โรงเรียนทางเลือกกับนวัตกรรมการเรียนการสอน

ข่าวประชาสัมพันธ์ »

กรุงเทพฯ--24 ก.พ.--ทีดีอาร์ไอ

นายปกป้อง จันวิทย์ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ นายสุนทร ตันมันทอง นักวิจัย สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) เปิดเผยผลการศึกษาเรื่อง โรงเรียนทางเลือกกับนวัตกรรมการเรียนการสอน ซึ่งได้มีการนำเสนอในการประชุมวิชาการทีดีอาร์ไอ “ยกเครื่องการศึกษาไทย : สู่การศึกษาที่มีคุณภาพอย่างทั่วถึง” เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา โดยมีสาระสำคัญระบุว่า ขณะที่เด็กไทยใช้เวลาเรียนหนังสือมากขึ้นผลการสอบกลับแย่ลง จนก่อให้เกิดคำถามที่ว่า เกิดอะไรขึ้นกับการเรียนการสอนในห้องเรียนนั้น มีโรงเรียนกลุ่มหนึ่งในประเทศไทยที่มีวิธีการเรียนการสอนไม่เหมือนกับโรงเรียนทั่วไป แต่นักเรียนมีผลการเรียนที่น่าประทับใจ และที่สำคัญกว่านั้นก็คือ เด็กนักเรียนมีโอกาสได้เรียนรู้อย่างสมดุลและหลากหลายผ่านประสบการณ์จริง โรงเรียนกลุ่มนี้เรียกตัวเองว่า “โรงเรียนทางเลือก” (alternative school) โรงเรียนทางเลือกเป็นอย่างไร? โรงเรียนทางเลือกในประเทศไทยมีสถานภาพดังเช่นโรงเรียนทั่วไปที่จัดการศึกษาตั้งแต่ปฐมวัยจนถึงมัธยมปลายและอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงศึกษาธิการ แต่องค์ประกอบสำคัญอย่างหนึ่งที่ทำให้โรงเรียนทางเลือกแตกต่างจากโรงเรียนทั่วไปก็คือ นวัตกรรมการเรียนการสอน (Innovation) จากการศึกษากลุ่มตัวอย่างโรงเรียนทางเลือก 14 โรงเรียนของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) นวัตกรรมการเรียนการสอนของโรงเรียนทางเลือกประกอบไปด้วยฐานคิดและปรัชญา วิธีการเรียนการสอน และทรัพยากรสำคัญในการจัดการเรียนการสอนที่แตกต่างไปจากโรงเรียนทั่วไป นวัตกรรมการเรียนการสอนของโรงเรียนทางเลือกก่อรูปบนฐานคิดและปรัชญาการศึกษาสำนักต่างๆ เช่น มอนเตสซอริ (Montessori) วอลดอล์ฟ (Waldorf) ซัมเมอร์ฮิลล์ (Summer Hill) และแนวคิดศรีสัตยาไสบาบา เป็นต้น แต่ละปรัชญาการศึกษาเหล่านี้อาจมีจุดเน้นและเนื้อหากระบวนการแตกต่างกัน แต่จุดร่วมประการหนึ่งก็คือ ธรรมชาติของมนุษย์มีความหลากหลาย การศึกษาเรียนรู้จึงต้องมีความหลากหลายและยึดเอาผู้เรียนเป็นศูนย์กลางตามไปด้วย ความหลากหลายของการศึกษาดังกล่าวเปิดพื้นที่ให้โรงเรียนทางเลือกสามารถทดลองและผลิตวิธีการเรียนการสอนใหม่ๆ ได้ตลอดเวลา รูปธรรมของการนำปรัชญาการศึกษาดังกล่าวมาปรับใช้แตกต่างจากสาระและรูปแบบการเรียนการสอนที่คุ้นเคยในโรงเรียนทั่วไป จากกลุ่มตัวอย่างโรงเรียนทางเลือกที่ศึกษาพบว่า ในด้านสาระการเรียนรู้ โรงเรียนทางเลือกจัดสาระที่ไม่ยึดติดกับกลุ่มสาระวิชาหลัก 8 กลุ่ม เช่น คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ภาษาไทย เป็นต้น แต่พยายามบูรณาการสาระการเรียนรู้ต่างๆ เข้าด้วยกันและเน้นการประยุกต์ใช้กับชีวิตจริง ตัวอย่างหนึ่งของการจัดสาระการเรียนรู้ก็คือ เด็กนักเรียนชั้นมัธยมต้นเรียนฟิสิกส์จากการทำบ้านดินหรือเรียนรู้เรื่องค่า pH จากการผสมสีเพื่อวาดรูป ในด้านวิธีการเรียนการสอน โรงเรียนทางเลือกเน้นให้นักเรียนเรียนนอกสถานที่และทำงานร่วมกับเพื่อนมากที่สุด รองลงมาได้แก่ การบรรยายในห้องเรียนโดยนำวิชาต่างๆ แบบบูรณาการ การเรียนจากโครงงาน (project) และนักเรียนค้นคว้าด้วยตนเอง เมื่อประเมินผลนักเรียน โรงเรียนทางเลือกเน้นการประเมินพัฒนาการการเรียนรู้โดยครูเป็นหลัก รองลงมาได้แก่ การวัดผลจากโครงงานหรือชิ้นงานที่นักเรียนสนใจและการสอบอัตนัย โดยเน้นการสอบปรนัยน้อยที่สุด การจัดการเรียนการสอนในลักษณะพิเศษข้างต้นทำให้โรงเรียนทางเลือกจำเป็นต้องมีทรัพยากรพื้นฐานสำคัญมากกว่าโรงเรียนทั่วไปเพื่อให้การเรียนรู้ของนักเรียนเป็นไปตามปรัชญาการศึกษา จากกลุ่มตัวอย่างโรงเรียนทางเลือกที่ศึกษาพบว่า โรงเรียนทางเลือกมีห้องเรียนขนาดปานกลางถึงเล็กและใช้ครูจำนวนมากกว่าในการดูแลนักเรียน รวมทั้งเน้นครูที่มีวุฒิการศึกษาระดับสูงมากกว่าโรงเรียนทั่วไป (ดูภาพประกอบ) ที่มา: ทีดีอาร์ไอ ตัวอย่างการจัดสาระและกระบวนการเรียนรู้ในโรงเรียนทางเลือกแห่งหนึ่ง นั่นคือ โรงเรียนดรุณสิกขาลัย (โครงการ วมว.) ซึ่งจัดสอนเฉพาะชั้นมัธยมปลาย ภายใต้ปรัชญาการศึกษาบูรณาการแบบองค์รวม (holistic integration) นักเรียนที่นี่ไม่ได้เรียนในรูปแบบ 8 กลุ่มสาระวิชาหลักโดยตรง แต่บูรณาการไว้ใน 6 วิชาหลักได้แก่ วิวัฒนาการของระบบจักรวาลและระบบสุริยะ วิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิต โลกของเรา พลังงาน คมนาคมและการสื่อสาร และที่อยู่อาศัย วิธีการเรียนรู้วิชาดังกล่าวคือ การผูกโยงและความเข้าใจเกี่ยวเนื่องระหว่างศาสตร์ต่างๆ ผ่านการเล่าเรื่อง (story-based learning) และการลงมือทำ (learning by doing) ยกตัวอย่างเช่น ในภาคการศึกษาที่ 2/2552 การเรียนการสอนจะใช้ข้าวและเรือเป็นตัวดำเนินเรื่องหลักในผ่านเรื่องราวประวัติศาสตร์อินเดีย จีน และสุวรรณภูมิ โดยเริ่มต้นที่การปฏิวัติเกษตรกรรมคือ ปลูกข้าว และเชื่อมโยงต่อไปถึงการตั้งรกรากของมนุษย์ การชลประทาน การสร้างชาติรัฐ และการค้าขายผ่านเรือ นักเรียนจะเรียนผ่านการค้นคว้าด้วยตนเอง การค้นคว้าและตั้งคำถามกับผู้เชี่ยวชาญแขนงต่างๆ เช่น วิทยากรจากกองทัพเรือ รวมทั้งการลงแรงเกี่ยวข้าว การเลี้ยงผึ้ง และการปั้นโอ่งด้วยตนเอง ที่น่าสนใจก็คือ ผลการสอบ O-NET ของนักเรียนโรงเรียนทางเลือกที่ศึกษาจะพบว่า คะแนนเฉลี่ยของกลุ่มโรงเรียนทางเลือกสูงกว่าโรงเรียนรัฐและโรงเรียนเอกชน (ข้อมูลปี 2553) ยิ่งเปรียบเทียบกับโรงเรียนทางเลือกเช่น โรงเรียนอมาตยกุลที่ใช้วิธีการจับฉลากนักเรียนเข้ามาแทนการสอบเพื่อคัดเลือกเด็กเก่งเข้ามา คะแนนสอบยังสูงกว่าค่าเฉลี่ยของนักเรียนทั้งประเทศ แม้ว่าในด้านหนึ่ง วิธีการเรียนการสอนของโรงเรียนทางเลือกยังคงเป็นกระบวนการทดลองเพื่อปรับปรุงและพัฒนาวิธีการเรียนการสอนอยู่ตลอดเวลา แต่ในอีกด้านหนึ่ง โรงเรียนทางเลือกได้เปิดความคิดว่า การศึกษาอาจไม่ใช่กระบวนผลิตแบบง่ายๆ เพื่อให้ได้สินค้าที่มีลักษณะเหมือนกันจากโรงงาน ผลการสอบอาจช่วยบ่งชี้ว่า โรงเรียนทางเลือกก็สามารถสร้างการเรียนรู้ให้กับเด็กตามมาตรฐานกลางได้ แต่ผลลัพธ์ดังกล่าวไม่ใช่จุดมุ่งหมายหลักของการศึกษาในโรงเรียนทางเลือก โจทย์หนึ่งที่สำคัญในการปฏิรูปการศึกษาไทยก็คือ เราจะเพิ่มจำนวนนักเรียนที่ผ่านโรงเรียนทางเลือก เพิ่มการสร้างนวัตกรรมทางการศึกษา และขยายผลจากโรงเรียนทางเลือกไปสู่โรงเรียนทั่วได้อย่างไร?-กภ- สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net

ข่าวสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย+สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศวันนี้

คปภ. ผนึกกำลังจังหวัดปราจีนบุรี ภาคธุรกิจประกันภัย ทีดีอาร์ไอ จัดงาน "ปราจีน ยืนหนึ่งถนนปลอดภัย อุ่นใจด้วยการประกันภัย"

คปภ. ผนึกกำลังจังหวัดปราจีนบุรี ภาคธุรกิจประกันภัย ทีดีอาร์ไอ จัดงาน "ปราจีน ยืนหนึ่งถนนปลอดภัย อุ่นใจด้วยการประกันภัย" Kick off พื้นที่ต้นแบบความปลอดภัยทางถนน รณรงค์ พ.ร.บ. ปี 2568 พร้อมจัดเวทีเสวนาถอดรหัส ถนน 304 เสนอบังคับใช้ กม. ออกมาตรการลดเสี่ยง สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (สำนักงาน คปภ.) จังหวัดปราจีนบุรี ภาคธุรกิจประกันภัย และสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) จัดงาน "ปราจีน ยืนหนึ่ง ถนนปลอดภัย อุ่นใจด้วยการประกันภัย" ภายใต้

The Active Thai PBS จับมือ TDRI และภาคีฯ ... The Active Thai PBS จับมือ TDRI "ปั้นนักสื่อสารรุ่นใหม่" ร่วมสะท้อนแง่มุมด้านพลังงาน — The Active Thai PBS จับมือ TDRI และภาคีฯ ปั้นนักสื่อสารรุ่นใหม่ สะท...

Thai PBS World เปิดเวทีสาธารณะ 'AI และอนา... ไทยพีบีเอส จัดงาน Thai PBS World Forum เตรียมพร้อมรับมือความเปลี่ยนแปลงสื่อยุค AI — Thai PBS World เปิดเวทีสาธารณะ 'AI และอนาคตของห้องข่าว' เตรียมพร้อมรับ...

ดร.สมชัย จิตสุชน ผู้อำนวยการวิจัยด้านการพ... วางผังภาคกรุงเทพฯ และปริมณฑล — ดร.สมชัย จิตสุชน ผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึง สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) เป็นประธานในงาน ...