี ตั้งแต่ทัศนคติต่อการรักษาไปจนถึงสถานะในสังคม เพื่อช่วยวางแผนการรักษาที่เหมาะสมสำหรับผู้ป่วยแต่ละคน อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยก็ยังต้องการการสนับสนุนจากครอบครัว การรักษาด้วยการพูดคุยกัน การควบคุมอาหาร การออกกำลังกาย รวมถึงตารางการใช้ชีวิตประจำวันที่เป็นระบบระเบียบ เพื่อให้ผู้ป่วยใช้ชีวิตประจำวันได้อย่างปกติที่สุด”


ผลกระทบจากการกีดกันทางสังคม

การที่ผู้ป่วยทางจิตถูกสังคมรังเกียจถือเป็นความเจ็บปวดอย่างยิ่งยวดและอาจทำให้เกิดผลลัพธ์ที่ร้ายแรงได้

-- 92% ของจิตแพทย์กล่าวว่า การที่สื่อสร้างภาพลักษณ์ที่ผิดๆ เกี่ยวกับผู้ป่วยทางจิต เป็นปัจจัยที่ก่อให้เกิดทัศนคติในแง่ลบและการกีดกันทางสังคม ซึ่งจะส่งผลต่อสุขภาพจิตและการรักษาผู้ป่วยในที่สุด

-- 87% ของจิตแพทย์ และ 82% ของผู้ดูแลผู้ป่วยเห็นว่าการกีดกันทางสังคมกดดันให้ผู้ป่วยใช้ชีวิตตามปกติได้ยากเย็นกว่าเดิม


วิถีทางในการใช้ชีวิตตามปกติ: การหาวิธีรักษา ผู้ดูแล และโปรแกรมการรักษาที่เหมาะสม

การหาวิธีรักษาที่เหมาะสมและทำการรักษาอย่างต่อเนื่องจะช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตประจำวันของผู้ป่วยอย่างเห็นได้ชัด โดยผลจากการสำรวจทั้งสองครั้งแสดงให้เห็นว่า ผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาจนประสบผลสำเร็จสามารถใช้ชีวิตประจำวันได้โดยลำพัง ไม่ต้องเข้าโรงพยาบาล มีงานทำเป็นหลักเป็นแหล่ง หาเลี้ยงตัวเองได้ และมีความรักได้

96% ของจิตแพทย์ และ 74% ของผู้ดูแลผู้ป่วยกล่าวว่า นอกจากการรักษาด้วยยาแล้ว การสนับสนุนของครอบครัวยังเป็นอีกปัจจัยที่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อผู้ป่วย นอกจากนั้นทั้งจิตแพทย์และผู้ดูแลผู้ป่วยยังเห็นด้วยว่าโปรแกรมการรักษาที่ออกแบบมาเพื่อรักษาผู้ป่วยแต่ละคนมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการช่วยให้ผู้ป่วยสามารถควบคุมอาการของโรคที่เป็นอยู่ อย่างไรก็ตาม ผลสำรวจแสดงให้เห็นว่าผู้ป่วยยังต้องรับการบริการด้านสุขภาพมากกว่าที่มีอยู่ในปัจจุบัน

แม้ว่าจิตแพทย์ส่วนมากจะสนับสนุนให้ผู้ดูแลผู้ป่วยเข้าร่วมในโปรแกรมสนับสนุนและให้ความรู้เกี่ยวกับโรค แต่ 57% ของจิตแพทย์รายงานว่ามีผู้ดูแลผู้ป่วยไม่ถึง 10% ที่เข้าร่วมโปรแกรมดังกล่าวอย่างจริงจัง นอกจากนั้นยังมีจิตแพทย์เพียง 19% ที่เห็นว่าปัจจุบันมีสถานฟื้นฟูมากพอต่อความต้องการของผู้ป่วย

ท่านที่สนใจสามารถดูรายละเอียดของผลการสำรวจ และข้อมูลเกี่ยวกับโรคจิตเภท, โรคก้ำกึ่งระหว่างจิตเภทกับอารมณ์แปรปรวน และโรคอารมณ์แปรปรวนสองขั้ว ได้ที่ www.wfmh.org


เกี่ยวกับโรคจิตเภท, โรคก้ำกึ่งระหว่างจิตเภทกับอารมณ์แปรปรวน และโรคอารมณ์แปรปรวนสองขั้ว

โรคจิตเภท (schizophrenia), โรคก้ำกึ่งระหว่างจิตเภทกับอารมณ์แปรปรวน (schizoaffective) และโรคอารมณ์แปรปรวนสองขั้ว (bipolar disorder) เป็นอาการป่วยทางจิตที่ซับซ้อนซึ่งสามารถเกิดขึ้นได้กับคนทุกเชื้อชาติ ศาสนา และวัฒนธรรม (1) โดยผู้ป่วยโรคอารมณ์แปรปรวนสองขั้ว หรือเดิมรู้จักกันในชื่อ manic-depression จะมีอารมณ์แปรปรวนอย่างรุนแรง เดี๋ยวคลุ้มคลั่งเดี๋ยวซึมเศร้า (2) ส่วนผู้ป่วยโรคจิตเภทจะมีอาการทางจิตหลายอย่าง ประกอบด้วยการเห็นภาพลวงตา (มีความเชื่อผิดๆ และไม่สามารถใช้เหตุผลอธิบายได้), การเห็นภาพหลอน (โดยมากมักมาในรูปแบบของเสียงและภาพที่ไม่มีอยู่จริง) และการทรุดในระยะยาวอย่างการมีปฏิกิริยาลดลงเรื่อยๆ การขาดความสนใจในสิ่งรอบตัว รวมถึงอาการซึมเศร้าอย่างความรู้สึกหดหู่สิ้นหวังและการคิดอยากฆ่าตัวตาย (3) ส่วนผู้ป่วยโรคก้ำกึ่งระหว่างจิตเภทกับอารมณ์แปรปรวนจะมีอาการร่วมกันระหว่างโรคจิตเภทกับโรคอารมณ์แปรปรวน ปัจจุบันทั่วโลกมีผู้ป่วยโรคอารมณ์แปรปรวนสองขั้วกว่า 27 ล้านคน และโรคจิตเภท 25 ล้านคน (4, 5) ส่วนจำนวนผู้ป่วยโรคก้ำกึ่งระหว่างจิตเภทกับอารมณ์แปรปรวนยังไม่เป็นที่แน่ชัด แต่คาดว่าในประชากร 1 พันคนน่าจะมีผู้ป่วยด้วยโรคดังกล่าวราว 2-5 คน นอกจากนั้นผู้ป่วยโรคจิตเภทกว่า 1 ใน 4 หรืออาจมากถึง 1 ใน 3 ก็มีอาการของโรคก้ำกึ่งระหว่างจิตเภทกับอารมณ์แปรปรวนด้วย (6)


เกี่ยวกับ WFMH

WFMH เป็นองค์กรสหวิทยาการระดับนานาชาติที่อุทิศตนให้กับการพัฒนาสุขภาพจิต ทั้งทางชีววิทยา การรักษา การให้การศึกษา และด้านสังคม นอกจากนั้นการทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาของสหประชาชาติยังทำให้ WFMH ได้รับโอกาสมากมายในการร่วมงานกับองค์กรด้านสุขภาพจิตระดับโลก, องค์การอนามัยโลก, ยูเนสโก, สำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ, คณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ, องค์กรแรงงานนานาชาติ และอื่นๆ อีกมากมาย ท่านที่ต้องการข้อมูลเพิ่มเติมสามารถดูได้ที่ www.wfmh.org


เกี่ยวกับ อีไล ลิลลี่ แอนด์ คอมพานี

ลิลลี่ ซึ่งเป็นบริษัทพัฒนานวัตกรรมชั้นนำของโลก กำลังพัฒนาผลิตภัณฑ์เภสัชภัณฑ์ใหม่ๆ ที่มีประสิทธิภาพสูงสุด ผ่านการทดลองของห้องแล็บของบริษัทซึ่งมีอยู่ทั่วโลก และผ่านการร่วมมือกับองค์กรทางวิทยาศาสตร์ที่มีชื่อเสียงระดับโลก เพื่อรองรับความต้องการด้านการรักษาอย่างรวดเร็วและทันท่วงที ทั้งนี้ บริษัทมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่เมืองอินเดียนาโพลิส รัฐอินเดียน่า ท่านที่ต้องการข้อมูลเพิ่มเติมสามารถดูได้ที่ www.lilly.com


(1) Schizophrenia: What You Need to Know. National Mental Health Association. Available at: http://www.nmha.org/infoctr/factsheets/51.cfm, accessed June 7, 2006.

(2) Bipolar Disorder National Institute of Mental Health. NIH Publication No. 02-3679; Printed 2001, Reprinted September 2002. Available at: http://www.nimh.nih.gov/publicat/bipolar.cfm, accessed June 7, 2006.

(3) Weiden P, Scheifler P, Diamond R, et al. Breakthroughs in Antipsychotic Medications. New York: W.W. Norton & Company, 1999.

(4) The World Health Report 2001: Mental Health - New Understanding, New

Hope. World Health Organization. Available at:
http://www.who.int/whr/2001/chapter3/en/index1.html, accessed January 6,
2006.

(5) The World Health Report 2003: Shaping the Future. World Health Organization, 2003. Available at http://www.who.int/whr/2003/en/whr03_en.pdf

(6) Schizoaffective Disorder. National Alliance on Mental Illness. Available at:
http://www.nami.org/Template.cfm?Section=By_Illness&template=/ContentManagement/ContentDisplay.cfm&ContentID=11837, accessed on June 7, 2006.

(โลโก้: http://www.newscom.com/cgi-bin/prnh/20080902/CLTU002LOGO )


แหล่งข่าว: อีไล ลิลลี่ แอนด์ คอมพานี


ติดต่อ: ชาร์ลส์ แม็คอาตี จาก อีไล ลิลลี่ แอนด์ คอมพานี

โทร: +1-317-277-1566 หรือ +1-317-997-1627


ภาพข่าว: http://www.newscom.com/cgi-bin/prnh/20080902/CLTU002LOGO

โต๊ะข่าวพีอาร์เอ็น: [email protected]



--เผยแพร่โดย เอเชียเน็ท ( www.asianetnews.net ) --