องค์การศุลกากรโลก (World Customs Organization: WCO)

01 Jul 2010

กรุงเทพฯ--1 ก.ค.--กลุ่มการประชาสัมพันธ์ สำนักงานปลัดกระทรวงการคลัง

องค์การศุลกากรโลก (World Customs Organization: WCO) ก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2493 ในชื่อ “คณะมนตรีความร่วมมือทางศุลกากร” (Customs Cooperation Council: CCC) จัดเป็นองค์การอิสระร่วมของกลุ่มรัฐบาลระหว่างประเทศ มีหน้าที่ในการเสริมสร้างและสนับสนุนการดำเนินงานและการบริหารงานของศุลกากรประเทศสมาชิกต่าง ๆ ให้มีประสิทธิภาพ มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่กรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยี่ยม ปัจจุบันมีประเทศที่เข้าเป็นสมาชิกรวม 176 ประเทศ โดยประเทศไทยได้เข้าเป็นสมาชิกองค์การศุลกากรโลก เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2515

หน้าที่หลักขององค์การศุลกากรโลก คือ พัฒนาและบริหารเครื่องมือเพื่อปรับปรุงพิธีการและระบบงานศุลกากรของประเทศสมาชิกให้ทันสมัยและสอดคล้องกัน รวมทั้งส่งเสริมให้มีความร่วมมือระหว่างศุลกากรประเทศต่าง ๆ และระหว่างศุลกากรกับภาคเอกชน และจัดให้มีการฝึกอบรมสำหรับภาคเอกชน

องค์การศุลกากรโลกมีกลไกการดำเนินงานในรูปคณะมนตรี คณะกรรมาธิการ และคณะกรรมการต่าง ๆ ได้แก่

(1) การประชุมคณะมนตรี (Council Session)

(2) คณะกรรมาธิการด้านนโยบาย (Policy Commission)

(3) คณะกรรมการด้านการเงิน (Finance Committee)

(4) คณะกรรมการด้านการป้องกันและปราบปราม (Enforcement Committee)

(5) คณะกรรมการเทคนิคถาวร (Permanent Technical Committee)

(6) คณะกรรมการระบบฮาร์โมไนซ์ (Harmonized System Committee)

(7) คณะกรรมการเทคนิคด้านกฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้า (Technical Committee on Rules of Origin)

(8) คณะกรรมการเทคนิคด้านการประเมินราคา (Technical Committee on Customs Valuation)

การรับมอบตำแหน่ง WCO Vice-Chair ภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก

ในระหว่างการประชุม WCO Council sessions ครั้งที่ 115/116 ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 24-26 มิถุนายน 2553 ณ ประเทศเบลเยี่ยม ศุลกากรเกาหลีในฐานะ Vice-Chair ภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ได้เชิญ นายสมชัย สัจจพงษ์ อธิบดีกรมศุลกากร ขึ้นรับมอบธงเพื่อเป็นสัญลักษณ์การรับมอบตำแหน่ง Vice-Chair ภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ต่อจากศุลกากรเกาหลี โดยมีประเทศไทยจะมีวาระการดำรงตำแหน่งดังกล่าว จำนวน 2 ปี (ตั้งแต่ปี 2553-2555) ในการนี้ อธิบดีกรมศุลกากรได้กล่าวขอบคุณประเทศสมาชิกภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกที่ได้เลือกให้ประเทศไทยดำรงตำแหน่งดังกล่าว พร้อมได้แสดงเจตจำนงที่จะปฏิบัติหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายอย่างเต็มที่ภายใต้การสนับสนุนของประเทศสมาชิกในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก และจะสืบทอดการปฏิบัติหน้าที่ Vice-Chair ต่อจากศุลกากรเกาหลี ซึ่งจะครบวาระการดำรงตำแหน่งในวันที่ 30 มิถุนายน 2553

ในฐานะ WCO Vice-Chair ของภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก จะมีบทบาท หน้าที่ และความรับผิดชอบต่อประเทศสมาชิก (33 ประเทศ) คือ

  • เป็นหลักในการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศสมาชิกในภูมิภาค รวมทั้งส่งเสริมประเทศสมาชิกให้มีส่วนร่วมในกิจกรรมของ WCO
  • แจ้งความต้องการของภูมิภาคเกี่ยวกับกิจกรรมของ WCO และนำความคิดเห็นของประเทศสมาชิกในภูมิภาค เสนอต่อที่ประชุม Policy Commission
  • เป็นตัวแทนของ WCO ในการประชุมระหว่างประเทศในภูมิภาค
  • เป็นเจ้าภาพการประชุมระดับภูมิภาค เพื่อสนับสนุนกิจกรรมของ WCO และหารือในเรื่องที่เป็นความสนใจของสมาชิกในภูมิภาคฯ
  • จัดทำสื่อสิ่งพิมพ์ รายงาน วารสาร กิจกรรมต่าง ๆ ของภูมิภาค รวมถึงการดูแลและปรับปรุง Website ของภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก
  • เป็นเจ้าภาพจัดการประชุม Regional Head of Customs Administrations Conference ครั้งที่ 14
  • เป็นผู้ประสานงานในการพัฒนา ปรับปรุงและประเมินผลและจัดพิมพ์แผนยุทธศาสตร์ของภูมิภาค (Regional Strategic Plan : RSG)

ประโยชน์ที่ได้รับ

1. ทำให้ศุลกากรไทยได้มีโอกาสมีส่วนร่วมในการกำหนดและผลักดันนโยบายที่สำคัญขององค์การศุลกากรโลก

2. ทำให้ศุลกากรไทยมีโอกาสร่วมพิจารณาและแสดงความคิดเห็นต่อแนวทางในการปฏิบัติที่สำคัญ ๆ ของภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ก่อนนำเข้าสู่การพิจารณาและลงมติของที่ประชุมประจำปี WCO Council Session เพื่อให้ประเทศสมาชิกนำมาถือปฏิบัติ

3. ช่วยส่งเสริมบทบาทของศุลกากรไทยในเวทีศุลกากรโลก

4. เป็นการแสดงความจริงใจต่อการมีส่วนร่วมในกิจกรรมของภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก และ WCO

5. เพิ่มระดับความสัมพันธ์กับประเทศสมาชิกในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกได้มากขึ้น

6. ช่วยในการพัฒนาบุคลากรของศุลกากรไทยให้ได้รับความรู้และประสบการณ์ในการทำงานระดับสากลเพิ่มขึ้น