ผลการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสกระทรวงการคลังและธนาคารกลางอาเซียน+3

08 Dec 2011

กรุงเทพฯ--8 ธ.ค.--สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง

ผลการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสกระทรวงการคลังและธนาคารกลางอาเซียน+3 [ASEAN+3 Finance and Central Bank Deputies’ Meeting (AFDM+3)] ณ เมืองเซนได ประเทศญี่ปุ่น

นายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ปลัดกระทรวงการคลัง ได้เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทยเข้าร่วมการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสกระทรวงการคลังและธนาคารกลางอาเซียน+3 (ASEAN+3 Finance and Central Bank Deputies’ Meeting : AFDM+3) ณ เมืองเซนได ประเทศญี่ปุ่น ระหว่างวันที่ 1-2 ธันวาคม 2554 ซึ่งมีนาย Mahendra Siregar ปลัดกระทรวงการคลังอินโดนีเซีย และนาย Takehiko Nakao ปลัดกระทรวงการคลังญี่ปุ่นเป็นประธานร่วม และมีผู้เข้าร่วมการประชุมฯ ประกอบด้วยผู้บริหารระดับสูงจากกระทรวงการคลังและธนาคารกลางของประเทศสมาชิกอาเซียน+3 (สาธารณรัฐประชาชนจีน ญี่ปุ่น และสาธารณรัฐเกาหลี) เพื่อพิจารณาการดำเนินงานมาตรการริเริ่มต่างๆ ภายใต้กรอบการประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังอาเซียน+3 ซึ่งมีประเด็นหลักสรุปได้ ดังนี้

1. ที่ประชุมได้รับทราบความคืบหน้าการดำเนินงานของสำนักงานวิจัยเศรษฐกิจมหภาคของภูมิภาคอาเซียน+3 หรือ ASEAN+3 Macroeconomic Research Office (AMRO) ซึ่งจัดตั้งที่ประเทศสิงคโปร์ เพื่อทำหน้าที่วิเคราะห์และติดตามภาวการณ์ทางเศรษฐกิจของประเทศสมาชิกและของภูมิภาค และสนับสนุนการดำเนินมาตรการริเริ่มเชียงใหม่ไปสู่การเป็นพหุภาคี (Chiang Mai Initiative Multilateralisation: CMIM) โดยในการประชุมครั้งนี้ ที่ประชุมได้ให้ความเห็นชอบการเพิ่มจำนวนบุคลากรของ AMRO เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานด้านระวังภัยทางเศรษฐกิจของ AMRO และได้อนุมัติงบประมาณการดำเนินงานในปี 2555 รวมทั้ง ได้เร่งรัดให้มีการยกระดับ AMRO ให้มีสถานะเป็นองค์กรระหว่างประเทศโดยเร็ว

2. ที่ประชุมสนับสนุนแนวคิดการจัดตั้งกลไกการให้ความช่วยเหลือประเทศสมาชิกในลักษณะที่เป็นการป้องกันไม่ให้เกิดวิกฤตเศรษฐกิจ (Crisis-prevention Function) นอกเหนือจากหน้าที่เดิมในการช่วยเหลือประเทศสมาชิกกรณีเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ (Crisis Resolution Mechanism) ภายใต้ CMIM และเห็นว่า กลไกใหม่ที่จะจัดตั้งขึ้นนี้จะต้องมี Value Added เพิ่มเติมจากกลไกในลักษณะเดียวกันที่มีอยู่แล้วของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (International Monetary Fund: IMF) และเงื่อนไขในการให้ความช่วยเหลือจะต้องมีความยืดหยุ่นและเหมาะสม เพื่อให้ประเทศสมาชิกทั้ง 13 ประเทศสามารถเข้าถึงได้ โดยได้มอบหมายให้คณะทำงาน CMIM พิจารณารายละเอียดของกลไกดังกล่าว พร้อมทั้งพิจารณาแนวทางการปรับปรุง CMIM โดยรวมให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น และให้นำเสนอที่ประชุม AFDM+3 พิจารณาในการประชุมครั้งต่อไป

3. ที่ประชุมได้เห็นชอบให้มีการทบทวน ABMI Roadmap ที่จัดทำขึ้นเมื่อปี 2551 ให้มีความเหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบันมากยิ่งขึ้น โดยจะเร่งรัดการดำเนินงานที่มีอยู่ในแผนงานปัจจุบัน ปรับปรุงรายละเอียดของมาตรการริเริ่ม (Initiative) ต่างๆ ให้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น และเพิ่มเติมมาตรการริเริ่มใหม่ๆ เช่น การสนับสนุนการออกตราสารหนี้ของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม และการพัฒนาสินเชื่อผู้บริโภคโดยการแปลงสินทรัพย์เป็นหลักทรัพย์ เป็นต้น สำหรับประเด็นความร่วมมือด้านตลาดทุนของอาเซียน+3 ที่ประชุมได้เห็นชอบให้ดำเนินการแบบค่อยเป็นค่อยไป (Gradual Approach)

4. นอกจากนี้ ที่ประชุมฯ ยังได้หารือเกี่ยวกับสถานการณ์เศรษฐกิจในภูมิภาคและเศรษฐกิจของประเทศสมาชิกจาก AMRO ธนาคารพัฒนาเอเชีย (Asian Development Bank) และ IMF ซึ่งมีประเด็นความท้าทายที่สำคัญ อาทิ แนวโน้มการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนและภูมิภาคอาเซียนจากการส่งออกที่ลดลง เป็นผลมาจากกำลังซื้อในยุโรปและสหรัฐฯ ลดลง ความเสี่ยงของสาธารณรัฐเกาหลีซึ่งเป็นผลจากวิกฤตหนี้สาธารณะในยุโรปที่เกิดจากการเชื่อมโยงของภาคการเงินที่ใกล้ชิดกัน และความเสี่ยงของเศรษฐกิจญี่ปุ่นจากค่าเงินที่แข็งค่า และปัญหาห่วงโซ่อุปทานระยะสั้นจากมหาอุทกภัยในประเทศไทยที่มีผลกระทบต่อการผลิตของอุตสาหกรรมญี่ปุ่น เป็นต้น โดยในโอกาสนี้ ปลัดกระทรวงการคลังได้ขอบคุณประเทศสมาชิกอาเซียน+3 ทั้งภาครัฐและเอกชน สำหรับความช่วยเหลือที่ให้แก่ไทยในช่วงอุทกภัยที่ผ่านมาด้วย

5. การประชุม AFDM+3 ครั้งต่อไปมีกำหนดจะจัดขึ้นในวันที่ 30-31 มีนาคม 2555 ณ กรุงพนมเปญประเทศกัมพูชา โดยมีกัมพูชาและสาธารณรัฐเกาหลีทำหน้าที่เป็นประธานร่วมการประชุม

สำนักการเงินการคลังอาเซียน สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง

โทร 02-2739020 ต่อ 3618