คุณภาพการศึกษาและครอบครัวไทยตัดโอกาส “เด็กจน”เรียนต่อมหา’ลัย

22 Aug 2011

กรุงเทพฯ--22 ส.ค.--ทีดีอาร์ไอ

นักวิชาการทีดีอาร์ไอ ระบุ คุณภาพการศึกษาไทยยังน่าห่วง แนะรัฐเร่งยกระดับคุณภาพการศึกษาทั้งระบบ ให้ความสำคัญกับปัจจัยระยะยาวและคุณภาพของครอบครัวที่ส่งผลต่อการพัฒนาขีดความสามารถทางวิชาการของเด็ก มากกว่านโยบายการช่วยเหลือระยะสั้น เช่นการขยายการให้เงินกู้ยืมเพื่อการศึกษาเพียงอย่างเดียว

ดร.ดิลกะลัทธพิพัฒน์ นักวิชาการ ประจำสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย เปิดเผยว่า ในช่วง 23 ปีที่ผ่านมา อัตราการเข้าเรียนต่อในระดับมัธยมปลายของเยาวชนไทยที่มีอายุระหว่าง 16-19 ปี มีแนวโน้มสูงขึ้นมากโดยเด็กที่มาจากครอบครัวยากจนที่สุด (พ่อแม่มีรายได้อยู่ในกลุ่ม 25%ต่ำสุดของครัวเรือนไทยหรือกลุ่มจนที่สุด)ในปี 2529 มีเพียงร้อยละ 7 ที่ได้เข้าเรียนต่อ และในปี 2552 สัดส่วนนี้เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 50 ในขณะเดียวกันเด็กที่มาจากครอบครัวฐานะดี(พ่อแม่มีรายได้อยู่ในกลุ่ม 25%สูงสุดของครัวเรือนไทย หรือกลุ่มรวยที่สุด) ก็มีสัดส่วนการเข้าเรียนต่อเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 45 เป็นร้อยละ 79 ช่องว่างในการเรียนต่อในระดับมัธยมปลายของเด็กสองกลุ่มนี้จึงลดลงจากร้อยละ 38 เหลือร้อยละ 29 ซึ่งแสดงถึงความเหลื่อมล้ำที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาจากอัตราการเรียนต่อในระดับอุดมศึกษากลับพบว่าความเหลื่อมล้ำนั้นเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด จากกลุ่มตัวอย่างซึ่งเป็นเยาวชนอายุระหว่าง 19-25 ปี พบว่าช่องว่างในการเรียนต่อระหว่างเด็กที่มาจากกลุ่มครอบครัวที่รวยที่สุด กับกลุ่มที่จนที่สุดเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 20 ในปี 2529 เป็นร้อยละ 38 ในปี 2552 หรือเกือบจะเท่าตัว และส่วนใหญ่เกิดขึ้นหลังจากปี 2539

หากดูจากหลักฐานที่มีอยู่ชัดเจนว่าเด็กที่เรียนต่อในระดับอุดมศึกษาส่วนใหญ่แล้วมาจากครอบครัวที่มีฐานะดีเราอาจสรุปได้ว่าการขาดแคลนทุนทรัพย์เป็นปัจจัยสำคัญเบื้องหลังความเหลื่อมล้ำในการเรียนต่อในระดับอุดมศึกษา ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจที่การแก้ปัญหาโดยภาครัฐที่ผ่านมาจึงเน้นที่การแก้ปัญหาความขาดแคลนทุนทรัพย์ของครัวเรือน ซึ่งเรียกว่าเป็นปัญหาปัจจัยระยะสั้น เช่นนโยบายเรียนฟรีในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน การอุดหนุนค่าเล่าเรียนในสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ และการขยายการให้เงินกู้ยืมเพื่อการศึกษาสำหรับนักเรียนในระดับมัธยมปลายขึ้นไป

อย่างไรก็ตาม แม้ว่านโยบายเรียนฟรี และเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษาจะช่วยลดความเหลื่อมล้ำในการเรียนต่อในระดับมัธยมปลาย แต่หลักฐานที่ผ่านมากลับชี้ชัดว่ามีเด็กยากจนจำนวนน้อยมากที่สามารถก้าวผ่านเข้าไปเรียนในระดับอุดมศึกษาได้ ดังนั้นการอุดหนุนค่าเล่าเรียนในสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ และการอุดหนุนอื่นๆจึงให้ประโยชน์กับเด็กจากครอบครัวที่มีฐานะดีมากกว่าเด็กยากจนอย่างปฏิเสธไม่ได้ จากการศึกษาถึงปัจจัยที่มีผลต่อการเข้าเรียนต่อในระดับอุดมศึกษา พบว่าปัญหาการขาดแคลนปัจจัยระยะยาวมีความสำคัญไม่น้อยไปกว่าการขาดแคลนปัจจัยระยะสั้น โดยปัจจัยระยะยาวหมายถึงทุกปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการเลี้ยงดู/การเติบโตของเด็ก ความสำคัญที่พ่อแม่ให้กับการศึกษาลักษณะครอบครัวที่อบอุ่น คุณภาพการศึกษาที่ได้รับตั้งแต่ระดับก่อนวัยเรียน ตลอดไปจนถึงคุณภาพการศึกษาขั้นพื้นฐานเป็นต้น ล้วนมีความสำคัญอย่างมากในการพัฒนาขีดความสามารถทางวิชาการของเด็ก และเป็นสิ่งที่กำหนดความพร้อมในการเรียนต่อในระดับอุดมศึกษาจากการประเมินแบบจำลองทางเศรษฐมิติในเบื้องต้นพบว่า หลังจากทำการปรับปัจจัยระยะยาวในกลุ่มตัวอย่างให้เสมอภาคกันแล้ว มีเด็กที่จบมัธยมปลายแต่ไม่สามารถเรียนต่อในระดับอุดมศึกษาเนื่องจากขาดแคลนทุนทรัพย์ไม่เกินร้อยละ 7.5 ของผู้จบมัธยมปลายทั้งหมด ซึ่งในแต่ละปีจะมีประมาณ 6 แสนคน ดังนั้นนโยบายช่วยเหลือด้านปัจจัยระยะสั้นจะช่วยให้เด็กตัดสินใจเรียนต่อเพิ่มขึ้นอย่างมากไม่เกิน 4.5 หมื่นคนต่อปี

ดร.ดิลกะ กล่าวว่า การจะลดความเหลื่อมล้ำของการเรียนต่อในระดับอุดมศึกษาในอนาคตให้ได้อย่างยั่งยืนนั้นจะต้องให้ความสำคัญกับปัจจัยระยะยาว ซึ่งภาครัฐสามารถทำได้ อาทิการสร้างศูนย์ดูแลเด็กเล็กในชุมชนยากจน และที่สำคัญที่สุดจะต้องแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำทางคุณภาพระหว่างโรงเรียนที่มีทรัพยากรน้อย ซึ่งส่วนใหญ่ให้บริการแก่เด็กยากจน กับโรงเรียนที่มีทรัพยากรมากซึ่งส่วนใหญ่ให้บริการแก่เด็กจากครอบครัวฐานะดี จากข้อมูลการทดสอบนักเรียนอายุระหว่าง 15-16 ปี โดยProgramme for International Student Assessment (PISA) ซึ่งทำการประเมินความสามารถทางวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และทักษะการอ่านของเด็กใน 65 ประเทศทั่วโลก ซึ่งมีประเทศไทยรวมอยู่ด้วย พบว่าทรัพยากรของโรงเรียน ฐานะของครอบครัว การศึกษาและหน้าที่การงานของพ่อแม่ (ปัจจัยระยะยาว) มีความสำคัญอย่างมากต่อความสามารถของเด็ก

การศึกษายังพบด้วยว่า ปัจจัยครอบครัวแตกแยกมีส่วนสำคัญต่อการลดโอกาสในการเข้าสู่อุดมศึกษาของเด็กจากครอบครัวยากจนลงไปอีก โดยพบว่า การที่เด็กไม่ได้อาศัยอยู่กับพ่อและแม่ หรือครอบครัวไม่อบอุ่น มีผลทำให้โอกาสเข้าสู่อุดมศึกษาของเด็กลดลงร้อยละ 9 ซึ่งมีนัยยะสำคัญทางสถิติ เด็กที่อยู่ในครอบครัวแตกแยกนั้นประมาณร้อยละ 39 มาจากครอบครัวในกลุ่มยากจนที่สุด ในขณะที่ร้อยละ 18 มาจากกลุ่มครอบครัวรวยที่สุด เหตุผลหลักคือการหย่าร้าง และการที่พ่อ และ/หรือแม่ ต้องออกไปทำงานที่จังหวัดอื่น

ปัญหาคุณภาพการศึกษาของเยาวชนไทยไม่ได้ถูกจำกัดอยู่ที่ระดับมัธยมเท่านั้น แต่ได้ขยับมาสู่ระดับอุดมศึกษาด้วย จากข้อมูลผลทดสอบ PISA สี่ครั้งในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา จะเห็นได้ว่าความสามารถของเด็กไทยโดยรวมอยู่ในระดับต่ำเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ และไม่ได้มีการพัฒนาที่ดีขึ้นเลยในทุกวิชา อย่างไรก็ตาม สถาบันอุดมศึกษาของรัฐ และเอกชนได้มีการเปิดหลักสูตรใหม่ๆเพื่อขยายที่นั่งในสถาบันอุดมศึกษาเป็นจำนวนมาก เพื่อรองรับความต้องการปริญญาบัตรของนักเรียน โดยขาดการคัดกรองด้านคุณภาพอย่างเพียงพอ ผลลัพธ์ก็คือการผลิตบัณฑิตคุณภาพต่ำ และ/หรือ ในสาขาที่ไม่ตรงกับความต้องการของตลาดออกมาเป็นจำนวนมาก ปรากฏการณ์นี้ได้สะท้อนออกมาในค่าจ้างแรงงานปริญญาตรีที่ตกต่ำมาโดยตลอดตั้งแต่ปี 2540 จนถึงปัจจุบัน ความแตกต่างของค่าจ้างในกลุ่มผู้ที่จบปริญญาตรีซึ่งสะท้อนความแตกต่างของคุณภาพบัณฑิต ก็เพิ่มขึ้นอย่างน่าตกใจ โดยความแตกต่างของค่าจ้างต่อชั่วโมงในกลุ่ม 10% บนสุด(รายได้สูง)กับกลุ่ม 10% ต่ำสุด(รายได้ต่ำ)มีช่วงห่างเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 229 ในปี 2529 เป็นร้อยละ 471 ในปี 2552

ดร.ดิลกะ กล่าวด้วยว่า ปัจจุบันประเทศไทยก้าวมาถึงจุดที่มีความสำเร็จในการขยายจำนวนปีการศึกษา แต่ที่ผ่านมามีหลักฐานชัดเจนว่าจำนวนปีการศึกษาที่เพิ่มขึ้นไม่สำคัญเท่าคุณภาพการศึกษาที่คนจนได้รับ ซึ่งเทียบกันไม่ได้กับเด็กที่มาจากครอบครัวที่มีความได้เปรียบทางสังคม(ร่ำรวย) เราควรจะทุ่มทรัพยากรลงไปพัฒนาคุณภาพเด็กตั้งแต่ก่อนวัยเรียน และการศึกษาขั้นพื้นฐานขึ้นมาจึงจะแก้ไขความเหลื่อมล้ำได้อย่างยั่งยืน หากจะมาทำในระดับอุดมศึกษาคงช้าเกินไปและน่าจะได้ผลน้อย อย่างไรก็ตามการเปิดโอกาสศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาของเด็กเป็นสิ่งที่ดี แต่ไม่ควรลดคุณภาพการศึกษาเพื่อช้อนเด็กคุณภาพต่ำเข้ามาเรียน ซึ่งท้ายที่สุดจะส่งผลเป็นลูกโซ่ต่อคุณภาพแรงงานของไทยในอนาคต.

เผยแพร่โดย ทีมสื่อสารสาธารณะ-ทีดีอาร์ไอ

โทร.0-2270-1350 ต่อ 113(ศศิธร)

e-mail : [email protected]