ธนินท์ย้ำยกระดับราคาสินค้าเกษตร... วิธีเยียวยาเศรษฐกิจไทย

12 Dec 2008

กรุงเทพฯ--12 ธ.ค.--ซีพีเอฟ

นายธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานกรรมการและประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ กล่าวภายหลังเป็นประธานเปิดงาน “ครบรอบ 30 ปีหมู่บ้านเกษตรกรรมกำแพงเพชร” ว่าสินค้าเกษตรเป็นสมบัติของชาติ ราคาสูงเท่าไหร่เท่ากับเงินของชาติมีมากเท่านั้น พร้อมแนะรัฐบาลใหม่ควรแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจในปีหน้าด้วย 2 วิธีที่เห็นผลเร็วที่สุด หนึ่งคือการยกระดับราคาสินค้าเกษตร แล ะสองคือเน้นการท่องเที่ยวให้เข้าสู่ภาวะปกติโดยเร็ว

“ในปีหน้าอาจจะเหนื่อยหน่อยโดยเฉพาะสินค้าฟุ่มเฟือย คนไทยควรเตรียมตัวอย่าไปกลุ้มใจ แต่ควรหันมาพัฒนาเปลี่ยนแปลงและศึกษาว่า ที่ผ่านมาเรามีอะไรที่ทำผิด ต้องคิดว่าเรามีเวลา 1 ปีเต็มๆ ที่จะเตรียมพร้อม แต่ปลายปีจะดีขึ้นเพราะไทยโชคดีที่เป็นประเทศเกษตรกรรม มีสินค้าเกษตรที่เป็นน้ำมันบนดิน เช่น ยางพาราและข้าว ขอเพียงรัฐบาลใหม่มีความเข้าใจกลไกราคาสินค้าเกษตร ต้องแทรกแซงให้ราคาสินค้าเกษตรสูงขึ้น เพื่อให้เกษตรกรมีรายได้ และมีโอกาสจับจ่ายใช้สอย ธุรกิจต่างๆ ก็สามารถพึ่งพาตลาดภายในประเทศ รัฐเก็บภาษีได้มากขึ้น ส่วนในด้านท่องเที่ยว คนไทยต้องช่วยกันท่องเที่ยวภายในประเทศ ซื้อสินค้าของไทย เป็นอีกทางที่จะช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจชาติ” นายธนินท์กล่าวและว่า

ประเทศจีนจะเป็นตัวฉุดเศรษฐกิจของโลกในปีหน้าให้ฟื้นขึ้น เพราะจีนได้รับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจสหรัฐฯน้อยที่สุด และรัฐบาลจีนมีการบริหารอำนาจเบ็ดเสร็จ โดยสินค้าเกษตรของจีนยังมีราคาต่ำกว่าตลาดโลกอยู่ถึง 60% เพียงแค่รัฐบาลจีนขยับราคาสินค้าเกษตรของเขาขึ้นเท่านั้น เกษตรกรกว่า 900 ล้านคนของจีนก็จะมีรายได้ที่สูงขึ้น เมื่อมีการจับจ่ายใช้สอย ก็จะเกิดการหมุนเวียนเข้าไปในระบบ นำไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศจีนทันที

สำหรับเกษตรกรไทยนั้น นายธนินท์มองว่าเป็นเกษตรกรที่มีความสามารถทัดเทียมนานาประเทศ เพียงแต่ขาดความรู้และเทคโนโลยีที่ทันสมัย ขาดทุนทรัพย์ และขาดตลาดในการรองรับสินค้า ดังนั้น หากได้รับการสนับสนุนช่วยเหลือทั้งจากภาครัฐและภาคเอกชน เข้ามาแบกรับภาระความเสี่ยงในเรื่องดังกล่าว เกษตรกรไทยก็จะสามารถยืนหยัดพึ่งพาตัวเองได้อย่างเข้มแข็ง สร้างชุมชนที่แข็งแกร่ง มีความสามัคคี มีอาชีพที่มั่นคงมายาวนานนับ 30 ปี นอกจากนี้ยังสามารถส่งเสียบุตรหลานให้ได้รับการศึกษาในระดับสูงได้

แนวคิดดังกล่าว ได้รับการพิสูจน์แล้วใน โครงการหมู่บ้านเกษตรกรรมกำแพงเพชร ที่จัดตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2522 ในตำบลเทพนคร และตำบลคณฑี อำเภอเมือง จังหวัดกำแพงเพชร บนเนื้อที่ประมาณ 4,000 ไร่ โดยได้รับการสนับสนุนจาก 4 หน่วยงาน คือ ส่วนราชการอำเภอเมืองกำแพงเพชร ธนาคารกรุง เทพ จำกัด (มหาชน ) สาขากำแพงเพชร เครือเจริญโภคภัณฑ์ โดยบริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอฟ และราษฎรที่เข้าร่วมโครงการ มีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือราษฎรให้มีที่ดินทำกินเป็นของตนเอง และมีโอกาสประกอบอาชีพการเลี้ยงสัตว์ควบคู่กับการเพาะปลูก เพื่อให้มีรายได้เลี้ยงตัวและครอบครัว ด้วยการนำระบบการจัดการที่ครบวงจรมาใช้ในการดำเนินการ อันจะนำมาสู่การพัฒนาอาชีพของเกษตรกรอย่างมีประสิทธิภาพที่สุด

โดยเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการฯจะได้รับการจัดสรรที่ดิน เพื่อใช้เลี้ยงสัตว์และเพาะปลูก ประมาณ 25 ไร่ บ้านพักอาศัย 1 หลัง โดยเกษตรกรที่เลี้ยงสุกรพันธุ์จะได้รับโรงเรือน 1 หลัง พร้อมแม่พันธุ์สุกร 30 ตัว พ่อพันธุ์สุกร 2 ตัว สำหรับผลิตลูกสุกร ส่วนเกษตรกรที่เลี้ยงสุกรขุนจะได้รับโรงเรือน 1 หลัง สำหรับเลี้ยงลูกสุกรหย่านม 250 ตัว เพื่อผลิตสุกรขุนจำนวน ทั้งนี้มีเกษตรกรที่ทำการผลิตสุกรพันธุ์จำนวน 40 ครอบครัว และเกษตรกรที่ทำการผลิตสุกรขุน 24 ครอบครัว นอกจากนี้ยังได้รับอุปกรณ์การเลี้ยง อาหารสัตว์ ยาป้องกันรักษาโรค และบ่อปลา 1 บ่อ โดยทั้งหมดได้รับการสนับสนุนจากซีพีเอฟ

นอกจากนี้ซีพีเอฟ ยังทำหน้าที่ให้ความรู้ทางด้านเทคนิควิชาการสมัยใหม่ และถ่ายทอดเทคโนโลยีการเลี้ยงสัตว์อย่างถูกต้องตามหลักวิชาการให้แก่เกษตรกร รวมทั้งให้ความช่วยเหลือด้านการตลาด โดยผลผลิตที่เกษตรกรผลิตได้นั้น บริษัทจะเป็นผู้รับซื้อทั้งหมดในรูปแบบของผลตอบแทนการเลี้ยง ทำให้เกษตรกรไม่ต้องเสี่ยงต่อความไม่แน่นอนของการตลาด นอกจากนี้ยังสอนวิธีบริหารจัดการทางด้านบัญชี การเงิน และเป็นผู้ค้ำประกันเงินกู้ให้แก่เกษตรกรด้วย

เกษตรกรที่ได้รับการคัดเลือกแล้วจะถูกส่งไปฝึกงาน ด้านการเลี้ยงสุกรของบริษัทเป็นเวลาประมาณ 2 สัปดาห์ เมื่อเสร็จสิ้นการฝึกอบรมแล้วก็สามารถเข้ามาประกอบอาชีพในโครงการได้ทันที โดยต้องมีความขยันขันแข็ง ซื่อสัตย์ ตั้งใจจริงในการเรียนรู้ และต้องปฏิบัติตามหลักการจัดการฟาร์มที่เจ้าหน้าที่สัตวบาลได้กำหนดไว้ เพื่อให้มีประสิทธิภาพการผลิตสูงสุด และผลผลิตที่ได้มีคุณภาพตรงตามความต้องการของตลาด

จากเริ่มต้นโครงการ เกษตรกรมีรายได้เฉลี่ย 4,000-6,000 บาท/เดือน กระทั่งปัจจุบันเกษตรกรมีรายได้เฉลี่ยประมาณ 30,000-100,000 บาท/เดือน และยังมีอาชีพเสริมที่สร้างรายได้ดี อาทิ การเลี้ยงปลาดุก การปลูกผักกระเฉดน้ำ และการจำหน่ายมูลสุกรแห้ง ทำให้มีรายได้เสริมประมาณ 60,000-70,000 บาท/ปี ที่สำคัญยังสามารถส่งเสียบุตรหลานให้ได้รับการศึกษาที่ดี สามารถเรียนจบปริญญาตรีได้หลายราย และบางครอบครัวยังได้มอบอาชีพนี้ส่งต่อแก่รุ่นลูกหลาน จนเข้าสู่รุ่นที่ 3 ในปัจจุบัน เพื่อสืบสานอาชีพเลี้ยงสุกรให้พัฒนาก้าวหน้าต่อๆไป

ด้วยการดำเนินโครงการบนพื้นฐานของความมุ่งมั่นตลอดระยะเวลา 30 ปี ทำให้วันนี้เกษตรกรประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี มีที่ดินทำกินเป็นของตัวเอง ปรับเปลี่ยนจากที่ดินว่างเปล่าสร้างมูลค่าได้น้อย มาเป็นหมู่บ้านเกษตรกรรมที่มีรายได้สูง มีอาชีพที่มั่นคง โดยใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย และยังคงมุ่งมั่นพัฒนาการผลิตอย่างต่อเนื่อง สร้างชีวิตใหม่ให้กับเกษตรกรทั้ง 64 ครอบครัว จากราษฎรผู้ยากไร้ สู่ความกินดีอยู่ดีมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เกษตรกรในโครงการสามารถพึ่งพาตัวเองได้ และสร้างชุมชนที่แข็งแกร่ง มีความสามัคคี กระทั่งได้ชื่อว่า “หมู่บ้านสามัคคี เทคโนโลยีทันสมัย”

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อ

สำนักสื่อสารและประชาสัมพันธ์ CPF

โทร. 0-2625-7344-5, 0-2631-0641, 0-2638-2713

e-mail : [email protected]

สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net