ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมทางอาญาให้มีประสิทธิภาพและความเป็นธรรม

ข่าวประชาสัมพันธ์ »

กรุงเทพฯ--21 เม.ย.--สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย

ทุกๆ ปี ศาลยุติธรรมจะต้องรับคดีเข้าสู่การระบบมากเกินกว่าที่จะสามารถพิจารณาให้เสร็จสิ้นลงได้ จึงมีคดีคั่งค้างในศาลและระบบยุติธรรมทางอาญาจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งที่กระบวนการยุติธรรมไทยใช้ทรัพยากรทั้งงบประมาณและบุคลากรมากกว่าประเทศอื่นๆ โดยเปรียบเทียบ ปัญหาดังกล่าวข้างต้นนอกจากจะก่อให้เกิดต้นทุนอย่างมหาศาลต่อระบบยุติธรรมของประเทศแล้วยังทำให้เกิดคำถามต่อระบบยุติธรรม เพราะกระบวนการยุติธรรมที่มีประสิทธิภาพต่ำ อาจไม่ทำให้เกิดความยุติธรรมอย่างแท้จริง สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) โดยการสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) จึงได้นำเสนอผลการวิจัยเรื่อง “ทางเลือกในการเพิ่มประสิทธิภาพในกระบวนการยุติธรรมทางอาญา” ภายใต้โครงการการวิเคราะห์กฎหมายและกระบวนการยุติธรรมทางอาญาด้วยเศรษฐศาสตร์เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา โดยมีผู้ทรงคุณวุฒิและผู้เกี่ยวข้องในกระบวนการยุติธรรมร่วมกันแสดงความคิดเห็นไว้อย่างน่าสนใจ ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ รองประธานทีดีอาร์ไอในฐานะหัวหน้าโครงการวิจัย นำเสนอผลการศึกษาโดยสรุปว่า ปัญหาดังกล่าวเกิดจากการออกแบบกฎกติกาต่างๆ ที่ทำให้เกิดแรงจูงใจที่ไม่เหมาะสมหลายประการ โดยเฉพาะการใช้กระบวนการทางอาญาเป็นหลักในการระงับข้อพิพาท ข้อเสนอแนะหลักในการลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพในกระบวนการยุติธรรม ได้แก่ หนึ่ง การยกเลิกโทษทางอาญาในกฎหมายบางฉบับ โดยเฉพาะในคดีเช็คและคดีหมิ่นประมาท สอง การสนับสนุนการไกล่เกลี่ยในคดีที่ยอมความกันได้ และสาม การใช้โทษปรับแทนการจำคุกในคดีอาญาที่ไม่ร้ายแรง โดยเฉพาะการนำโทษปรับตามรายได้ (day fines) มาใช้ ทั้งนี้ ลำพังแนวทางการปฏิรูปทั้ง 3 แนวทางจะช่วยลดต้นทุนในกระบวนการยุติธรรมได้รวมกันกว่าปีละ 2 พันล้านบาท โดยจะช่วยลดจำนวนคดีในกระบวนการยุติธรรม เพื่อให้ศาลและกระบวนการยุติธรรมมีทรัพยากรเพียงพอในการพิจารณาคดีอื่นๆ ที่สำคัญกว่าได้ นักวิชาการในสถาบันการศึกษาให้ความเห็นสอดคล้องไปในทิศทางเดียวกัน โดย ดร.ปกป้อง ศรีสนิท อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ชี้ว่า ต้นทุนในกระบวนการยุติธรรมเกิดขึ้นเนื่องจากข้อพิพาทบางอย่างนั้น ผู้เสียหายมีทางเลือกในการดำเนินคดีแพ่งหรือคดีอาญาก็ได้ เช่น คดีเช็ค และคดีหมิ่นประมาท ในประเทศไทยนั้น ต้นทุนในการดำเนินคดีอาญากับคดีแพ่งต่างกัน ผู้เสียหายส่วนใหญ่จึงเลือกดำเนินคดีอาญาเนื่องจากต้นทุนดำเนินการอิงกับงบประมาณของรัฐ ต่างจากคดีแพ่งที่ต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายเอง ผลของการกระทำนี้ทำให้รัฐต้องแบกรับภาระต้นทุนในการดำเนินคดีแทนเอกชน ทั้ง ๆ ที่รัฐควรจะเอาต้นทุนเหล่านี้ไปดำเนินคดีที่เป็นความสงบของสังคม เช่น คดีฆาตกรรม คดีทำร้ายร่างกาย คดียาเสพติด ฯลฯ มากกว่า ขณะที่ ดร.จุฑารัตน์ เอื้ออำนวย อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ผลการวิจัยนี้สอดคล้องกับกรอบแนวคิดของกระบวนการยุติธรรมทางเลือกของสหประชาชาติ โดยทางเลือกในการลงโทษที่น่าสนใจในงานศึกษานี้ คือ การทำงานบริการสังคมแทนการกักขังแทนค่าปรับซึ่งเป็นกลไกที่มีอยู่แล้ว หากจะนำมาใช้ควรเน้นประชาสัมพันธ์ให้มาก ส่วนการใช้โทษปรับตามรายได้อาจทำเป็นโครงการทดลองระยะสั้นก่อนเพื่อศึกษาอัตราโทษและการบังคับใช้ที่เหมาะสม นอกจากนี้ ดร.จุฬารัตน์ ยังเสนอแนะให้มีการใช้ข้อมูลที่ต้นทางโดยระบุว่า ข้อมูลคดีในงานศึกษานี้มาจากข้อมูลคดีอย่างเป็นทางการ แต่หากดูจากข้อมูลสถิติอาชญากรรมทั่วประเทศ ในรอบปี พ.ศ.2550 จะพบว่า ข้อมูลอาชญากรรมที่มีการรายงานอย่างเป็นทางการผ่านพนักงานสอบสวนมีเพียง 34.8% เท่านั้น ที่เหลืออีก 65.2% เป็นอาชญากรรมที่ไม่มีการรายงาน ซึ่งเราอาจเรียกว่า “ตัวเลขมืด” (dark figure) ที่มีต้นทุนอีกมหาศาล ส่วนความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้องในกระบวนการยุติธรรมนั้น นายสัก กอแสงเรือง นายกสภาทนายความ กล่าวว่า มุมมองที่ได้จากงานวิจัยทำให้เห็นภาพชัดเจน 2 ประการ คือ ประการแรก กฎหมายของไทยมีโทษทางอาญามากเกินไป และผลักภาระให้ประชาชน เช่น เรื่องทรัพย์สินทางปัญญา ความลับทางการค้า รวมถึงเรื่องวิดีทัศน์ ซึ่งไม่ควรเป็นคดีอาญา เพราะเป็นเรื่องของปัจเจกที่ต้องดูแลสิทธิประโยชน์ส่วนตน ประการที่สอง ระบบกล่าวหาที่ใช้ในกระบวนการยุติธรรมสร้างภาระให้แก่ผู้ต้องหาและจำเลยมากเกินไป รวมถึงการปล่อยตัวชั่วคราวชั้นสอบสวนที่เคร่งครัดมากในเรื่องหลักประกัน ทั้งที่รัฐธรรมนูญให้การปล่อยตัวชั่วคราวเป็นหลัก แต่กลับใช้การควบคุมตัวเป็นหลักปล่อยตัวชั่วคราวเป็นข้อยกเว้น ทั้งนี้ นายสัก เสนอเพิ่มเติมว่า การลดต้นทุนกระบวนการยุติธรรมเป็นวิธีที่ดี แต่ยังต้องมีการลงทุนเสริมอื่นๆ ด้วย เช่น ในชั้นพนักงานสอบสวน หากสามารถมีพนักงานสอบสวนที่มีคุณภาพ จะทำให้ได้สำนวนคุณภาพที่ต้นทาง ซึ่งจะส่งผลดีต่อกระบวนการทั้งหมดได้ ในส่วนของบุคลากรในกระบวนการยุติธรรมมีความเห็นเกี่ยวกับการนำโทษปรับมาใช้แทนจำคุกต่างๆ กันไป โดย นายสราวุธ เบญจกุล รองเลขาธิการศาลยุติธรรม เห็นว่า แม้การเพิ่มโทษปรับทางอาญา และการนำ “ค่าปรับตามรายได้” มาใช้จะสามารถทำได้ แต่การที่มีกฎหมายที่มีโทษทางอาญาจำนวนมาก แต่ไม่มีสภาพบังคับ จะทำให้กฎหมายขาดความศักดิ์สิทธิ์ ประชาชนไม่เกรงกลัว และไม่เคารพกฎหมาย นอกจากนี้ ปัญหาเกี่ยวกับการที่ประชาชนมักใช้กระบวนการยุติธรรมทางอาญา เป็นเพราะกระบวนการทางแพ่งไม่ได้ผลดีหรือมีประสิทธิภาพเท่ากระบวนการทางอาญา จึงต้องทำให้มาตรการทางแพ่งมีประสิทธิภาพและบังคับใช้ได้จริง ขณะที่ นายวุฒิชัย หรูจิตตวิวัฒน์ รองประธานศาลอุทธรณ์ภาค 1 ให้ความเห็นว่า หลักการทดแทนการใช้โทษจำคุกที่ยอมรับกันในปัจจุบันคือ กระบวนการยุติธรรมสมานฉันท์ ซึ่งมิใช่การใช้โทษปรับเพียงอย่างเดียว โทษจำคุกจะใช้เป็นมาตรการสุดท้ายเมื่อไม่สามารถใช้โทษอย่างอื่นได้แล้ว อย่างไรก็ตาม ปัญหาของประเทศไทย คือ ความไม่สมดุลของโทษปรับและโทษจำคุก เช่น ความผิดฐานบุกรุกมีโทษจำคุก 1 ปีแต่โทษปรับเพียง 2,000 บาท หากเปลี่ยนโทษปรับเป็นโทษกักขังแทนค่าปรับ คือ ศาลจึงถูกบีบบังคับให้ใช้โทษจำคุก นอกจากนี้ นายมาร์ค เจริญวงศ์ อัยการประจำสำนักงานพิเศษ ฝ่ายพัฒนากฎหมาย ยังเสนอความเห็นเกี่ยวกับการลดต้นทุนในกระบวนการยุติธรรมเพิ่มเติมว่า การที่พนักงานอัยการที่ต้องฟ้องคดีความผิดต่อส่วนตัวจำนวนมาก เป็นการนำบุคลากรในกระบวนการยุติธรรมมาใช้ดำเนินคดีให้เอกชน ในประเทศญี่ปุ่นนั้น หากอัยการพิจารณาพยานหลักฐานในคดีความผิดต่อส่วนตัวแล้ว ผู้เสียหายจะต้องจ้างทนายเพื่อฟ้องคดีเอง ซึ่งจะสามารถลดต้นทุนคดีประเภทดังกล่าวได้ สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net

ข่าวสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย+สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศวันนี้

คปภ. ผนึกกำลังจังหวัดปราจีนบุรี ภาคธุรกิจประกันภัย ทีดีอาร์ไอ จัดงาน "ปราจีน ยืนหนึ่งถนนปลอดภัย อุ่นใจด้วยการประกันภัย"

คปภ. ผนึกกำลังจังหวัดปราจีนบุรี ภาคธุรกิจประกันภัย ทีดีอาร์ไอ จัดงาน "ปราจีน ยืนหนึ่งถนนปลอดภัย อุ่นใจด้วยการประกันภัย" Kick off พื้นที่ต้นแบบความปลอดภัยทางถนน รณรงค์ พ.ร.บ. ปี 2568 พร้อมจัดเวทีเสวนาถอดรหัส ถนน 304 เสนอบังคับใช้ กม. ออกมาตรการลดเสี่ยง สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (สำนักงาน คปภ.) จังหวัดปราจีนบุรี ภาคธุรกิจประกันภัย และสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) จัดงาน "ปราจีน ยืนหนึ่ง ถนนปลอดภัย อุ่นใจด้วยการประกันภัย" ภายใต้

The Active Thai PBS จับมือ TDRI และภาคีฯ ... The Active Thai PBS จับมือ TDRI "ปั้นนักสื่อสารรุ่นใหม่" ร่วมสะท้อนแง่มุมด้านพลังงาน — The Active Thai PBS จับมือ TDRI และภาคีฯ ปั้นนักสื่อสารรุ่นใหม่ สะท...

Thai PBS World เปิดเวทีสาธารณะ 'AI และอนา... ไทยพีบีเอส จัดงาน Thai PBS World Forum เตรียมพร้อมรับมือความเปลี่ยนแปลงสื่อยุค AI — Thai PBS World เปิดเวทีสาธารณะ 'AI และอนาคตของห้องข่าว' เตรียมพร้อมรับ...

ดร.สมชัย จิตสุชน ผู้อำนวยการวิจัยด้านการพ... วางผังภาคกรุงเทพฯ และปริมณฑล — ดร.สมชัย จิตสุชน ผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึง สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) เป็นประธานในงาน ...