ปภ.แนะเกษตรกรวางแผนเพาะปลูกพืชช่วงฤดูแล้ง

24 Feb 2011

กรุงเทพฯ--24 ก.พ.--ปภ.

กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแนะเกษตรกร โดยเฉพาะพื้นที่นอกเขตชลประทานวางแผนเพาะปลูกพืชในช่วงฤดูแล้งให้สอดคล้องกับสถานการณ์น้ำในพื้นที่ และแผนการจัดสรรน้ำของกระทรวงเกษตรฯ โดยปฏิบัติตามมาตรการด้านการจัดสรรน้ำและมาตรการด้านการผลิตอย่างเคร่งครัด เพื่อลดผลกระทบจากการขาดแคลนน้ำเพื่อการเกษตรในช่วงฤดูแล้ง

นายวิบูลย์ สงวนพงศ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เปิดเผยว่า จากการตรวจสอบสภาพอากาศกับกรมอุตุนิยมวิทยา พบว่า ช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์จะมีอากาศร้อนถึงร้อนจัด และปริมาณฝนตกน้อยลง ประกอบกับสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางมีปริมาณลดลงอย่างต่อเนื่อง เป็นเหตุให้หลายพื้นที่เริ่มประสบปัญหาขาดแคลนน้ำอุปโภค บริโภค และการเกษตร โดยเฉพาะพื้นที่นอกเขตชลประทานในพื้นที่ภาคตะวันออกฉียงเหนือ และภาคเหนือตอนบน ซึ่งอาจส่งผลให้พืชผลทางการเกษตรได้รับความเสียหายจากภาวะขาดแคลนน้ำได้ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจึงขอแนะเกษตรกร โดยเฉพาะพื้นที่นอกเขตชลประทานวางแผนเพาะปลูกพืชให้สอดคล้องกับแผนการเพาะปลูกพืชฤดูแล้ง และนโยบายการจัดสรรน้ำของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งมีแผนการเพาะปลูกพืชฤดูแล้ง ปี 2554 ทั่วประเทศรวมทั้งสิ้น 15.29 ล้านไร่ แยกเป็น ข้าวนาปรัง 12.60 ล้านไร่ (ในเขตชลประทาน 8.91 ล้านไร่ นอกเขตชลประทาน 3.69 ล้านไร่ )พืชไร่และผัก 2.69 ล้านไร่ (ในเขตชลประทาน 0.69 ล้านไร่ นอกเขตชลประทาน 2 ล้านไร่) รวมถึงเลือกปลูกพืชอายุสั้นที่ใช้น้ำน้อยและมีตลาดรองรับผลผลิต เช่น พืชตระกูลถั่ว ข้าวโพด ถั่วลิสง มันสำปะหลังแทนการทำนาปรัง และซ่อมแซมร่องน้ำ คูคลองเพื่อลดการรั่วซึมของน้ำ สำหรับการเตรียมพื้นที่เพื่อทำการเกษตรให้ใช้วิธีไถกลบแทนการเผาเพื่อป้องกันดินสูญเสียความชุ่มชื้น ตลอดจนจัดตั้งกลุ่มผู้ใช้น้ำ เพื่อจัดสรรการใช้น้ำในพื้นที่ให้ทั่วถึง และลดปัญหาการแย่งน้ำของเกษตรกรที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ต้นน้ำและท้ายน้ำ ท้ายนี้ หากเกษตรกรวางแผนการใช้น้ำให้เหมาะสมกับปริมาณต้นทุนในพื้นที่และนโยบายการจัดสรรน้ำของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จะช่วยลดผลกระทบจากภาวะขาดแคลนน้ำเพื่อการเกษตรช่วงฤดูร้อนนี้ได้ในระดับหนึ่ง