เผยผลศึกษา Creative Economy สร้างมูลค่าให้เศรษฐกิจไทยล้านล้านบาท หวังรัฐ-เอกชนเร่งผลักดัน ชี้ปัญหาละเมิดลิขสิทธิ์ฉุดการเติบโต

ข่าวประชาสัมพันธ์ »

กรุงเทพฯ--27 ม.ค.--มาสเตอร์ มายด์ คอมมิวนิเคชั่นส์

ผลจากการศึกษาของสถาบันวิจัยนโยบายเศรษฐกิจการคลังและสถาบันคีนันแห่งเอเชีย ชี้ 9 อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ของประเทศสร้างมูลค่าให้กับเศรษฐกิจไทย 1 ล้านล้านบาท หรือประมาณร้อยละ 10 ของ GDP ประเทศ โดยคาดการณ์ว่าจะมีมูลค่าเพิ่มมากขึ้นอีกหากได้รับการสนับสนุนด้านห่วงโซ่มูลค่าและการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาให้เข้มแข็งขึ้น ฯพณฯ นายอลงกรณ์ พลบุตร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวในสัมมนา “อุตสาหกรรมสร้างสรรค์กับการพัฒนาเศรษฐกิจไทย” ซึ่งจัดขึ้นโดยสถาบันคีนันแห่งเอเชีย เมื่อวันที่ 27 มกราคม 2553 ว่า ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการบริหารนโยบายเศรษฐกิจสร้างสรรค์ รู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเห็นความสำคัญของนโยบายเศรษฐกิจสร้างสรรค์หรือ Creative Economy ของรัฐบาล และได้สนับสนุนให้สถาบันวิจัยนโยบายเศรษฐกิจการคลังและสถาบันคีนันแห่งเอเซีย ดำเนินโครงการศึกษามูลค่าทางเศรษฐกิจของอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ของไทย ทั้งนี้ จากการศึกษาของสถาบันวิจัยนโยบายเศรษฐกิจการคลัง พบว่า เมื่อเปรียบเทียบอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ของไทยกับต่างประเทศ จะพบว่า มูลค่าการส่งออกสินค้าเชิงสร้างสรรค์ของไทยสูงประมาณ 13 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และมีส่วนแบ่งตลาดโลกอยู่ที่ร้อยละ 5.1 เป็นรองเพียงประเทศในกลุ่ม OECD อินเดีย และจีน ขณะที่มูลค่าการส่งออกสินค้าเชิงสร้างสรรค์ของไทยเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง เฉลี่ยมากกว่าร้อยละ 5 ต่อปี ด้วยเหตุนี้ อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ของไทยจึงมีศักยภาพในการที่จะเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจของไทย ซึ่งที่ผ่านมา รัฐบาลได้จัดงานเปิดตัวโครงการ Creative Thailand อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2552 โดยมีเป้าหมายเพื่อให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ในภูมิภาคอาเซียน และเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจของอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ของประเทศ จากร้อยละ 12 ของ GDP เป็นร้อยละ 20 ของ GDP ภายในปี 2555 “ผมยังได้พยายามแสวงหาความร่วมมือจากองค์การระหว่างประเทศที่ไทยเป็นสมาชิก เช่น องค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก และอังค์ถัด ซึ่งจากการปรึกษาหารือกับผู้อำนวยการใหญ่ของทั้ง 2 องค์การในหลายโอกาส ล้วนแสดงความพร้อมและความกระตือรือร้นที่จะให้ความช่วยเหลือทางเทคนิคกับไทย โดยเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ผมได้เดินทางไปเจนีวา ได้พบหารือกับนาย James Pooley รองผู้อำนวยการใหญ่องค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก ด้านสิทธิบัตร และ นาย Trevor Clarke ผู้ช่วยผู้อำนวยการใหญ่ ด้านลิขสิทธิ์ ซึ่งดูแลรับผิดชอบ Creative Enterprises Division ของ WIPO ด้วย” นายอลงกรณ์กล่าว โดยได้ใช้โอกาสดังกล่าวหารือเรื่องบทบาทและความร่วมมือกับด้านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ โดยจะร่วมกันจัดสัมมนาระดับภูมิภาคที่ไทยในช่วงปลายปีนี้ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามผลักดันโครงการ Creative ASEAN ที่ได้เสนอไว้ในที่ประชุมระดับรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนเมื่อกลางปีที่แล้ว ทั้งนี้ ทางองค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลกได้แสดงความชื่นชมไทยอย่างมาก ที่มีความมุ่งมั่นในการนำนโยบายเศรษฐกิจสร้างสรรค์มาใช้ในการพัฒนาประเทศ มีแนวทางแก้ไขปัญหาที่ตรงประเด็น และเชื่อมโยงทรัพย์สินทางปัญญากับภาคธุรกิจและการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ เป็นแบบอย่างที่ดีสำหรับประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ นอกจากนี้ ในอนาคตอาจจะดึงให้ศูนย์การค้าระหว่างประเทศ หรือ International Trade Center (ITC) ซึ่งเป็นองค์กรลูกของอังค์ถัดที่เน้นภาคธุรกิจเข้ามามีส่วนร่วมด้วย “เราได้แสวงหาความร่วมมือกับภาคเอกชนทั้งในประเทศและต่างประเทศที่มีศักยภาพหรือเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมสร้างสรรค์สาขาต่างๆ เพื่อร่วมกันสร้างเครือข่าย และพัฒนาอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ไทย เช่น การประสานความร่วมมือกับสมาคมผู้ผลิตภาพยนตร์สหรัฐฯ (MPAA) Sony Pictures และ Time Warner เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมภาพยนตร์และแอนิเมชั่นไทย การร่วมมือกับกลุ่ม LVMH ผู้นำด้านสินค้าแฟชั่นระดับสูงส่งเสริมผ้าไหมไทย เป็นต้น ดังนั้น ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการบริหารนโยบายทรัพย์สินทางปัญญา ผมมั่นใจว่าการดำเนินตามนโยบายจะบรรลุผลสำเร็จได้ ก็ต่อเมื่อทุกภาคส่วนโดยเฉพาะอย่างยิ่งภาคเอกชน ซึ่งเป็นแกนหลักในการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ร่วมมือร่วมพลังกัน” รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์กล่าว ขณะที่นายนิตย์ พิบูลย์สงคราม ประธานกรรมการมูลนิธิสถาบันคีนันแห่งเอเซียและอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ระบุว่า จุดประสงค์ของการศึกษาเรื่อง “มูลค่าทางเศรษฐกิจของอุตสาหกรรมเชิงสร้างสรรค์ที่มีต่อเศรษฐกิจในภาพรวม” ครั้งนี้ก็เพื่อสร้างความตระหนักถึงความสำคัญของอุตสาหกรรมสร้างสรรค์และความจำเป็นในการคุ้มครองทรัพย์สินสร้างสรรค์ให้รัดกุมมากยิ่งขึ้น อีกทั้งรายงานนี้ยังได้ประเมินความเสียหายจากการละเมิดสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญา ทั้งในเชิงเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม ทั้งนี้ ผลการศึกษาดังกล่าวครอบคลุมอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ 9 อุตสาหกรรม ได้แก่ การพิมพ์และสื่อสิ่งพิมพ์ เทคโนโลยีสารสนเทศ เฟอร์นิเจอร์และเครื่องเรือนทำด้วยไม้ การผลิตยารักษาโรค อัญมณีและเครื่องประดับ ภาพยนตร์ โรงภาพยนตร์ วิทยุ โทรทัศน์ และสถาบันวิจัย นอกจากนี้ ยังมีอุตสาหกรรมอื่นๆ ที่สามารถจัดอยู่ในอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ แต่ไม่ได้ถูกรวมไว้ในการศึกษานี้ เนื่องจากความไม่พร้อมด้านข้อมูล และไม่สามารถเปรียบเทียบกับการศึกษาอื่นได้ เช่นของสิงคโปร์ จากการศึกษาพบว่า 9 อุตสาหกรรมสร้างสรรค์สร้างมูลค่าให้แก่เศรษฐกิจไทยประมาณหนึ่งล้านล้านบาท หรือ ร้อยละ 9.53 ของ GDP และการใช้จ่ายของอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ในกระบวนการผลิตสินค้าและบริการส่งผลให้เกิดการผลิตในอุตสาหกรรมอื่นๆ ด้วย ตัวอย่างเช่น การใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น 1 บาทในอุตสาหกรรมโรงภาพยนตร์ จะส่งผลให้ภาคอุตสาหกรรมอื่นสร้างผลผลิตและมูลค่าเพิ่มเท่ากับ 2.14 และ 1.50 บาท ในระบบเศรษฐกิจรวม ตามลำดับ นอกจากนี้ ภาคอุตสาหกรรมหลักทั้งหมด โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาคบริการ ยังมีการนำผลผลิตจากอุตสาหกรรมเชิงสร้างสรรค์มาใช้เป็นปัจจัยการผลิตด้วย รายงานยังชี้ให้เห็นว่า อุตสาหกรรมสร้างสรรค์มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจไทยเป็นอย่างยิ่ง แต่เมื่อเทียบกับประเทศที่นำมาศึกษาเปรียบเทียบอื่นๆ ยังพบว่าผลกระทบของตัวคูณทวีนั้นต่ำกว่าที่ควรจะเป็น ซึ่งชี้ให้เห็นว่าอุตสาหกรรมเชิงสร้างสรรค์ในประเทศไทยยังมีการพัฒนาห่วงโซ่มูลค่าของอุตสาหกรรมน้อยกว่าประเทศพัฒนาแล้ว เช่น สิงคโปร์ การเสริมสร้างห่วงโซ่อุตสาหกรรมสร้างสรรค์อย่างมีประสิทธิภาพจะช่วยเร่งการพัฒนา และในที่สุด จะเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจของอุตสาหกรรมเชิงสร้างสรรค์ในระบบเศรษฐกิจให้สูงขึ้น การศึกษาชี้ว่า ระบบการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาที่เข้มแข็งจะช่วยสนับสนุนการเติบโตของอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ การศึกษาได้ทำการประเมินผลกระทบของการละเมิดสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาใน 4 อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ พบว่ามีมูลค่าถึง 14 พันล้านบาท ทั้งนี้ไม่รวมผลกระทบทางอ้อมอีก 9 พันล้านบาทในอุตสาหกรรมอื่น การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาที่มีประสิทธิภาพจะช่วยสร้างรายได้ให้กับอุตสาหกรรมผลิตยา 6.6 พันล้านบาท ให้กับอุตสาหกรรมภาพยนตร์ 3.7 พันล้านบาท ให้กับอุตสาหกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศ 1.8 พันล้านบาท และให้กับอุตสาหกรรมดนตรี 1.7 พันล้านบาท ขณะที่การละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาและสินค้าปลอมแปลงส่งผลกระทบทางลบแก่แบรนด์และการลงทุนในอุตสาหกรรมภาพยนตร์ ดนตรี และการผลิตยา ทั้งกับบริษัทในและต่างประเทศ “การละเมิดสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาลดแรงจูงใจในการสร้างสรรค์และลงทุน” ผลการศึกษาระบุพร้อมทั้งเตือนว่า การละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาเป็นการสนับสนุนองค์กรอาชญากรรม และในเรื่องของยา การศึกษาอ้างถึงการสำรวจยาต้านเชื้อมาเลเรียในพื้นที่ ไทย-กัมพูชา พบยาปลอมถึง 38% ส่งผลให้การรักษาโรคล้มเหลวและอาจทำให้เกิดอาการดื้อยาได้ ซึ่งถือเป็นผลเสียที่ร้ายแรงอย่างยิ่งต่อสุขภาพและความปลอดภัยของผู้บริโภค อย่างไรก็ตาม ผลการศึกษาดังกล่าวยังได้ให้ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายสำหรับแต่ละอุตสาหกรรม และข้อเสนอแนะเชิงนโยบายโดยทั่วไป ดังนี้ การพัฒนาอุตสาหกรรมเชิงสร้างสรรค์ควรดำเนินการควบคู่กันไปกับการพัฒนาอุตสาหกรรมเชิงความรู้ เนื่องจากทั้งความรู้และความคิดสร้างสรรค์ต่างก็เป็นสิ่งที่มีความเกี่ยวพันกันอยู่ ควรมีการสนับสนุนจากหน่วยงานภาครัฐอย่างจริงจัง ในการสร้างความเข้มแข็งให้กับห่วงโซ่มูลค่าในด้านความคิดสร้างสรรค์ ปรับปรุงระบบทรัพย์สินทางปัญญา โดยเฉพาะขั้นตอนและกระบวนการจดสิทธิบัตรและการบังคับใช้สิทธิบัตรและลิขสิทธิ์ สร้างความเข้าใจที่ถูกต้องให้กับบุคคลทั่วไปว่าการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา เป็นรูปแบบหนึ่งของการขโมยและส่งผลทางลบต่อการพัฒนาเศรษฐกิจไทย ภาครัฐควรมีนโยบายดึงดูดผู้มีความสามารถด้านการสร้างสรรค์ให้มาทำงานในประเทศไทย และลดอุปสรรคให้ผู้เชี่ยวชาญเหล่านี้สามารถเข้ามาทำงานได้ง่ายขึ้น ลดความล่าช้าในการนำเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารโทรคมนาคมใหม่ๆ มาใช้ เช่น WiMax และ 3G ซึ่งมีความสำคัญมากกับอุตสาหกรรม IT และบันเทิง เกี่ยวกับสถาบันคีนันแห่งเอเซีย สถาบันคีนันฯ ให้บริการในการบริหารโครงการ ให้คำปรึกษา จัดการฝึกอบรม รวมถึงดำเนินการวิจัยให้แก่ ภาคธุรกิจ รัฐบาล และ กลุ่มองค์กรระหว่างประเทศ สถาบันคีนันฯ มีความเชี่ยวชาญด้านการส่งเสริมผู้ประกอบการ การพัฒนาเศรษฐกิจและภาคธุรกิจ นวัตกรรมการศึกษาและเยาวชน การสาธารณสุข การพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน และ ความรับผิดชอบต่อสังคมของภาคธุรกิจ ด้วยประสบการณ์ที่สั่งสมมาตลอดระยะเวลา 13 ปีในการสนับสนุนการพัฒนาอย่างยั่งยืนในภาคพื้นเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ ทำให้สถาบันคีนันฯ ได้รับความไว้วางใจให้ดำเนินการ และบริหารจัดการโครงการ รวมเป็นมูลค่ากว่า 35 ล้านเหรียญสหรัฐฯจากภาคธุรกิจ รัฐบาล และ กลุ่มองค์กรระหว่างประเทศ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม ติดต่อ: คุณณฐินี กุลพิจิตร ที่ปรึกษาการตลาดอาวุโส สถาบันคีนันแห่งเอเซีย โทร. 02-229-3131, ext. 305, email: [email protected] เผยแพร่ข่าวประชาสัมพันธ์โดย บริษัท มาสเตอร์ มายด์ คอมมิวนิเคชั่นส์ จำกัด คุณพิภพ ฆ้องวง (ท๊อป) โทร.02-248-7967-8 ext.118 หรือ 081-929-8864 email : [email protected]

ข่าวสถาบันวิจัยนโยบายเศรษฐกิจการคลัง+สถาบันคีนันแห่งเอเชียวันนี้

บสย. ผนึก สวค. ปั้น Credit Mediator ช่วย SMEs

บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เร่งยกระดับ ผู้เชี่ยวชาญ ศูนย์ที่ปรึกษาทางการเงิน SMEs ผนึก มูลนิธิสถาบันวิจัยนโยบายเศรษฐกิจการคลัง (สวค.) ปั้น Credit Mediator เพิ่มทางรอดผู้ประกอบการ SMEs นางดุสิดา ทัพวงษ์ รองผู้จัดการทั่วไปอาวุโส สายงานบริหารช่องทางและพัฒนาผู้ประกอบการ บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) หัวหน้าคณะทำงาน โครงการ Credit Mediator ร่วมกับ มูลนิธิสถาบันวิจัยนโยบายเศรษฐกิจการคลัง (สวค.) นำโดย ดร.อนันตโชค โอแสงธรรมนนท์ หัวหน้าโครงการ ดร.กวีพจน์ สัตตวัฒนานนท์

ศศินทร์ ร่วมกับ สวค. จัดโครงการอบรมเชิงปฏิบัติการ "Public – Private Partnership (PPP) for a Digital World" ระหว่างวันที่ 17 – 20 มีนาคม 2563

Sasin School of Management (สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจ ศศินทร์ แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย) ร่วมกับ สวค. (สถาบันวิจัยนโยบายเศรษฐกิจการคลัง) จัดอบรมหลักสูตรระยะสั้น ...

บีโอไอจับมือมูลนิธิสถาบันวิจัยนโยบายเศรษฐ... บีโอไอหนุนธุรกิจไทยลงทุนในกลุ่มประเทศตลาดใหม่ พร้อมเผยผลศึกษาลงทุน 5 ประเทศ — บีโอไอจับมือมูลนิธิสถาบันวิจัยนโยบายเศรษฐกิจการคลัง เผยผลศึกษาโอกาสและลู่ทาง...

นายสมชัย สัจจพงษ์ ปลัดกระทรวงการคลัง ประธ... ภาพข่าว: ปลัดกระทรวงการคลังเปิดการอบรมหลักสูตรนักบริหารยุทธศาสตร์ — นายสมชัย สัจจพงษ์ ปลัดกระทรวงการคลัง ประธานกรรมการบริหารมูลนิธิสถาบันวิจัยนโยบายเศรษฐก...

นายสมชัย สัจจพงษ์ ปลัดกระทรวงการคลัง เป็น... ปลัดกระทรวงการคลังปิดการอบรมหลักสูตร “นักบริหารระดับกลาง กระทรวงการคลัง” รุ่นที่ 3/2559 — นายสมชัย สัจจพงษ์ ปลัดกระทรวงการคลัง เป็นประธานปิดการอบรมหลักสูต...

นายกุลิศ สมบัติศิริ อธิบดีกรมศุลกากร เป็น... ภาพข่าว: การสัมมนาแนวทางการใช้ประโยชน์และการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงนโยบายของกรมศุลกากร — นายกุลิศ สมบัติศิริ อธิบดีกรมศุลกากร เป็นประธานเปิดการสัมมนาแนวทางการ...

คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง กำหนดจ... คณะเศรษฐศาสตร์ รามคำแหงจัดงานสัมมนา "ศักยภาพการแข่งขันภายใต้บริบทประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน" — คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง กำหนดจัดงาน "ศักยภาพการแข่งข...