นร.กทม.สุดเจ๋ง คว้าเหรียญทองประกวดโครงงานวิทย์ระดับชาติ

18 Aug 2008

กรุงเทพฯ--18 ส.ค.--กทม.

ปลื้มนักเรียนกทม. กวาดรางวัลการประกวดโครงงานวิทย์จากเวทีระดับชาติ โดย “ที่ย่างไก่สลายควัน” ผลงานสุดเจ๋ง จากโรงเรียนสุเหร่าหะยีมินา คว้ารางวัลชนะเลิศเหรียญทอง โชว์ศักยภาพโรงเรียนกทม. เรียนฟรี เรียนดี อย่างมีคุณภาพ

สมาคมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีศึกษาไทย ร่วมกับ ทรู คอร์ปอเรชั่น จัดการประกวดโครงงานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ระดับประถมศึกษา ระดับชาติ ประจำปี 2551 ณ หอประชุมครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดย “ที่ย่างไก่สลายควัน” โครงงานประเภทสิ่งประดิษฐ์ ผลงานของนักเรียนโรงเรียนสุเหร่าหะยีมินา กทม. ได้รับรางวัลชนะเลิศเหรียญทอง โครงงานสิ่งประดิษฐ์ “เครื่องแกะเมล็ดข้าวโพดแห้ง พลังเศรษฐกิจพอเพียง” ผลงานของนักเรียนโรงเรียนวัดอุดมรังสี (ป ปีติวรรณอุปถัมภ์) กทม. ได้รับรางวัลรองชนะเลิศเหรียญเงิน และโครงงานสำรวจ “การศึกษาความหลากหลายของสิ่งมีชีวิตและสิ่งแวดล้อมโดยการทำแผนที่สีเขียว (Green map) จากโรงเรียนวัดแสมดำ กทม. ได้รับรางวัลชมเชยเหรียญทองแดง

ด.ช.คณิน สำลีขาว หนึ่งในคณะผู้จัดทำโครงงาน “ที่ย่างไก่สลายควัน” กล่าวว่า แรงบันดาลใจในการประดิษฐ์ผลงานชิ้นนี้ มาจากความที่เป็นคนชอบรับประทานไก่ย่าง แต่ทุกครั้งที่ย่างไก่มักจะเกิดควันมาก จึงคิดสร้างที่ย่างอาหารแบบแยกน้ำมันเพื่อลดการเกิดควัน โดยหามุมลาดเอียงที่เหมาะสมกับการไหลของน้ำมันในอาหาร คือ มุม 30 องศา และใช้ซี่ที่ย่างอาหารแบบถี่ เพื่อเพิ่มพื้นที่สัมผัสอาหารและลดการไหลของน้ำมันในอาหาร

นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวในพิธีปิดการประกวดฯ ว่า เป็นที่น่ายินดีที่ภาครัฐและเอกชนให้ความสำคัญในการพัฒนาศักยภาพของนักเรียนด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งถือเป็นการสร้างพื้นฐานการเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์ และส่งเสริมให้นักเรียนได้ใช้ทักษะและวิธีการทางวิทยาศาสตร์มาประยุกต์ใช้ในการแสวงหาความรู้ด้วยตนเอง พร้อมกล่าวแสดง ความชื่นชมนักเรียนจากโรงเรียนต่างๆ ที่ส่งผลงานเข้าร่วมประกวดในครั้งนี้ โดยกล่าวว่าการจัดทำโครงงาน ถือเป็นใบเบิกทางในการนำไปสู่การค้นหา ค้นคว้า และค้นพบ เพื่อสร้างสรรค์ผลงานทางด้านวิทยาศาสตร์ให้กับประเทศชาติต่อไป

การประกวดโครงงานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ระดับประถมศึกษา ระดับชาติ ประจำปี 2551 หรือ นักวิทย์น้อยทรู จัดขึ้นต่อเนื่องเป็นปีที่ 13 เพื่อให้นักเรียนระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 4-6 ได้รู้จักการนำกระบวนการทางวิทยาศาสตร์มาใช้ในการพัฒนาความรู้ความสามารถในการทำโครงงานวิทยาศาสตร์ และพัฒนาทักษะการวิเคราะห์ข้อมูล ความคิดสร้างสรรค์ และได้รับความรู้จากการศึกษาค้นคว้า โดยในปีนี้มีผู้ส่งผลงานเข้าประกวดทั้งสิ้น 345 โครงงาน จาก 200 โรงเรียน 56 จังหวัด และได้รับคัดเลือกเข้ารอบสุดท้ายจำนวน 15 โครงงาน แบ่งเป็น โครงงานสำรวจ 3 โครงงาน โครงงานทดลอง 5 โครงงาน และโครงงานสิ่งประดิษฐ์ 7 โครงงาน