ปภ. คาดการณ์เอลนีโญส่งผลให้ภัยแล้งในประเทศไทยมีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้น

05 Jan 2010

กรุงเทพฯ--5 ม.ค.--ปภ.

กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย คาดการณ์ปรากฏการณ์เอลนีโญส่งผลให้สถานการณ์ภัยแล้งในปี 2553 ของประเทศไทยมีแนวโน้มรุนแรงกว่าปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะพื้นที่นอกเขตชลประทาน ซึ่งมีระบบการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำไม่ดี อุณหภูมิเฉลี่ยมีแนวโน้มสูงกว่าปกติ ทำให้อากาศร้อนอบอ้าว และปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยต่ำกว่าปกติ ทั้งยังมีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดไฟป่าและหมอกควันในพื้นที่ป่าไม้

นายอนุชา โมกขะเวส อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เปิดเผยว่า ปรากฎการณ์เอลนีโญหรือปรากฏการณ์น้ำทะเลอุ่นขึ้นอย่างผิดปกติบริเวณตอนกลางและตะวันออกของมหาสมุทรแปซิฟิกเขตร้อน ทำให้ในช่วงเดือนพฤศจิกายนถึงเดือนธันวาคม 2552 ผิวน้ำทะเลตอนกลางและตะวันออกของมหาสมุทรแปซิฟิกเขตร้อนมีอุณหภูมิเพิ่มสูงขึ้นจากค่าปกติประมาณ 1-2 องศาเซลเซียส และลมตะวันตกที่พัดปกคลุมมหาสมุทรแปซิฟิกเขตร้อนมีกำลังแรงผิดปกติ ส่งผลให้ประเทศแถบมหาสมุทรแปซิฟิกตะวันตก ได้แก่ ออสเตรเลีย อินโดนีเซีย ไทย และฟิลิปปินส์มีฝนตกน้อยและเกิดความแห้งแล้ง สำหรับประเทศไทยได้รับผลกระทบจากปรากฏการณ์เอลนิโญกำลังอ่อนมาตั้งแต่เดือนกันยายน 2552 เป็นต้นมา ทำให้ปริมาณฝนที่ตกทั่วทุกภาคโดยเฉลี่ยต่ำกว่าปกติตั้งแต่ช่วงปลายฤดูฝนปี 2552 - ฤดูร้อน ปี 2553 และส่งผลให้อุณหภูมิโดยเฉลี่ยของประเทศช่วงเดือนธันวาคม 2552 – มิถุนายน 2553 สูงกว่าปกติทั่วทุกภาค ทำให้อากาศร้อนอบอ้าว รวมถึงสภาพอากาศแห้งแล้งยังเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดไฟป่าและหมอกควันในพื้นที่ป่าไม้ ส่วนสถานการณ์ภัยแล้งในปี 2553 มีแนวโน้มรุนแรงกว่าปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะพื้นที่นอกเขตชลประทานซึ่งมีระบบการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำไม่ดี พื้นที่ภาคตะวันออกฉียงเหนือ และภาคเหนือตอนบน

นายอนุชา กล่าวต่อไปว่า ปรากฏการณ์เอลนิโญ ส่งผลให้สถานการณ์ภัยแล้งในประเทศไทยปี 2553 รุนแรงกว่าปีที่ผ่านมา จึงขอให้ประชาชนเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์ภัยแล้ง โดยจัดเตรียมภาชนะกักเก็บน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้งใช้น้ำอย่างประหยัดและมีคุณค่า ส่วนเกษตรกรควรวางแผนปลูกพืชอายุสั้นใช้น้ำน้อย เพื่อให้มีน้ำเพียงพอในการทำการเกษตร และซ่อมแซมร่องน้ำ คูคลอง เพื่อลดการรั่วซึมของน้ำ รวมถึงให้ใช้วิธีไถกลบวัชพืชแทนการเผา หากจำเป็นต้องเผาตอซังข้าวหรือวัชพืช ควรจัดทำแนวกันไฟ เพื่อป้องกันไฟลุกลาม เนื่องสภาพอากาศแห้งแล้งจะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดไฟป่าได้ง่าย นอกจากนี้หมอกควันที่ปกคลุมหนาแน่น อาจทำให้เกิดโรคระบบทางเดินหายใจ ควรใช้ผ้าปิดจมูกทุกครั้งที่ออกนอกบ้าน

ส่วนการขับขี่รถในช่วงที่มีหมอกหนาแน่น ควรเปิดไฟต่ำหรือไฟตัดหมอกจะช่วยให้มองเห็นสภาพเส้นทางได้ชัดเจนยิ่งขึ้นไม่ขับรถเร็ว เว้นระยะห่างจากรถคันหน้าให้มากกว่าปกติ สุดท้ายนี้ หากประชาชนร่วมกันใช้น้ำอย่างประหยัดและมีคุณค่าจะช่วยลดความรุนแรงของสถานการณ์ภัยแล้งและการขาดแคลนน้ำอุปโภค บริโภค และการเกษตรได้ในระดับหนึ่ง